ใบเมเปิลแดง ต้นมอสส์ หยดน้ำบนปลายใบไม้ ใยแมงมุมที่ถูกถักทออย่างแน่นหนาเพื่อจับเหยื่อ ต่างก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของป่าหมอกบนภูเขาไท่ผิงซาน ที่เปี่ยมไปด้วยธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ขอเพียงตั้งใจมองหา ทุกแห่งหนต่างก็เต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจ
ในอดีต บนเกาะไต้หวันเคยมีกลุ่มชาติพันธุ์ พูดจาสื่อสารต่างภาษา กาลเวลาผ่านไป คนเหล่านี้ไม่ว่ามาจากไหน ต้องเรียนตำราเล่มเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ทำให้สีสันในสังคมขาดหายไป แต่ยังโชคดีที่มีผู้ตระหนักว่าภาษาถิ่นที่กำลังจะสูญหาย ส่งผลให้การสืบทอดวัฒนธรรมขาดตอน จึงส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ภาษาแม่เพื่อจะได้เข้าใจพื้นเพของตนเองและเป็นการสร้างความมั่นใจในการใช้ชีวิตบนโลกใบนี้
“แป๊น!” เสียงที่ดังขึ้นทำให้เราหันขวับไปทันที เห็นภาพของรถไฟเล็กสีเหลือง ๆ วิ่งออกมาจากแนวป่าเขียวขจีที่อยู่ไม่ไกล ก่อนจะค่อย ๆ วิ่งเข้าเทียบชานชาลาของสถานีรถไฟไท่ผิงซาน เหล่านักท่องเที่ยวต่างก็ชะเง้อมองแล้วกรูกันขึ้นไปบนรถ แม้ว่าทุกคนจะสวมใส่หน้ากากอนามัย แต่ก็ไม่สามารถปกปิดความตื่นเต้นบนใบหน้าของพวกเขาเหล่านั้นได้ “เป๊ง เป๊ง เป๊ง” เสียงระฆังที่ดังกังวานขึ้นเหมือนกับจะบอกกับเราว่า ป้งป้งเชอกำลังจะวิ่งออกจากชานชาลาแล้ว
โดยสารรถป้งป้งเชอท่องไปในป่าลึก
รถป้งป้งเชอมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “รถรางขนส่งไม้บนพื้นที่ภูเขา” ถือเป็นพาหนะหลักที่ใช้ในการขนส่งไม้ที่ตัดมาจากแถบไท่ผิงซาน
เมื่อเราได้นั่งอยู่บนรถป้งป้งเชอ ที่วิ่งไปตามเส้นทางอันคดเคี้ยวบนภูเขาสูงซึ่งมีเพียงแห่งเดียวในไต้หวัน ก็จะมีโอกาสได้ชื่นชมภาพแห่งความงดงามของป่าเขาที่อยู่รายล้อม ตัวตู้โดยสารเป็นแบบเปิดจึงไม่มีหน้าต่าง ทำให้สามารถสูดอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกที่เปี่ยมไปด้วยโอโซนได้อย่างเต็มปอด เหมือนกับเรากำลังเดินเตร็ดเตร่อยู่ท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร
การทำป่าไม้ในแถบภูเขาไท่ผิงซานเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ.1914 ในสมัยที่ญี่ปุ่นยังปกครองเกาะไต้หวัน ซึ่งในขณะนั้น กรมป่าไม้ญี่ปุ่นประจำไต้หวันได้ตรวจสอบทรัพยากรธรรมชาติของไต้หวันก่อนจะพบว่า ภูเขาไท่ผิงซานมีป่าไซเปรส (ฮิโนกิ) ที่อุดมสมบูรณ์มาก จึงเป็นจุดเริ่มของการทำป่าไม้ในแถบไท่ผิงซาน และเพื่อขนส่งไม้ที่ตัดออกมา ทำให้มีการวางรางสำหรับรถรางขนส่งมากถึง 16 สายทั่วภูเขาไท่ผิงซาน โดยมีความยาวของเส้นทางรวมมากกว่า 100 กิโลเมตร
