ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
โรงเรียนนายพราน ของซาคินู อุทิศแด่ภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวัน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-11-21

บ้านนายพราน เป็นสถานที่สำหรับสมาชิกครอบครัวที่เป็นเพศชาย

บ้านนายพราน เป็นสถานที่สำหรับสมาชิกครอบครัวที่เป็นเพศชาย
 

ยารองหลง ซาคินู (Ahronglong Sakinu) เจ้าของรางวัลวรรณกรรมมากมายหลายรางวัล ซึ่งมีงานเขียนชิ้นเอกมากมาย อาทิ “The Sage Hunter” “ผู้เผยความลับ” และ “ทะเลของคุณตา” อีกทั้งยังเป็นนักเขียนชนเผ่าพื้นเมืองที่มีชื่อปรากฏอยู่ในตำราเรียนบ่อยครั้งที่สุด เนื่องจากงานเขียนของเขาถูกมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กำหนดให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักศึกษาในภาควิชาที่เกี่ยวกับภาษาจีน ทำให้ซาคินูกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในไต้หวันหลังจากไปโด่งดังในต่างประเทศ

 

อาชีพหลักของซาคินูคือตำรวจป่าไม้ แต่คลุกคลีและมีบทบาทสำคัญในวงการวัฒนธรรมในฐานะนักเขียนชนเผ่าพื้นเมือง มาเป็นเวลายาวนาน  ตลอดช่วงยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา เขายึดมั่นและศรัทธาในวัฒนธรรมความเชื่อของชนเผ่าพายวัน (Paiwan) นอกจากกลับสู่ภูมิลำเนาเดิม จัดตั้งชมรมเยาวชนในชุมชนแล้ว ยังได้ริเริ่มเปิดโรงเรียนนายพรานแห่งแรกในไต้หวันเพื่อทดลองที่จะก้าวไปสู่เส้นทางใหม่

ค่ำคืนหนึ่งในเดือนสี่ตามปฏิทินจีน ที่หมู่บ้านลาเหลาหลัน (Lalaulan) ตำบลไท่หม่าหลี่ เมืองไถตง มีผู้คนมากหน้าหลายตาหลั่งไหลกันเข้ามามากผิดปกติ พวกเขาเหล่านั้นล้วนมุ่งหน้าไปยังบ้านของซาคินู แต่ละคนต่างขะมักเขม้นอยู่กับภารกิจของตนเองด้วยท่าทีที่เบิกบาน เหมือนกับกำลังจะจัดงานใหญ่ที่ได้ร่วมกันวางแผนและเตรียมการมาเป็นเวลายาวนาน

เมื่อสังเกตอย่างละเอียดจึงพบว่า ข้างบ้านของซาคินูมีอาคารที่สร้างด้วยไม้ 3 หลังตั้งอยู่ ที่แท้สถานที่แห่งนี้คือ พื้นที่ส่วนรวมของตระกูลเตอเปส (Tepes) ที่ซาคินูเป็นผู้นำ ประกอบด้วย “บ้านนักบุกเบิก” ซึ่งใช้เป็นสถานที่สำหรับพบปะสังสรรค์กันของคนในตระกูลและกิจกรรมที่เปิดให้สาธารณชนมีส่วนร่วม “บ้านนายพราน” ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกซ้อมและสังสรรค์กันของชายหนุ่ม และ “บ้านสตรี” ที่อนุญาตให้เข้าออกได้เฉพาะสตรีและยังใช้เป็นห้องทำงานของโรงเรียนนายพรานด้วย และวันรุ่งขึ้นจะเป็นวันสำคัญเพราะจะมีการจัดพิธีแบ่งทรัพย์สินของคนในตระกูลและพิธีเฉลิมฉลองการเสร็จสิ้นการก่อสร้าง

สิ่งที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของผู้คนก็คือ สมาชิกในตระกูลของซาคินูไม่ได้จำกัดเฉพาะญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตเท่านั้น แต่กลับเป็นผู้คนที่มาจากทั่วทุกสารทิศ นอกจากชนเผ่าพายวันแล้ว ยังมีชนเผ่าพูยูมา (puyuma)  เผ่าอามิส (Amis) เผ่าทาโรโกะ (Taroko หรือ Truku) และชาวฮั่นอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีครอบครัวชาวออสเตรเลียที่แต่งงานกับคนในตระกูลอีกประมาณ 7 ครอบครัว และคนโสดอีก 5 คน

