กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 5 พ.ย. 65
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 7 ประเทศ หรือกลุ่ม G7 ในปีนี้ จัดขึ้นที่เมืองมึนส์เทอร์ (Münster) ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 4 พ.ย. โดยได้มีการประกาศแถลงการณ์ร่วมหลังเสร็จสิ้นการประชุม ซึ่งสาระสำคัญของแถลงการณ์ เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน พร้อมสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ตลอดจนเรียกร้องให้จีนเคารพต่อหลักการระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ที่ระบุไว้ภายใต้ “กฎบัตรสหประชาชาติ” ด้วยการหลีกเลี่ยงการคุกคาม การข่มขู่และการใช้กำลัง อีกทั้งเนื้อความในแถลงการณ์ยังได้คัดค้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ด้วยการใช้กำลังอาวุธและวิธีการข่มขู่ กต.ไต้หวันรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ได้รับทราบสาระสำคัญของแถลงการณ์ฉบับข้างต้น โดยได้แสดงความขอบคุณต่อประเทศสมาชิก G7 ที่ร่วมธำรงรักษาสันติภาพในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงการให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่น
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 จัดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีน ประกาศในการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ว่า “จะไม่ให้คำมั่นว่าจะล้มเลิกการใช้อาวุธ” ส่งผลให้ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศและความมั่นคงในสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ประสบกับสถานการณ์ความท้าทายที่รุนแรง ประกอบกับสถานการณ์การบุกโจมตียูเครนของรัสเซีย ที่ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลากว่า 8 เดือน โดยแถลงการณ์ระบุว่า การละเมิดหลักการพื้นฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลและมีผลผูกพันทางกฎหมาย ในด้านการประสานความร่วมมืออย่างสันติ อำนาจอธิปไตย เสรีภาพในการตัดสินใจและบูรณภาพแห่งดินแดน เป็นสิ่งที่บุคคลทั่วไปไม่สามารถยอมรับได้ โดยกลุ่มประเทศสมาชิก G7 ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการตรวจสอบผู้ที่ละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศอย่างเด็ดขาด ตลอดจนยืนยันหนักแน่นถึงจิตสำนึกแห่งความสามัคคีของกลุ่ม G7 และการธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากลอย่างหนักแน่น รวมไปถึงการการปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชนทุกคน
แถลงการณ์ข้างต้นยังมีเนื้อความที่ร่วมประณามพฤติกรรมการรุกล้ำดินแดนยูเครนของรัสเซีย ที่ก่อให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนอาหารและพลังงานทั่วโลกอย่างรุนแรงในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย ยังแสดงให้เห็นถึงจุดยืนในความสำคัญของการรักษาเสรีภาพและการเปิดกว้างในพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก โดยกลุ่ม G7 ยังได้จับตาให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้และประเทศโดยรอบ พร้อมทั้งต่อต้านสถานการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงพฤติกรรมที่เป็นการทำลายสันติภาพในภูมิภาคและความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล โดยกลุ่ม G7 ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีน ให้ความเคารพต่อหลักการการระงับข้อพิพาทด้วยสันติวิธี ที่ระบุไว้ภายใต้ “กฎบัตรสหประชาชาติ” ด้วยการหลีกเลี่ยงการคุกคาม การข่มขู่และการใช้กำลังอาวุธ
ในปีนี้ เยอรมนีรับตำแหน่งเป็นประธานหมุนเวียนของกลุ่ม G7 โดยได้จัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศขึ้น ณ เมืองมึนส์เทอร์ ซึ่งเป็นสถานที่ร่วมลงนาม “สัญญาสันติภาพเวสต์ฟาเลีย” (Peace of Westphalia) ซึ่งมีนัยยะทางประวัติศาสตร์อันเนื่องมาจากเป็นสถานที่ที่ยุติสงคราม 30 ปี และเป็นสถานที่ที่จัดตั้งกลไกความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศ แสดงให้เห็นถึงนัยยะแห่งความคาดหวังที่จะกลับสู่สันติภาพและความสงบเรียบร้อยทั่วโลกอีกครั้ง ไต้หวันในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกที่มีความรับผิดชอบในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก จะจับมือกับประเทศสมาชิก G7 และมิตรประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันในสหภาพยุโรป เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก รวมไปถึงความทรหดของประชาธิปไตยทั่วโลก ให้คงอยู่ต่อไป