ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ขอต้อนรับเข้าสู่ห้องเรียน ภาษาชนเผ่าอามิส โรงเรียนชุมชน TAMORAK และห้องเรียนริมแม่น้ำ Pinanaman
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-10-10

เด็ก ๆ เรียนรู้ภาษาแม่ในชีวิตประจำวัน และมีความเข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง จึงจะมีความเชื่อมั่นในการก้าวเข้าสู่สังคม

เด็ก ๆ เรียนรู้ภาษาแม่ในชีวิตประจำวัน และมีความเข้าใจวัฒนธรรมของตนเอง จึงจะมีความเชื่อมั่นในการก้าวเข้าสู่สังคม
 

ในอดีต บนเกาะไต้หวันเคยมีกลุ่มชาติพันธุ์ พูดจาสื่อสารต่างภาษา กาลเวลาผ่านไป คนเหล่านี้ไม่ว่ามาจากไหน ต้องเรียนตำราเล่มเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ทำให้สีสันในสังคมขาดหายไป แต่ยังโชคดีที่มีผู้ตระหนักว่าภาษาถิ่นที่กำลังจะสูญหาย ส่งผลให้การสืบทอดวัฒนธรรมขาดตอน จึงส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ภาษาแม่เพื่อจะได้เข้าใจพื้นเพของตนเองและเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้

 

ati wawa kayaten ko kamay
(เด็ก ๆ มาที่นี่เถิด ประสานมือกัน)
kimolmol kita kayaten ko kamay
(ล้อมเป็นวงกลม ประสานมือกัน)
taliyok sakero kita mapolong
(เต้นรำกัน หมุนเป็นวงกลม)

 

เสียงเพลงจังหวะเร้าใจดังขึ้นมา เด็กบางคนลงมาจากต้นไม้ บางคนโดดลงจากชิงช้า พากันกระโดดโลดเต้นล้อมรอบคุณครู จับมือประสานกัน ร้องเพลงชนเผ่าอามิสเสียงกึกก้องกลมกลืนกับธรรมชาติ นี่คือโรงเรียนชุมชน Tamorak ซึ่งตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน Makotaay (港口) ตำบลโฟงปิน (豐濱鄉) เมืองฮัวเหลียน
 

Nakaw (ที่ 2 จากขวา) พูดภาษาชนเผ่ากับลูกสาวทั้ง 3 ของตนเอง เพื่อจุดประกายการเรียนภาษาวิธีใหม่ให้กับชุมชน

Nakaw (ที่ 2 จากขวา) พูดภาษาชนเผ่ากับลูกสาวทั้ง 3 ของตนเอง เพื่อจุดประกายการเรียนภาษาวิธีใหม่ให้กับชุมชน
 

ภาษาแม่ไม่ใช่วิชาเรียน แต่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน

เมื่อมาถึงโรงเรียนชุมชน Tamorak จะต้องเปลี่ยนโหมดภาษาโดยฉับพลัน ที่นี่ใช้ภาษาอามิสเป็นภาษาหลัก ผู้ที่มาเยือนจะถูกสะกิดเตือนว่า อย่าพูดภาษาจีน

ที่นี่ ภาษาแม่คือส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน คุณครูในโรงเรียนอนุบาลใช้ภาษาแม่ในการสอนเด็กทำไหมพรม วาดภาพสีน้ำ ขณะที่ถอนหญ้า ขุดดิน รดน้ำ ปลูกต้นไม้จะมีเสียงเพลงปลูกผักภาษาอามิส ที่คุณครูในโรงเรียนแต่งขึ้นเองร้องคลอไปด้วย

เด็ก ๆ กินอาหาร วิ่งเล่น แม้แต่ทะเลาะกันก็ใช้ภาษาแม่ตลอดเวลา ตลอดทั้งวันอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นภาษาอามิส “เด็กอนุบาลเข้ามาที่นี่ อย่างเร็ว 2 เดือน อย่างช้า 4 เดือนก็สามารถฟัง พูด ร้องเพลงได้” คุณหลินสูเจ้า (林淑照) ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกล่าว

 

