ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 3 พ.ย. 65
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทน “กลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป” (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อ IPAC ที่ได้แสดงพลังสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อไต้หวัน แบบข้ามพรมแดนและข้ามพรรคการเมือง นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังชี้ว่า ในขณะที่ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เผชิญหน้ากับความท้าทายที่รุนแรง กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรประสานสามัคคีในการธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ พร้อมแสดงความหวังที่จะเห็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ ระหว่างกันในเชิงลึก เพื่อสรรค์สร้างพลังสามัคคี ในการร่วมปกป้องความมั่นคงในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
ปธน.ไช่ฯ กล่าวให้การต้อนรับ Mr. Reinhard Bütikofer ประธานกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) และหัวหน้าคณะผู้แทนความสัมพันธ์จีนแห่งรัฐสภายุโรป ที่นำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวัน ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่กลุ่มตัวแทน IPAC เดินทางมาเยือนไต้หวัน โดยมีสมาชิกจากกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปรวม 7 ประเทศ และสมาชิกรัฐสภายุโรป ร่วมเดินทางมาด้วย แสดงให้เห็นถึงพลังสนับสนุนอันหนักแน่นที่ IPAC มีต่อไต้หวันแบบข้ามพรมแดนและข้ามพรรคการเมือง ซึ่งเปี่ยมด้วยนัยยะที่พิเศษยิ่ง
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ในเดือนส.ค. ปีนี้ จีนได้ดำเนินการซ้อมรบติดต่อกันเป็นระยะเวลาช่วงหนึ่ง ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค เมื่อเดือนก.ย.ที่ IPAC จัดการประชุมขึ้น ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี คณะตัวแทน IPAC ก็ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมเพื่อเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมแถลงว่าจะมุ่งมั่นในการกระตุ้นให้สมาชิกรัฐสภายุโรป เดินทางเยือนไต้หวันเป็นวาระประจำ
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และการแผ่ขยายของลัทธิอำนาจนิยม รวมถึงห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกก็ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ไต้หวันซึ่งมีการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์มาอย่างยาวนาน จึงมีความได้เปรียบเป็นอย่างมาก เราหวังที่จะร่วมสรรค์สร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความมั่นคงและเปี่ยมด้วยความทรหด ผ่านการร่วมลงทุน การประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันในด้านเทคโนโลยี กับกลุ่มพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลก
ปธน.ไช่ฯ ขอบคุณ IPAC ที่ได้ประกาศแถลงการณ์เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา โดยได้เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก เร่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนด้านการเมืองและเศรษฐกิจกับไต้หวัน พร้อมร่วมลงนามในความตกลงทางการค้าและการลงทุนแบบทวิภาคีและพหุภาคี กับไต้หวัน ปธน.ไช่ฯ ขอแสดงความขอบคุณพลังสนับสนุนจากคณะสมาชิกตัวแทน เชื่อว่าในอนาคต ไต้หวันและสหภาพยุโรป จะสามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในด้านต่างๆ ระหว่างกันในเชิงลึกได้อย่างแน่นอน
ปธน.ไช่ฯ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ต้องเผชิญกับความท้าทายที่รุนแรง อันจะเห็นได้จากกรณีที่รัสเซียรุกรานยูเครน การซ้อมรบของจีนในพื้นที่รอบน่านน้ำสองฝั่งช่องแคบไต้หวันติดต่อกันหลายวัน ซึ่งล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอำนาจของระบอบเผด็จการ ที่ได้ก่อกวนและสร้างภัยคุกคามต่อความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ ด้วยเหตุนี้ ประเทศประชาธิปไตยจึงควรที่จะประสานความสามัคคี ในการธำรงไว้ซึ่งค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ
ปธน.ไช่ฯ ย้ำด้วยว่า ไต้หวันตั้งอยู่ในแนวหน้าของการเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอำนาจของระบอบเผด็จการ จึงจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพในการปกป้องประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรประชาธิปไตยทั่วโลก
ในช่วงท้าย ปธน.ไช่ฯ กล่าวแสดงความขอบคุณ IPAC และคณะตัวแทนสำหรับการสนับสนุนที่มีต่อไต้หวันอย่างหนักแน่น เชื่อว่าไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือด้านต่างๆ ในเชิงลึกกับพันธมิตรประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ เพื่อผนึกกำลังสามัคคี ในการปกป้องความมั่นคงของพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมถึงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคด้วย