การทำป่าไม้ในแถบไท่ผิงซานค่อย ๆ ซบเซาลงในช่วงทศวรรษ ที่ 1970 ขณะนั้นสำนักบริหารป่าไม้เขตหลันหยางของกรมป่าไม้ไต้หวัน (ปัจจุบันคือสำนักบริหารป่าไม้ตำบลหลัวตง) ได้ริเริ่มแผนการปรับเปลี่ยนสู่การเป็นสวนป่าท่องเที่ยว และเมื่อถึงปี ค.ศ.1981 ไต้หวันประกาศห้ามตัดไม้ทำลายป่า รถป้งป้งเชอจึงต้องหยุดวิ่งไปโดยปริยาย
หลังจากทำการบูรณะและปรับปรุงสถานที่ใหม่จนแล้วเสร็จ อุทยานสวนป่าท่องเที่ยวไท่ผิงซานก็เริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวในปี ค.ศ.1983 และเพื่อให้เหล่าผู้มาเยือนได้มีโอกาสสัมผัสกับบรรยากาศแห่งประวัติศาสตร์ของการทำป่าไม้ ทางอุทยานใช้เวลากว่า 4 ปี บูรณะซ่อมแซมรถป้งป้งเชอ กว่าที่จะเปิดวิ่งให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้ในปี ค.ศ.1991 ในเส้นทางสายเม่าซิง โดยวิ่งรับส่งระหว่างสถานีไท่ผิงซานและสถานีเม่าซิง
เส้นทางสายเม่าซิงมีความยาว 3 กิโลเมตร ตลอดสองข้างทาง นอกจากจะได้ชมทิวทัศน์ของขุนเขาอันตระการตาแล้ว ยังมีสะพานเหล็กและต้นไม้สูงตระหง่านให้ได้ชื่นชมกันด้วย ภาพของป้งป้งเชอสีเหลืองสดที่แล่นอยู่บนสะพานเหล็กสีแดง ถือเป็นภาพที่มีเสน่ห์น่าหลงใหลเป็นอย่างมาก ซึ่งเราจะได้ยินเสียงของเหล่านักท่องเที่ยวที่อุทานออกมาด้วยความตื่นเต้นตลอดการเดินทางที่ใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงนี้ ทุกภาพที่เห็นทุกภาพที่ถ่ายออกมาสวยงามมาก จนทำให้เราแทบไม่อยากปล่อยมือออกจากกล้องกันเลยทีเดียว
ภูเขาไท่ผิงซานมีเส้นทางเดินป่าที่มีวิวทิวทัศน์ต่าง ๆ มากมาย เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ดึงดูดให้เหล่านักเที่ยวกลับมาเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า
ย่ำไปบนเส้นทางโบราณ ซึมซับความงดงามแห่งผืนป่า
หลังจากที่นั่งรถป้งป้งเชอมาลงที่สถานีเม่าซิงแล้ว ก็จะถึงเส้นทางโบราณเม่าซิง ไล่ปั๋วซู (賴伯書) เจ้าหน้าที่ของสำนักบริหารป่าไม้เขตหลัวตงบอกกับเราว่า การทำป่าไม้ในสมัยก่อน ไม่ได้มีเพียงการตัดไม้ แต่ยังมีการปลูกป่าไปพร้อมกันด้วย โดยต้นไม้ที่ถูกนำมาปลูกในตอนนั้น จะเป็นพวกต้นสนซีดาร์เป็นหลัก