คุณแม่ก็คือคุณครูที่ดีที่สุด

คุณหลินสูเจ้าเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนชุมชนที่ใช้ภาษาอามิสเป็นภาษาหลักแห่งแรกในไต้หวัน ในความเป็นจริงเธอเป็นชาวฮั่น (คนจีน) เป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการถ่ายทำสารคดี ซึ่งในปี ค.ศ.1998 ได้รับการเชิญชวนจากเพื่อนให้มาที่หมู่บ้าน Makotaay เพื่อถ่ายทำสารคดีเรื่องราวของหัวหน้าหมู่บ้านวัย 90 ปี ในตอนนั้นเธอพูดภาษาอามิสไม่ได้เลย แต่ได้ติดตามหัวหน้าหมู่บ้านไปในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งขึ้นภูเขาและลงทะเล คุณหลินพยายามเรียนรู้ภาษาอามิส พยายามจดคำศัพท์ หากไม่เข้าใจก็จะถามเพื่อน กล่าวได้ว่าหัวหน้าหมู่บ้านเป็นอาจารย์สอนภาษาอามิสคนแรกของเธอ

คุณหลินมีความกระหายต้องการเรียนรู้เรื่องราวของผืนแผ่นดินนี้ เธอจึงอาศัยอยู่ที่นี่และมีชื่อในภาษาอามิสว่า Nakaw เธออยู่ที่หมู่บ้านนี้ 20 กว่าปีแล้วและมีสามีเป็นชาวอามิส กลายเป็นสะใภ้ชนเผ่าอามิสและก็เป็นคุณแม่คนหนึ่งในกลุ่มชนเผ่า

หลังจากคลอดลูกสาวคนโต เธอรู้สึกว่าจะต้องสอนภาษาชนเผ่าให้กับลูก แม้ว่าจะพูดได้ไม่ดีแต่ในฐานะที่เป็นแม่จะต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เธอชักจูงลูก ๆ ดูการ์ตูน เรียนรู้คำศัพท์ง่าย ๆ เกี่ยวกับสีและสัตว์ต่าง ๆ ทำให้สามีและแม่สามีซึ่งเคยชินกับการพูดภาษาจีนก็รู้สึกปลาบปลื้มใจ และได้ร่วมกันสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นภาษาชนเผ่าให้แก่เด็ก ๆ

Nakaw สอนหนังสือที่โรงเรียนประถม Makotaay นักเรียนเป็นชนพื้นเมืองเกือบทั้งหมด แต่ต้องใช้ภาษาจีนกลางเป็นภาษาหลักในการเรียน ภาษาแม่ถูกจำกัดให้เรียนเพียงไม่กี่คาบ ภาษาแม่ของเด็ก ๆ ในหมู่บ้านค่อย ๆ เลือนหายไปจนเกิดความไม่เข้าใจและไม่ยอมรับวัฒนธรรมของตนเองหรือรู้สึกเป็นปมด้อย “พวกเขาไม่เข้าใจ (วัฒนธรรม) ตนเอง จะยอมรับตนเองได้อย่างไร จะยอมรับผู้อื่นได้อย่างไร” Nakaw พูดด้วยความรู้สึกปวดร้าวใจ
 

Mayaw Biho ซึ่งได้รับฉายาว่า “ครูใหญ่” ให้ความช่วยเหลือคุณครูในการพา เด็ก ๆ ขึ้นเขาลุยน้ำ และเปิดห้องเรียน คือความพยายามของเขาในการสร้างความเข้าใจในตัวเองให้กับเหล่าชนพื้นเมือง

Mayaw Biho ซึ่งได้รับฉายาว่า “ครูใหญ่” ให้ความช่วยเหลือคุณครูในการพา เด็ก ๆ ขึ้นเขาลุยน้ำ และเปิดห้องเรียน คือความพยายามของเขาในการสร้างความเข้าใจในตัวเองให้กับเหล่าชนพื้นเมือง
 

ริมทะเลของ TAMORAK

Nakaw เคยรู้สึกกังวลและสิ้นหวังต่อระบบการศึกษา แต่หลังจากได้เรียนรู้วิธีการจากโรงเรียน Ci-Xin Waldorf เธอจึงพบทางออก ซึ่งก็คือการเรียนโดยไม่ต้องใช้ตำรา “ที่นี่มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่อย่างไร ก็สอนไปตามนั้น” Nakaw บอกว่า หลังจากที่เธอได้ไปอบรมที่โรงเรียน Ci-Xin Waldorf ที่เมืองอี๋หลาน จึงได้เริ่มสอนภาษาอามิสให้แก่ลูก ๆ 3 คนในบ้านของตน กระตุ้นคุณแม่หลายคนให้ทำตามโดยสอนลูก ๆ ให้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ด้วยภาษาอามิส โรงเรียนชุมชน TAMORAK จึงเริ่มก่อตัวเป็นรูปร่างขึ้นมา