“หลายวันก่อน ผมนั่งอยู่ที่นี่ มองไปที่งานแกะสลักภายในบ้าน รอบด้านเต็มไปด้วยความมืดสลัว แล้วจู่ ๆ ก็มีแสงสว่างส่องมาที่หน้าประตูบ้านพอดี ทันใดนั้นน้ำตาของผมก็ไหลพรากออกมา มีความรู้สึกเหมือนที่นี่เปี่ยมล้นไปด้วยปาฏิหาริย์จากสิ่งศักดิ์สิทธิ์” ซาคินูเล่าให้คนในครอบครัวฟัง “ผมยิ้มอยู่คนเดียวราวกับคนบ้า แล้วก็พูดกับตัวเองว่า นายทำสำเร็จแล้วนะ แม้ไม่มีใครเข้าใจนาย แต่นายเข้าใจตัวเองก็พอแล้ว”
 

สมาชิกในครอบครัวของตระกูลเตอเปสมาจากต่างเชื้อชาติ ต่างกลุ่มชน และต่างสถานที่

สมาชิกในครอบครัวของตระกูลเตอเปสมาจากต่างเชื้อชาติ ต่างกลุ่มชน และต่างสถานที่
 

การสร้างจิตสำนึกและความใฝ่ฝันของชนเผ่าพื้นเมือง

“ตนเองเข้าใจในตัวเองก็เพียงพอแล้ว” เป็นวลีที่ซาคินูนำมาใช้เตือนตนเองได้ดีที่สุด ตลอดช่วงเวลาที่ยาวนานถึง 20 กว่าปี แม้ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักเขาในฐานะนักเขียนชนเผ่าพื้นเมือง แต่นอกเหนือจากงานเขียนแล้ว ซาคินูยังมีความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ที่จะสร้างชุมชนยูโทเปีย (ชุมชนแห่งอุดมคติ) ให้กลายเป็นความจริง

ปณิธานนี้เกิดจากภูมิหลังในการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างพิเศษของเขานั่นเอง เนื่องจากซาคินูถือกำเนิดและเติบโตขึ้นในหมู่บ้านลาเหลาหลัน ซึ่งในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน มีการย้ายชนเผ่าอามิสและชนเผ่าพายวันให้มาอาศัยอยู่รวมกันในหมู่บ้านแห่งนี้ ชนเผ่าพายวันซึ่งเป็นกลุ่มที่เปราะบางอยู่แล้ว ประกอบกับการแลกเปลี่ยนและหลอมรวมกับชนเผ่าอื่นทำให้วัฒนธรรมของชนเผ่าพายวันสูญหายไปอย่างรวดเร็ว แม้ผู้เฒ่าผู้แก่ยังสามารถพูดภาษาพายวันได้ แต่กลับสวมเครื่องแต่งกายของชนเผ่าอามิส ร่วมฉลองเทศกาลและประเพณีของชนเผ่าอามิส ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือมีคนในเผ่าจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ว่าตนเองเป็นชาวพายวัน

ในยุคทศวรรษที่ 1990 เกิดกระแสการเคลื่อนไหวเพื่อชนเผ่าพื้นเมือง  ในขณะนั้นซาคินูเพิ่งจบการศึกษาจากวิทยาลัยตำรวจไต้หวัน (Taiwan Police College) ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตํารวจอยู่ในกรุงไทเป อิทธิพลจากกระแสแห่งยุคสมัยทำให้เขาเริ่มเกิดความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับสถานภาพของตนเอง นอกจากศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองแล้ว ซาคินูยังอาศัยคำบอกเล่าของบิดาและผู้เฒ่าประจำเผ่า รวมถึงเดินทางไปสำรวจด้วยตนเอง ประกอบกับใช้ความเพียรพยายามในการแลกเปลี่ยนกับผู้ที่ทำงานด้านวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมือง  จากนั้นรวบรวมเรื่องราวความเป็นมาของชนเผ่าทีละเล็กละน้อย โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ เหล่านี้ จนสามารถฟื้นฟูสถานภาพของคนในชนเผ่าได้

 