แต่ก็มีการปลูกสนไซเปรสแดงกับสนไซเปรสเหลืองไต้หวันไปด้วย เมื่อเราเดินท่องไปตามเส้นทางเดินในป่า ก็จะมองเห็นต้นสนซีดาร์ที่สูงใหญ่ ต้นสนไซเปรสแดงที่มีต้นมอสส์สีเขียวขึ้นอยู่บนลำต้น และตอไม้ขนาดใหญ่ซึ่งเป็นซากที่หลงเหลืออยู่จากการถูกตัดซึ่งมีต้นเฟิร์นชนิดต่าง ๆ งอกงามอยู่ด้านบน ในหุบเขาที่อยู่ด้านข้างก็มีต้นอัลเดอร์ไต้หวันขึ้นอยู่เต็มไปหมด ทำให้เราเห็นเป็นภาพของความงดงามแห่งสีเขียวอันร่มรื่นได้อย่างเต็มตา
แต่สำหรับทิวทัศน์ของเส้นทางโบราณเจี้ยนฉิง ซึ่งเดิมทีก็คือทางรถไฟเล็กสายเจี้ยนฉิงถูกสร้างขึ้นในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน กลับมีภาพที่แตกต่างออกไป
เส้นทางโบราณเจี้ยนฉิงมีความยาวตลอดสายประมาณ 900 เมตร ใช้เวลาในการเดินไปกลับประมาณ 1 ชั่วโมง แต่ตลอดทางเราสามารถเห็นทิวทัศน์ที่มีความหลากหลายมาก บริเวณจุด 200 เมตร จะเป็นช่วงที่เปิดโล่งทำให้มองเห็นภาพของทิวเขาสลับซับซ้อนและมองเห็นไปจนถึงที่ราบลุ่มหลันหยาง โดยเฉพาะในช่วงที่ท้องฟ้าสดใสหลังฝนตก ภาพทิวทัศน์ที่มองเห็นจะมีความกระจ่างแจ้งเป็นอย่างมาก แนวเทือกเขาที่มองเห็นอยู่ไกล ๆ คือเทือกเขาเสวี่ยซาน ภูเขาผิ่นเถียนซาน และภูเขาต้าป้าเจียนซาน ซึ่งต่างก็เป็นภูเขาที่มีความสูงมากกว่า 3,000 เมตรจากระดับน้ำทะเล
เส้นทางโบราณเจี้ยนฉิง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,900 เมตร มักจะมีหมอกลงอย่างหนาแน่นในช่วงบ่าย เหล่านักเดินทางในสมัยก่อนจึงต้องเดินอยู่ท่ามกลางสายหมอกอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิดความรู้สึกว่าอยากเห็นท้องฟ้าที่แจ่มใส ซึ่งก็คือคำว่า “เจี้ยนฉิง (見晴)” ทำให้ชื่อนี้กลายเป็นที่มาของชื่อที่ใช้เรียกเส้นทางสายนี้ โดยทิวทัศน์ของเส้นทางสายนี้ที่สามารถสะกดให้ผู้มาเยือนต้องหยุดชื่นชมก็คือภาพของรางรถไฟเล็กอันคดเคี้ยวสองช่วงที่อยู่บนสะพานซึ่งสร้างขึ้นด้วยไม้ฮิโนกิ ไม้หมอนรางรถไฟที่มีต้นมอสส์ขึ้นอยู่จนเต็ม โดยมีใบเล็ก ๆ ของต้นเฟิร์นขึ้นแซมอยู่เป็นหย่อม ๆ เมื่อเรามองไปยังป่าฮิโนกิที่อยู่สองข้างทางในยามที่สายหมอกเคลื่อนคล้อยลงมา ทำให้ดูราวกับว่าเวลาของสถานที่แห่งนี้ได้เคลื่อนไหวไปอย่างช้า ๆ ทางเดินสุดลูกหูลูกตานี้ เสมือนดินแดนแห่งสรวงสวรรค์ ช่วยสร้างบรรยากาศอันลึกลับให้กับเส้นทางสายนี้ได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่า ภาพอันงดงามทำให้สื่อยักษ์ใหญ่อย่าง CNN ถึงกับยกย่องให้เส้นทางโบราณเจี้ยนฉิงเป็นหนึ่งใน 28 เส้นทางเดินเขาที่สวยที่สุดในโลกเลยทีเดียว
