กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 9 พ.ย. 65
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาในกรุงไทเป นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้แสดงปาฐกถาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ใน “การประชุม 3 ฝ่ายระหว่างไต้หวัน สหรัฐฯ และยุโรป ครั้งที่ 5” ที่จัดโดยกองทุนเยอรมัน มาร์แชลล์ (German Marshall Fund, GMF) ซึ่งเป็นคลังสมองของทางการวอชิงตัน โดยการประชุมในครั้งนี้ได้จัดขึ้นในสถานที่จริง ณ กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยี่ยม โดยในระหว่างการแสดงปาฐกถา รมว.อู๋ฯ ได้ชี้ว่า ขณะนี้ ทั่วโลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสันติภาพ เสถียรภาพ และสถานภาพในปัจจุบันที่ได้กำลังเผชิญหน้ากับการถูกทำลาย ซึ่งสาเหตุมาจากการประสานความร่วมมือระหว่างรัสเซีย - จีน กลุ่มประเทศประชาธิปไตยควรสามัคคีกันเพื่อสกัดกั้นภัยคุกคามเหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรม และส่งเสริมให้พลังประชาธิปไตยสามารถเอาชนะอำนาจเผด็จการให้ได้ โดยในการประชุมครั้งนี้ มีนักการเมือง นักวิชาการและองค์กรสื่อต่างๆ จากไต้หวัน สหรัฐฯ และประเทศในทวีปยุโรป เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก โดยได้รับเสียงตอบรับเชิงบวกจากประชาคมโลกอย่างล้นหลาม
โดยรมว.อู๋ฯ ยังชี้ว่า สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ทำให้ประเทศในทวีปยุโรปประจักษ์ว่ารัสเซียได้ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ รุกล้ำไปสู่ประเทศทางฝั่งตะวันตก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีความสอดคล้องกับกรณีที่จีนได้แผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการไปสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ด้วยการซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ไปจนถึงทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก อีกทั้งยังตีความญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ในทิศทางที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ถือเป็นการดูถูกและมีเจตนาทำลายความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล โดยคำแถลงการณ์อันแข็งกร้าวในรายงานหลังเสร็จสิ้นการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ 20 ยังส่งผลให้ทั่วโลกเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัจจัยแห่งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคด้วย
ในระหว่างการตอบข้อซักถามของผู้เข้าร่วมการประชุม รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันและยูเครนต่างเป็นประเทศในแนวหน้าที่ต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ จากสถานการณ์ในยูเครน ส่งผลให้ชาวไต้หวันรู้สึกฮึกเหิมเมื่อได้เห็นความกล้าหาญในการปกป้องประเทศของชาวยูเครนเป็นอย่างมาก โดยรัฐบาลของไต้หวันจะเร่งยกระดับแสนยานุภาพทางกลาโหมที่ขาดความสมดุลและศักยภาพการป้องกันประเทศด้วยตนเอง ตลอดจนคาดหวังที่จะเห็นประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ร่วมให้การสนับสนุนประชาธิปไตยของไต้หวันอย่างหนักแน่นต่อไป
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน – ลิทัวเนีย ที่ยังคงดำเนินหน้าต่อไปอย่างยั่งยืน ถือเป็นต้นแบบที่ดีที่พิสูจน์ให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย โดยในอนาคต ไต้หวันจะเร่งแสวงหาแนวทางการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้ากับกลุ่มประเทศยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก อย่างสโลวัก เช็กเกียและโปแลนด์ด้วยเช่นกัน