วิสัยทัศน์ของบุตรนายพรานล่าสัตว์

ในช่วงเวลาดังกล่าว ซาคินูสามารถซึมซับแก่นแท้แห่งวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองได้อย่างรวดเร็ว อาทิ ความรู้สึกนอบน้อมถ่อมตนและความเคารพต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย การมีปฏิสัมพันธ์และการสื่อสารกับธรรมชาติเพื่อหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน การแสดงเกี่ยวกับภาษากายในระหว่างการล่าสัตว์  เป็นต้น นอกจากเป็นสิ่งที่ขาดหายไปจากสังคมในยุคปัจจุบันแล้ว ยังเป็นค่านิยมสากลอันล้ำค่าอีกด้วย

“ค่านิยมหลักของไต้หวันคืออะไร?”  ซาคินูชอบถามผู้อื่นด้วยคำถามนี้เสมอ คำตอบที่ได้รับก็มักจะแตกต่างกันไป สำหรับตัวเขาเองได้คำตอบจากวัฒนธรรมมารดาธิปไตย

“ประการที่ 1 ต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยความดี” เขากล่าวว่า ความปรารถนาดีและความคิดที่ดีเป็นรากฐานของสรรพสิ่ง ดังนั้นเขาจึงปฏิบัติต่อผู้อื่นเสมือนดั่งปฏิบัติต่อตนเอง

“ประการที่ 2 ต้องมีสุนทรียศาสตร์” ซาคินูให้นิยามสุนทรียศาสตร์ว่า ไม่ได้หมายถึง ผลงานศิลปะเพียงอย่างเดียว แต่จะเป็นการให้ความสำคัญกับมนุษย์เป็นหลัก ทุกอากัปกิริยาสะท้อนถึงมารยาทที่ดีงามและจิตวิญญาณอันสูงส่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์พิเศษ  เทียบเคียงได้กับจิตวิญญาณแห่งอัศวินในยุโรปยุคกลางและจิตวิญญาณแห่งซามูไรในญี่ปุ่น

“ประการสุดท้าย ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับผืนแผ่นดินและสิ่งแวดล้อม” 70% ของพื้นที่ไต้หวันเป็นภูเขา แม้ประชาชนจะชื่นชอบการปีนเขา แต่กลับไม่มีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับภูเขาและขาดการปฏิสัมพันธ์กับธรรมชาติ ซาคินูกล่าวว่า ทัศนคติที่มีต่อธรรมชาติเกี่ยวพันกับ “style , sense , class” ของคนไต้หวัน

วิสัยทัศน์เหล่านี้ ไม่เพียงกลายเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของเขาเท่านั้น แต่ยังได้สะสมและเพิ่มพูนขึ้นจนกลายเป็นวัฒนธรรม โดยผ่านวิถีการดำรงชีวิต และท้ายที่สุดซาคินูยังหวังว่า จะอุทิศมรดกทางวัฒนธรรมนี้ให้แก่ประชาคมโลก

โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นลูกหลานในตระกูลนายพรานล่าสัตว์ การที่มีทัศนคติเช่นนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ คุณปู่ของซาคินู เคยเป็นหัวหน้าทีมล่าสัตว์ประจำหมู่บ้าน ต้องแบกรับภาระความรับผิดชอบอันใหญ่หลวงในการหาเนื้อสัตว์มาเลี้ยงคนทั้งหมู่บ้าน เขาเล่าว่า "เรารู้มาตั้งแต่เด็กแล้วว่า องค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ของนายพรานจะจัดอยู่ในอันดับรองลงมา แต่สิ่งสำคัญประการแรกก็คือ ต้องเรียนรู้ที่จะแบ่งปัน”
 

ในฐานะที่เป็นบุตรของนายพราน ซาคินูได้นำเอาจิตวิญญาณแห่งการแบ่งปัน มาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

ในฐานะที่เป็นบุตรของนายพราน ซาคินูได้นำเอาจิตวิญญาณแห่งการแบ่งปัน มาประยุกต์ใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด
 

จากหนังสือ 1 เล่มถึงโรงเรียน 1 แห่ง

ด้วยเหตุนี้เอง นอกจากปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว ซาคินูยังทุ่มเทตนเองให้แก่งานด้านวัฒนธรรมอย่างเต็มที่