ความฝันสีดอกท้อของนักธรรมชาติวิทยา
สำหรับอู๋หย่งหัว (吳永華) นักวิจัยประวัติศาสตร์ธรรมชาติแล้ว ทางรถไฟในป่ามิใช่เป็นเพียงเส้นทางสำหรับขนไม้ที่ตัดออกมาเพื่อนำลงไปจากภูเขาเท่านั้น หากแต่ยังนำเอานักธรรมชาติวิทยาเข้าไปตามล่าหาความฝันในป่าลึกด้วย ถือเป็นการแต่งเติมความโรแมนติกให้กับภูเขาไท่ผิงซานได้ไม่น้อย
ในปี ค.ศ.1914 ซึ่งไต้หวันยังอยู่ในการปกครองของญี่ปุ่น รัฐบาลได้เริ่มเข้ามาตัดไม้ในแถบภูเขาไท่ผิงซาน พร้อมกับเริ่มศึกษาธรรมชาติและเก็บตัวอย่างของสิ่งมีชีวิตในแถบนี้ไปทำการวิจัยด้วย อู๋หย่งหัวชี้ว่า โทกุอิชิ ชิรากิ (Tokuichi Shiraki) นักกีฏวิทยารุ่นบุกเบิกผู้มีชื่อเสียง ก็ได้เข้าไปศึกษาธรรมชาติในแถบภูเขาไท่ผิงซานในปี ค.ศ. 1923 ด้วย โดยการเดินเท้าจากไทเปไปตามเส้นทางโบราณเฉาหลิ่ง ก่อนจะต่อรถไฟไปจนถึงเมืองอี๋หลาน และแบกอุปกรณ์ในการเก็บตัวอย่างเดินเท้าเลียบไปตามริมฝั่งของแม่น้ำหลันหยางซีจนไปถึงภูเขาไท่ผิงซาน แม้จะเป็นการเดินทางที่ยากลำบาก แต่ก็ทำให้ได้เก็บตัวอย่างแมลงชนิดใหม่ ๆ จากแถบภูเขาไท่ผิงซานได้อย่างมากมาย เช่น แมงป่องไท่ผิงซาน แมลงวันดอกไม้ และตั๊กแตนหนวดยาวไต้หวัน เป็นต้น
ในปี ค.ศ.1926 หลังจากที่รถไฟซึ่งวิ่งจากภูเขาไท่ผิงซานไปถึงสถานีจู๋หลินในหลัวตงเริ่มเปิดรับผู้โดยสาร ไท่ผิงซานก็ได้กลายมาเป็นจุดสำคัญด้านการท่องเที่ยวและการค้นคว้าวิจัย ซึ่งอู๋หย่งหัวกล่าวว่า ในปีนั้น ทาดาโอะ คาโนะ (Tadao Kano) นักธรรมชาติวิทยาชื่อดัง ที่ในขณะนั้นยังเป็นเพียงเด็กมัธยมปลายก็ได้โดยสารรถไฟเล็กเข้าไปยังแถบไท่ผิงซาน ก่อนจะมีโอกาสได้พบกับผีเสื้อหางนกนางแอ่นออโรรา ซึ่งเป็นพันธุ์ที่มีเฉพาะในไต้หวัน ถือเป็นการเปิดฉากอย่างงดงามสำหรับการเดินทางเยือนป่าลึกของไต้หวัน
“ในตอนแรกที่ได้เห็นผีเสื้อหางนกนางแอ่นออโรรากลางป่าลึกที่อยู่ระหว่างสโมสรไท่ผิงซานกับหุบเขาเสินไต้กู่ มีความรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังอยู่ในความฝัน เมื่อมันโบยบินออกมาจากป่าเขียวขจี รูปร่างของมันเหมือนกับเป็นความฝันสีดอกท้อนี้ ถือเป็นภาพอันสุดแสนตระการตาในโลกแห่งแมลงของไต้หวันที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง”