Mr. Bütikofer กล่าวว่า ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างมากที่ได้รวบรวมคณะสมาชิกรัฐสภาจาก 7 ประเทศในทวีปยุโรป เดินทางมาเข้าเยี่ยมคารวะปธน.ไช่อิงเหวิน ซึ่ง Mr. Bütikofer รู้สึกขอบคุณต่อการได้รับโอกาสในการนำคณะตัวแทน ทำความเข้าใจกับสถานการณ์ภายในไต้หวันและสถานการณ์ระหว่างประเทศโดยรอบ ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างมิตรภาพกับไต้หวันในเชิงลึกควบคู่ไปด้วย
Mr. Bütikofer ชี้ว่า สมาชิกของ IPAC เกิดจากการรวมตัวของสมาชิกรัฐสภา 29 ประเทศ ซึ่งเป็นการประสานความร่วมมือในแบบข้ามพรรค โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความทรหดของประชาธิปไตย พร้อมทั้งร่างนโยบายที่มีผลบังคับใช้ มาสกัดกั้นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และพฤติกรรมที่ขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ รวมไปถึงความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอำนาจ ภายใต้การชักนำโดยรัฐบาลปักกิ่ง โดยสมาชิก IPAC ประกอบด้วย เบลเยี่ยม เช็กเกีย คอซอวอ เนเธอร์แลนด์ ยูเครน อังกฤษและเยอรมนี เป็นต้น ซึ่งล้วนมาจากพรรคการเมืองที่แตกต่างกัน เฉกเช่นเดียวกับสโลแกนของ EU ที่ว่า “ความหลากหลายในองค์กรเดียวกัน”
Mr. Bütikofer กล่าวอีกว่า แม้สมาชิก IPAC จะมีความขัดแย้งกันในความคิดเห็นประเด็นทางการเมือง แต่ทุกคนต่างเชื่อมั่นว่า ประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องประสานความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว เพื่อต่อต้านกระแสการแผ่ขยายของลัทธิอำนาจนิยม โดยกลยุทธ์ขั้นพื้นฐานของ IPAC คือ การแสวงหาความร่วมมือในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย โดยวัตถุประสงค์ของการเดินทางมาเยือนไต้หวันของคณะตัวแทนในครั้งนี้ ก็เพื่อแสดงพลังสนับสนุนและความสามัคคีอันหนักแน่นที่ IPAC มีต่อไต้หวัน ซึ่งภารกิจการสนับสนุนไต้หวัน ก็ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักของ IPAC ด้วยเช่นกัน
Mr. Bütikofer กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายประการที่ 2 ของการเดินทางมาเยือนไต้หวันของกลุ่ม IPAC ก็เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ในการส่งผ่านคำขอบคุณที่ไต้หวันให้การสนับสนุนต่อยูเครนอย่างหนักแน่น ช่วงที่ผ่านมา เราจะสังเกตเห็นได้ว่า ประชาชนชาวยูเครนมุ่งมั่นในการปกป้องอำนาจอธิปไตยของตนเอง รวมถึงขอบเขตพรมแดนประเทศที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ในการต่อกรกับรัสเซียที่ก่อสงครามขึ้นอย่างไร้ซึ่งความรู้สึกผิดชอบชั่วดี อีกสิ่งที่พวกเราตระหนักเห็นในช่วงระหว่างสงคราม คือ การที่รัฐบาลปักกิ่งให้การสนับสนุนสงครามครั้งนี้อย่างเปิดเผย Mr. Bütikofer ย้ำว่า พวกเราจะไม่มีวันลืมเลือนรัฐบาลและประชาชนชาวไต้หวัน ที่ยืนเคียงข้างยูเครนอย่างหนักแน่น หากเมื่อใดที่ไต้หวันมีความต้องการ พวกเราก็พร้อมที่จะยืนเคียงข้างไต้หวันด้วยเช่นกัน
Mr. Bütikofer แถลงว่า IPAC ให้คำมั่นว่าจะยึดมั่นในหลักการที่จะให้ความช่วยเหลือในการทำให้จีนหยุดพฤติกรรมคุกคามอย่างแข็งกร้าวที่มีต่อไต้หวัน โดยเราคาดหวังที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในด้านต่างๆ กับไต้หวันในเชิงลึก โดยเฉพาะด้านการค้าและการลงทุน ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงเรียกร้องให้ EU - ไต้หวัน เปิดการเจรจาด้านการลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนระหว่างไต้หวัน – EU (EU-Taiwan Bilateral Investment Agreement , BIA) โดยเร็ว ตลอดจนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศ เช่น องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ INTERPOL) และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) เป็นต้น
Mr. Bütikofer เผยอีกว่า คณะสมาชิกล้วนแต่คาดหวังให้ประชาธิปไตยของไต้หวัน มีอนาคตที่แข็งแกร่ง ภาคภูมิใจในตนเอง เปี่ยมด้วยพลังสดใสและความเจริญรุ่งเรือง โดย Mr. Bütikofer ยังใช้โอกาสนี้ในการแสดงความขอบคุณต่อปธน.ไช่ฯ และรัฐบาลไต้หวัน สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่น ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสมายืนแสดงความคิดเห็นอยู่ตรงนี้ พร้อมนี้ Mr. Bütikofer ยังคาดหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายร่วมประสานสามัคคีในการยกระดับสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรมทางสังคม ระบบนิเวศ และหน้าที่ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงประชาธิปไตยและหลักธรรมาภิบาล เพื่อสรรค์สร้างอนาคตที่เปี่ยมด้วยความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น