ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นางสาวเฉินจวี๋ ประธานสภาตรวจสอบไต้หวันนำคณะตัวแทน เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ครั้งที่ 34
2022-10-18
New Southbound Policy。นางสาวเฉินจวี๋ ประธานสภาตรวจสอบไต้หวันนำคณะตัวแทน เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ครั้งที่ 34 (ภาพจากสภาตรวจสอบ)
นางสาวเฉินจวี๋ ประธานสภาตรวจสอบไต้หวันนำคณะตัวแทน เข้าร่วมการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศของออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ครั้งที่ 34 (ภาพจากสภาตรวจสอบ)

สภาตรวจสอบ วันที่ 17 ต.ค. 65

นางสาวเฉินจวี๋ ประธานสภาตรวจสอบ และสมาชิกฝ่ายประสานกิจการระหว่างประเทศ ประกอบด้วยนางหวังเหม่ยอวี้ นายหลินเหวินเฉิง และนางฟ่านสวิ้นลวี่ ได้เดินทางไปเข้าร่วม “การประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ครั้งที่ 34” (Australasian and Pacific Ombudsman Region, APOR) ณ กรุงเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 14 ต.ค. เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนการจัดการประชุม APOR มาเป็นในรูปแบบวีดิโอคอนเฟอเรนซ์ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ทุกอย่างได้ค่อยๆ กลับสู่สภาวะปกติ จึงได้มีการจัดการประชุมขึ้นในสถานที่จริง และเป็นครั้งแรกที่คณะกรรมการสภาตรวจสอบ สมัยที่ 6 ของไต้หวัน ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกับบรรดาผู้ตรวจการแผ่นดินของ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก หลังจากที่เข้ารับตำแหน่งในปี 2020 เป็นต้นมา โดยได้ร่วมหารือกันในประเด็นกลไกการตรวจสอบราชการที่สำคัญในระดับภูมิภาค และด้านสิทธิมนุษยชน
 
การประชุม APOR ครั้งที่ 34 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “การธำรงรักษาบทบาทสำคัญของผู้ตรวจการแผ่นดิน และแนวทางในการส่งเสริมให้คณะรัฐบาลรับฟัง” โดยในปีนี้ เจ้าภาพได้เชิญประเทศสมาชิก APOR และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมแสดงปาฐกถาและร่วมการอภิปรายใน 3 หัวข้อการประชุม โดยนางสาวเฉินจวี๋ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมให้รัฐบาลมุ่งสู่เป้าหมายการบริหารภารกิจที่โปร่งใสและยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน” เพื่อร่วมอภิปรายหารือเกี่ยวกับแนวทางการสำแดงบทบาทสำคัญของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีต่อคณะรัฐมนตรี โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยทางการเมือง นางสาวเฉินฯ กล่าวว่า นับตั้งแต่ข้าพเจ้าเข้ารับตำแหน่งประธานในสภาตรวจสอบ สมัยที่ 6 เป็นต้นมา ก็ได้มุ่งมั่นในการส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเผยแพร่ข้อมูลอย่างโปร่งใส พร้อมเข้าสอบสวนคดีทุจริตคอร์รัปชั่นของข้าราชการตุลาการอย่างละเอียด ตลอดจนจับตาต่อประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมไปถึงการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน อาทิ ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน และสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ ที่เกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์โรคโควิด – 19 โดยสภาตรวจสอบจะสำแดงบทบาทในการกระตุ้นให้รัฐบาลมีความโปร่งใสและคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ในการดำเนินภารกิจ ด้วยวิธีการเข้าแทรกแซงตรวจสอบ ตีพิมพ์รายงานที่เกี่ยวข้องและการจัดการประชุมสัมมนาขึ้นเป็นวาระประจำ
 
โดยในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประจวบกับเป็นวาระครบรอบ 60 ปีของการจัดตั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งนิวซีแลนด์ คณะตัวแทนของสภาตรวจสอบไต้หวันจึงได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองที่จัดขึ้นในอาคารรัฐสภานิวซีแลนด์ ซึ่งมีโอกาสได้พบปะกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งนิวซีแลนด์ โดยคณะตัวแทนไต้หวันได้รับการต้อนรับอันแสนอบอุ่นจาก Mr. Peter Boshier ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินแห่งประเทศนิวซีแลนด์ Mr. Paul Hunt ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และ Mr. Meng Foon คณะกรรมการเฉพาะกิจด้านความสัมพันธ์ระหว่างชนเผ่าพื้นเมือง โดยเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายต่างร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านกลไกการตรวจสอบราชการและสิทธิมนุษยชนระหว่างสองประเทศ
 
เพื่อให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในการเดินทางเยือนครั้งนี้ และบรรลุภารกิจในหน้าที่ของสภาตรวจสอบ นางสาวเฉินจวี๋และคณะตัวแทนสมาชิกสภาตรวจสอบ ยังได้เข้าร่วมหารือกับ Mr. Chris Field ผู้อำนวยการสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศ (International Ombudsman Institute, IOI) และผู้ตรวจการแผ่นดินในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของออสเตรเลีย และ Ms. Deborah Glass ประธานหน่วยงาน APOR และผู้ตรวจการแผ่นดินในรัฐวิกทอเรียของออสเตรเลีย นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมหารือกับสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าระหว่างนิวซีแลนด์ - ไต้หวัน โดยมีสำนักงานตัวแทนไต้หวันในนิวซีแลนด์เป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารและนัดหมาย พร้อมนี้ คณะตัวแทนยังได้เข้าตรวจเยี่ยมสำนักงานตัวแทนไต้หวันในนิวซีแลนด์ เพื่อทำความเข้าใจกับสถานการณ์ล่าสุดและภารกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในด้านเศรษฐกิจการค้า การทูต กิจการชาวจีนโพ้นทะเล และวัฒนธรรมของไต้หวันในนิวซีแลนด์ โดยนางสาวเฉินฯ และคณะตัวแทนได้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่ชาวไต้หวันที่ประจำการในต่างแดน ที่ยึดมั่นในการทำหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด – 19
 
สภาตรวจสอบไต้หวันเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการของ IOI ซึ่ง IOI เป็นหน่วยงานนานาชาติที่จัดตั้งขึ้น เพื่อกระตุ้นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตรวจสอบของนานาประเทศทั่วโลก โดยมีสมาชิกที่เป็นองค์กรอิสระรวม 250 แห่งจาก 100 กว่าประเทศ เพื่อส่งเสริมแนวคิดด้านการตรวจสอบราชการและสิทธิมนุษยชน ส่วนออสเตรเลีย นิวซีแลนด์และกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกเป็น 1 ของ 6 ของพื้นที่ที่ IOI ดูแลกำกับ และเป็นสถานที่จัดการประชุมของสถาบันผู้ตรวจการแผ่นดินระหว่างประเทศในระดับภูมิภาค ที่มีกำหนดการจัดการประชุมขึ้นในทุก 1 – 2 ปี