ทาดาโอะ คาโนะ ได้บรรยายถึงความรู้สึกอันสุดแสนประทับใจของตนได้อย่างจับใจ จนทำให้ทุกวันนี้ ภาพของผีเสื้อหางนกนางแอ่นออโรราสีดอกท้อนี้ ได้กลายมาเป็นเป้าหมายที่เหล่านักเดินทางทั้งหลายเสาะแสวงหาเพื่อพิสูจน์ด้วยสายตาของตัวเอง
อุทยานวัฒนธรรมป่าไม้หลัวตง ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความรุ่งเรืองของการทำป่าไม้เมื่อวันวาน
ป่าสีทองอร่ามอันล้ำค่า
คำบรรยายอันล้ำค่าที่เหล่านักธรรมชาติวิทยาได้หลงเหลือไว้ ได้กลายมาเป็นเป้าหมายที่เหล่าชนรุ่นหลังต่างก็พากันเสาะแสวงหา เช่น เรียวโซ คาเนะฮิระ นักพฤกษศาสตร์ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการแผนกป่าไม้ของศูนย์วิจัยกลางแห่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ญี่ปุ่นประจำไต้หวัน ก็ได้บันทึกไว้ในหนังสือชื่อ Formosan Trees Indigenous to the Island เกี่ยวกับการกระจายตัวของต้นบีชไต้หวัน ที่ถือเป็นต้นไม้โบราณซึ่งหลงเหลือมาจากยุคน้ำแข็ง จนทำให้เหล่านักวิชาการทั้งหลายต้องใช้เวลานานนับสิบในการค้นหา
ไล่ปั๋วซูเห็นว่า ตามเอกสารอ้างอิงในขณะนั้น น่าจะมีความคลาดเคลื่อนในการบันทึกตำแหน่งของต้นบีชไต้หวัน ทำให้ค้นหาไม่พบ กระทั่งเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ในขณะที่กรมป่าไม้ได้ทำการตรวจสอบป่าตามภารกิจประจำนั้น ได้บันทึกภาพของใบต้นบีชที่กำลังเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเอาไว้ได้จากภาพถ่ายทางอากาศ จนทำให้ค้นพบป่าต้นบีชธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่ถึง 1,100 เฮกตาร์ (ประมาณ 8,250 ไร่) ในบริเวณที่อยู่ใกล้กับทะเลสาบชุ่ยฟงหูของภูเขาไท่ผิงซาน กรมป่าไม้จึงเริ่มค้นคว้าวิจัยโดยทันที ก่อนจะสร้างเส้นทางเดินชมต้นบีชไต้หวันขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสชื่นชมสัมผัสได้ในระยะประชิด
ต้นบีชไต้หวันถือเป็นหนึ่งในสี่ประเภทต้นไม้หายากของไต้หวันตามประกาศในกฎหมายการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งสำนักบริหารป่าไม้หลัวตงก็ได้ทดลองย้ายไปปลูกที่อื่น เพื่อบุกเบิกถิ่นที่อยู่แห่งใหม่ให้กับต้นบีชไต้หวัน
เดินเข้าสู่อ้อมกอดแห่งขุนเขา
อุทยานสวนป่าท่องเที่ยวคือช่องทางที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติ ไล่ปั๋วซูเห็นว่า ป่ามิใช่มีเพียงต้นไม้ แต่ยังมีอะไรให้ได้ชมอีกมากมาย เช่น เส้นทางชมต้นบีชไต้หวัน มีความยาวรวม 3.8 กิโลเมตร โดยทางเดินในช่วงแรกจะทอดไปตามทางรถไฟภูเขาสายเก่า ซึ่งทางจะค่อนข้างเรียบทำให้เดินง่าย สามารถชื่นชมความงามทางภูมิศาสตร์ของหินผา โรงทำไม้ในสมัยก่อน และยังมีต้นไม้ที่หลากหลาย