หมู่บ้าน Makotaay อยู่ติดกับชายทะเล ชาวบ้านมักไปเก็บหาอาหารในเขตน้ำตื้นชายฝั่ง โรงเรียนชุมชน TAMORAK จัดให้เด็กออกไปเรียนรู้และเก็บพืชสาหร่ายในเขตน้ำตื้น สิ่งที่เด็ก ๆ ได้ยินได้เห็น และได้ลิ้มรส ล้วนแต่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สำคัญ

 

โรงเรียนริมแม่น้ำซิ่วกูหลวน

Pinanaman เป็นโรงเรียนชุมชนอีกแห่งที่สอนด้วยภาษาอามิสเป็นภาษาหลัก มีรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง

ที่ริมแม่น้ำ คุณครูและผู้ปกครองนำพาเด็ก ๆ ยืนอยู่หน้าพุ่มไม้ นำเหล้าข้าวฟ่างเซ่นไหว้ต่อวิญญาณแห่งแม่น้ำและบรรพบุรุษ จากนั้นทำการถางหญ้าเปิดทาง ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ลุยลงไปยืนในน้ำประสานมือล้อมเป็นวงกลมร้องเพลงภาษาชนเผ่าอามิสติดต่อกันหลายเพลง เด็ก ๆ ที่ไม่อยากเข้ากลุ่มจะพากันเล่นโคลนริมน้ำ ไม่มีการบังคับเด็กให้ลงน้ำ เด็กโตจะจูงมือเด็กเล็กที่ร้องไห้พาไปเล่นด้วยกัน ผู้ใหญ่จะปล่อยเด็กทำกิจกรรมตามอิสระ เพราะ Pinanaman ให้ความเคารพต่อความคิดของเด็ก ๆ

การเรียนการสอนที่ Pinanaman เป็นไปอย่างสนุกสนาน เด็ก ๆ ร้องเพลง เต้นรำ ปลูกผัก ทำขนมปัง เด็ก ๆ เรียนรู้จากการละเล่น เช่น เรียนรู้วิธีเดินบนหินที่เปียกลื่น จะต้องทรงตัวอย่างไรไม่ให้ลื่นล้ม ตลอดทั้งปีเด็ก ๆ จะไปเล่นและเรียนรู้ที่ริมแม่น้ำ สังเกตความเปลี่ยนแปลงของภูเขาและแม่น้ำ รู้จักพืชพรรณที่แตกต่างกันใน 4 ฤดู ทุกสิ่งในธรรมชาติล้วนเป็นสื่อที่ใช้ในการเรียนรู้

คุณครูพาเด็ก ๆ ไปเก็บผักที่ริมแม่น้ำ เพื่อทำความรู้จักและจดจำพืชต่าง ๆ คุณแม่ในชนเผ่าก่อไฟอยู่ด้านข้าง อีกสักครู่เด็ก ๆ จะได้ลิ้มรสอร่อยของซุปผักป่า ผักและดอกไม้ที่เก็บจากริมแม่น้ำวางอยู่บนเสื่อปิกนิก ความสดใหม่และสวยงามทำให้อาหารมีรสชาติอร่อยยิ่งนัก นี่คือสุนทรียภาพในงานเลี้ยงอาหารกลางวันของเด็ก ๆ Mayaw Biho ซึ่งเด็กเรียกว่าครูใหญ่พูดปนหัวเราะว่า ผู้คนมักจะถามเขาว่า การเรียนภาษาชนเผ่ามีการจัดหลักสูตรอย่างไร สัปดาห์ละกี่ชั่วโมง เขาก็จะตอบแบบขบขันว่า “พวกเราไม่ได้จัดหลักสูตรภาษาชนเผ่า แต่พวกเราเรียนรู้ทุกสิ่งด้วยภาษาชนเผ่า”
 

ภาษาแม่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ ใน TAMORAK บันทึกข้อมูล การเพาะปลูกด้วยภาษาอามิส

ภาษาแม่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เด็ก ๆ ใน TAMORAK บันทึกข้อมูล การเพาะปลูกด้วยภาษาอามิส
 

ร่วมกันจินตนาการอนาคตของเด็ก ๆ

Mayaw มักจะได้รับเชิญไปบรรยายในโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วไต้หวัน เขาจะพูดกับเด็กนักเรียนเรื่องการฟื้นฟูชื่อเดิมของชนเผ่าและการวาดแผนที่ชนเผ่า ปัญหาที่เด็กชนพื้นเมืองถูกหัวเราะเยาะและดูถูกเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเรื่อยมา จนทำให้ต้องเติบโตพร้อมกับรอยแผลในใจ ดังนั้น จะต้องเข้าใจวัฒนธรรมชนเผ่าของตนให้ได้ก่อน จึงจะเกิดความเชื่อมั่น Mayaw จะบรรยายโดยพยายามกระตุ้นให้เด็ก ๆ รู้ว่าตนเองเป็นใคร การจัดตั้งโรงเรียนชนเผ่า เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เขาพยายามรณรงค์ด้วย