ปี ค.ศ.2002 มีการตีพิมพ์ผลงานเขียนเล่มที่ 2 ที่มีชื่อว่า “ผู้เผยความลับ” หนังสือเล่มนี้ได้บรรยายถึงเรื่องราวของซาคินูที่เดินตามรอยเท้าของบิดาซึ่งเป็นนายพราน กลับเข้าป่าไปล่าสัตว์ นอกจากหนังสือเล่มนี้จะกลายเป็นผลงานชิ้นโบแดงของเขาแล้ว ยังกลายเป็นพื้นฐานในการก่อตั้งโรงเรียนนายพราน และงาน
อื่นๆที่ตามมาภายหลังอีกด้วย

โรงเรียนนายพราน จริง ๆ แล้วเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับอะไร ซาคินูและนักเรียนของเขาต่างไม่ต้องการเปิดเผยมากนัก เรารู้แต่เพียงว่า มีหลักสูตร 4 ระดับตั้งแต่ง่ายไปถึงยาก ใช้เวลาเรียนประมาณ 3-5 วัน เปิดสอนในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ห้องเรียนของพวกเขาที่ใกล้ที่สุดคือบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำไท่หม่าหลี่ และไกลออกไปจนถึงผืนป่าในพื้นที่เมืองฮัวเหลียนและไถตง

สำหรับรูปแบบการเรียนการสอนจะแตกต่างไปจากการศึกษาทั่วไปที่จะให้ความสำคัญในเรื่องขององค์ความรู้  แต่ในทางตรงกันข้ามโรงเรียนแห่งนี้จะใช้วิธีฝึกฝนด้านจิตวิญญาณเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น หลักสูตรชั้นต้นจะให้นักเรียนได้เรียนรู้การเดินท่ามกลางความมืด ซึ่งก็เหมือนกับในหนังสือ “ผู้เผยความลับ” ที่ได้เขียนถึงตอนที่ซาคินูตามบิดาของเขาเข้าไปในป่าเพื่อล่าสัตว์ ก็ต้องเริ่มต้นจากการเรียนรู้วิธีเดินป่า อาศัยการฝึกซ้อมเช่นนี้มาช่วยให้สามารถเอาชนะความหวาดกลัว ปลุกศักยภาพที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวให้ตื่นขึ้นมา สำหรับสิ่งที่ผู้คนทั่วไปห่วงกังวล อาทิ การแยกแยะพันธุ์พืชป่า หรือการเอาชีวิตรอดในป่า ในช่วงระหว่างการฝึกฝนก็จะมีโอกาสได้เรียนรู้เองโดยธรรมชาติ

 

หมู่บ้านกลางหมู่บ้าน

ในช่วงเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา คาดว่ามีคนมาเข้าเรียนในโรงเรียนนายพรานมากกว่า 100 คน และเข้าเรียนหลักสูตรครบทั้ง 4 ระดับประมาณ 10 กว่าคน อีกทั้งมีคนจำนวนไม่น้อยที่เห็นพ้องกับแนวความคิดของซาคินู ตัดสินใจที่จะอยู่เคียงข้างเขาและผูกสัมพันธ์เป็นพี่น้องที่ใกล้ชิดสนิทสนมกัน พวกเขาเรียกซาคินูว่าพี่ชาย ส่วนซาคินูก็เรียกพวกเขาว่าน้องชายและน้องสาว

หลังผ่านการฝึกฝน นักเรียนเหล่านี้นอกจากได้รับการยกสถานะจากนักเรียนกลายเป็นสมาชิกคนสำคัญขององค์กรแล้ว เนื่องจากมีเจตนารมณ์และความชื่นชอบที่ตรงกัน ภายใต้การนำของซาคินู พวกเขาจึงยังมีการติดต่อกันอย่างใกล้ชิดเสมอมา อีกทั้งยังเคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อชนเผ่าพื้นเมือง อย่างเช่น “การเคลื่อนไหวเพื่อส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ 28 ก.พ.” และ “เทศกาล Sing For Taiwan” เป็นต้น อีกทั้งยังได้เดินทางไปร่วมงานเทศกาล Cordillera Day ที่เกาะลูซอนของฟิลิปปินส์เป็นประจำทุกปี เพื่อทำการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษาออสโตรนีเซียนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในสายตาของบุคคลภายนอก โรงเรียนนายพรานเป็นเพียงแค่องค์กรแห่งหนึ่งเท่านั้น แต่เนื่องจากมีจิตวิญญาณเดียวกัน พวกเขาจึงมีความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกันยิ่งกว่าญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเสียอีก โรงเรียนนายพรานแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนเป็นหมู่บ้านที่เกิดขึ้นใหม่กลางหมู่บ้านของชนเผ่าพื้นเมืองนั่นเอง
 