บนโลกนี้มีป่าเพียงร้อยละ 1 ที่เป็นป่าหมอก ซึ่งภูเขาไท่ผิงซานก็เป็นหนึ่งในนั้น ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่นำพาเอาความชื้นเข้ามาอย่างมากมาย ประกอบกับตั้งอยู่บนความสูงจากระดับน้ำทะเลที่สูงมาก ทำให้มีเมฆหมอกปกคลุมไปทั่วภูเขาแทบจะตลอดเวลา เป็นผลให้ต้นสนไซเปรสแดง ต้นสนไซเปรสไต้หวัน และต้นไต้หวันเฟอร์ ซึ่งเป็นพืชที่มีเฉพาะในไต้หวันสามารถเจริญงอกงามในแถบนี้ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งความชื้นในเขตป่าหมอก ก็ทำให้ต้นมอสส์ที่ช่วยผืนป่าในการกักเก็บน้ำได้ดีเจริญงอกงามได้เป็นอย่างดี จนมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ดินและน้ำ ไล่ซูปั๋วกล่าวเตือนว่า ขณะที่เดินอยู่บนเส้นทางเดินป่า อย่าเอาแต่จะเดินมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายสุดท้ายคือต้นบีชไต้หวันเท่านั้น เพราะตลอดสองข้างทางยังมีทิวทัศน์อันงดงามให้ชื่นชมอยู่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพใยแมงมุมที่มีหยดน้ำเกาะอยู่ หรือทุนดราที่มีสีสันอันหลากหลาย ขอเพียงพยายามมองหา บนเส้นทางเดินป่ายังมีสิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจรออยู่เต็มไปหมด
เฉินก้วนเหว่ยชี้ว่า อุทยานสวนป่าท่องเที่ยวภูเขาไท่ผิงซานมีเส้นทางเดินป่าอยู่มากมาย และมีทิวทัศน์ที่แตกต่างกันไปทั้งใน 4 ฤดู เดือนเมษายนเหมาะสำหรับการเที่ยวชมดอกกุหลาบพันปีบนภูเขาสูง เดือนพฤษภาคมมีดอกถุงมือจิ้งจอกที่ดูแล้วเหมือนเป็นกระดิ่งซึ่งถูกร้อยเข้าด้วยกัน รวมถึงต้นเมเปิลญี่ปุ่นที่ปลูกเรียงรายอยู่สองข้างของบันไดทางขึ้นซึ่งอยู่กลางไท่ผิงซานวิลล่า จะมีใบเป็นสีแดงให้ได้เดินชมกัน และในช่วงเดือนเมษายนถึงตุลาคมที่จะมีใบเมเปิลสีแดงให้ดูชมอยู่ตลอดเวลา ส่วนฤดูใบไม้ร่วงก็มีใบไม้สีทองเหลืองอร่ามของต้นบีชไต้หวัน ฤดูหนาวก็ไปแช่ออนเซ็นได้ที่บ่อน้ำแร่จิวจือเจ๋อ ซึ่งมีน้ำแร่สีน้ำเงินเข้มเพียงแห่งเดียวในไต้หวัน พร้อมทั้งสนุกไปกับการต้มไข่ด้วยน้ำแร่จากใต้ดิน ความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายของภูเขาไท่ผิงซาน จึงเป็นอะไรที่คุ้มค่ากับการเดินทางไปชื่นชมเป็นอย่างมาก
เพิ่มเติม
เที่ยวชมภูเขาไท่ผิงซานแบบไม่รู้จบ กับรถไฟ เส้นทางโบราณ และออนเซ็น ที่เดียวครบทุกอย่าง