ความสำเร็จของ TAMARAK สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ Mayaw เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เขาได้รวบรวมคนรุ่นใหม่กลุ่มหนึ่ง ร่วมกันหารือเกี่ยวกับปัญหาด้านการศึกษาและอนาคตของชนเผ่า “คุณคาดหวังว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ชนเผ่าจะเป็นอย่างไร?” “อีก 10 ปีข้างหน้าตนเองจะเป็นอย่างไร?” “คุณคาดหวังว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ลูกของคุณจะเป็นอย่างไร?” เขาได้โยนคำถามออกมา 3 ข้อ กระตุ้นให้ทุกคนวาดภาพอนาคต แล้วขบคิดว่าจะทำอย่างไรได้บ้าง

การหารือกันอย่างต่อเนื่องจุดประกายความคิดการก่อตั้งโรงเรียนริมแม่น้ำ Pinanaman มีบางคนคาดหวังว่าเด็ก ๆ จะคุ้นเคยกับน้ำ และมีบางคนที่คาดหวังว่าเด็กจะรู้จักพืช 50 ชนิด ครูและผู้ปกครองจึงหารือร่วมกันเพื่อจัดทำสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน โดยเหล่าคุณครูก็พยายามพัฒนาทักษะตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อร่วมกันสร้างจินตนาการให้
เด็ก ๆ ในอนาคต หลังจัดตั้งโรงเรียนจนถึงปัจจุบัน แม้การขอรับเงินบริจาคมีความยากลำบาก แต่ Pinanaman ยังคงยืนหยัดที่จะไม่เก็บค่าเล่าเรียน ผู้ปกครองจะต้องสลับกันจัดอาหารและขนมให้เด็กโดยไม่สามารถจ่ายเงินเป็นการทดแทน “ผู้ปกครองมาส่งอาหารก็จะได้พบกับลูกและได้มีปฏิสัมพันธ์กับคุณครูด้วย” Mayaw อธิบาย

 

โอบกอดโลกอย่างมั่นใจ

Pinanaman ไม่เพียงแต่ดึงดูดผู้ปกครองที่มีแนวความคิดเหมือนกัน ยังมีเด็กเชื้อสายจีนที่มาจากเมืองไถตง ผู้ปกครองของเด็กทำงานวิจัยด้านการศึกษา 10 กว่าปี ต้องการหาโรงเรียนอนุบาลที่ปล่อยให้เด็กพัฒนาตนเองได้อย่างอิสระ ได้เสาะหาไปตามเส้นทางเลียบภูเขาและแม่น้ำหลายแห่ง สุดท้ายเลือก Pinanaman “เนื่องจากชนพื้นเมืองมีความใกล้ชิดกับธรรมชาติ จะทำให้เด็กเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ผมต้องการให้ลูกใกล้ชิดกับธรรมชาติ” ผู้ปกครองกล่าว

หากมีผู้อาวุโสของชนเผ่าเสียชีวิต Pinanaman จะให้เด็กไปร้องเพลงแสดงความอาลัย ทุกวันเด็กจะต้องกวาดห้องเรียนและถนน จะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน หากมีเด็กลาป่วยไม่มาโรงเรียนหลายวัน เพื่อน ๆ จะทำขนมปังไปเยี่ยม..... รายละเอียดต่าง ๆ ในชีวิตเหล่านี้ สะท้อนถึงการให้ความสำคัญต่อ “มนุษยสัมพันธ์ ดูแล แบ่งปัน” ซึ่งเป็นจิตวิญญาณของชนเผ่าอามิส

จินตนาการเกี่ยวกับเด็ก ๆ ในอนาคตของ Mayaw ก็คือ เด็ก ๆ จะตอบได้ว่าตนเองคือใคร? ชนเผ่ามีประวัติความเป็นมาอย่างไร? และมีเป้าหมายอะไรในอนาคต?”

 

เพิ่มเติม

ขอต้อนรับเข้าสู่ห้องเรียน ภาษาชนเผ่าอามิส โรงเรียนชุมชน TAMORAK และห้องเรียนริมแม่น้ำ Pinanaman