ซาคินูให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เขาได้ปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเองที่อยู่บนภูเขา โดยคาดหวังว่า ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าจะกลายเป็นผืนป่าใหญ่ที่เขียวชอุ่มและอุดมสมบูรณ์

ซาคินูให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เขาได้ปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเองที่อยู่บนภูเขา โดยคาดหวังว่า ในอีกหลายสิบปีข้างหน้าจะกลายเป็นผืนป่าใหญ่ที่เขียวชอุ่มและอุดมสมบูรณ์
 

เส้นทางชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองในยุคปัจจุบัน

หลายคนเข้าใจผิดว่า การเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของซาคินู มีจุดมุ่งหมายเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมและประเพณีดั้งเดิม แต่ในความเป็นจริงแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ก็เหมือนกับตระกูลของเขาที่เชื่อมโยงเข้าหากันด้วยจิตวิญญาณและอุดมคติ ไม่ได้ตีกรอบจำกัดเพียงแค่ความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น  ในทำนองเดียวกันบ้าน 3 หลังที่กล่าวไปข้างต้น ก็ไม่ใช่บ้านแผ่นหินแบบดั้งเดิมของชนเผ่าพายวัน แต่ได้ผสมผสานลักษณะบ้านสไตล์ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เข้าด้วยกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยและความสวยงามควบคู่กันไป  และก็เหมือนกับเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้วที่ซาคินูเสนอแนวคิดเรื่อง “โรงเรียนนายพราน” นอกจากเน้นเรื่องการฝึกอบรมของกลุ่มสตรีแล้ว เครื่องแบบนักเรียนก็มีต้นกำเนิดมาจากเครื่องแต่งกายของชนเผ่าพายวัน แต่มีการปรับเปลี่ยนจากเดิมที่หนักอึ้ง ซับซ้อนและหรูหรา มาเป็นเบาบางและเรียบง่าย จากสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะเห็นได้ว่า เส้นทางที่ซาคินูเลือกเดินเป็นเส้นทางใหม่ที่คนรุ่นก่อนไม่กล้าคิดและไม่กล้าที่จะเดิน

วันที่ 26 พ.ค. เป็นวันที่ซาคินูก่อตั้งครอบครัวตระกูลเตอเปส (Tepes) ขึ้น ชื่อตระกูล “เตอเปส” เป็นชื่อที่ซาคินูตั้งขึ้นมาเอง ในภาษาพายวันมีความหมายว่า “ต้นไม้ใบหญ้าเจริญงอกงาม รากต้นไม้หยั่งลึกและเกี่ยวกระหวัดรัดรึงกัน ผืนดินมีความอุดมสมบูรณ์ เป็นสถานที่ที่ทุกคนต้องการแย่งชิงมาเป็นของตนเอง” แต่ผืนแผ่นดินที่มีความอุดมสมบูรณ์และงดงามแห่งนี้ ซาคินูไม่ได้ต้องการเก็บครอบครองไว้แต่เพียงผู้เดียว  เขาได้นำเอาจิตวิญญาณแห่งการแบ่งปันของนายพรานมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ซาคินูกล่าวปิดท้ายว่า “ผมเป็นแค่นักเขียนตัวเล็ก ๆ และตำรวจชั้นผู้น้อยคนหนึ่งเท่านั้น  หากสิ่งที่คุณทำมันเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก คุณจะมองเห็นคุณค่าแห่งการอุทิศตนและการทุ่มเทของคุณที่บ่มเพาะออกมาเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ซึ่งสามารถนำมาส่งมอบเป็นของขวัญอันล้ำค่าให้แก่ไต้หวัน”

 

เพิ่มเติม

โรงเรียนนายพราน ของซาคินู อุทิศแด่ภูมิปัญญาของชนเผ่าพื้นเมืองไต้หวัน