ทำเนียบประธานาธิบดีและคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (NDC) วันที่ 17 พ.ย. 65
การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ประจำปี 2022 เตรียมเปิดฉากขึ้น ณ กรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 18 - 19 พ.ย. โดยดร.จางจงโหมว ผู้ก่อตั้งบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้นำไต้หวัน ได้เดินทางไปถึงประเทศไทยในช่วงบ่ายของวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยก่อนออกเดินทาง ดร.จางฯ ได้กล่าวสุนทรพจน์ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติเถาหยวน ระบุว่า การเดินทางในครั้งนี้ ตนคาดหวังที่จะบรรลุเป้าหมายตามที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มอบหมายไว้ โดยจะอาศัยทุกโอกาสในการร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้นำประเทศอื่นๆ ที่มีส่วนร่วมในการประชุม เพื่อนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น
ดร.จางฯ แถลงว่า ในระหว่างที่เข้ารับมอบหมายภารกิจนั้น ปธน.ไช่ฯ ได้ชี้แนะแนวทางที่หวังจะให้ตนส่งสารไปสู่ผู้นำในกลุ่มประเทศเอเปค ซึ่งตนจะมุ่งมั่นดำเนินการตามการมอบหมายที่ได้รับในครั้งนี้ ด้วยการแสดงความคิดเห็นในมุมมองของไต้หวันให้มากที่สุด นอกจากนี้ ดร.จางฯ ยังมีโอกาสร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรดาผู้นำประเทศในเวทีการประชุม และการประชุมรอบนอกอย่างไม่เป็นทางการ โดยดร.จางฯ หวังว่าจะใช้โอกาสทั้งหมดนี้ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบรรดาผู้นำ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่มากที่สุดในการประชุมที่จัดขึ้นในสถานที่จริง หลังจากที่เว้นช่วงมาเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี
โดยคณะตัวแทนที่เดินทางไปไทยในครั้งนี้ ยังประกอบด้วยนายกงหมิงซิน ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ และนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting, AMM) ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) พร้อมทั้งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของไต้หวันเข้าร่วมการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก (AELM) ที่เตรียมจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18 – 19 พ.ย. นี้ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้ดร.จางจงโหมว ในการแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมของเอเปคด้วย
โดยนายกงฯ ได้ชี้แจงในเวทีการแลกเปลี่ยนครั้งที่ 1 ของการประชุม AMM ภายใต้หัวข้อ “สมดุล การยอมรับซึ่งกันและกัน และการเติบโตอย่างยั่งยืน” (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth) ดังนี้
1.เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดจากภาวะเงินเฟ้อ ห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางพลังงาน ไต้หวันยังคงมุ่งมั่นในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนทำหน้าที่เป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ของประชาคมโลก โดยไต้หวันได้มุ่งมั่นในการอุทิศคุณประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมให้แก่เอเปคอย่างกระตือรือร้นเสมอมา โดยในปีนี้ ไต้หวันได้บริจาคเงินจำนวน 2.2 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ให้แก่เอเปค เพื่อให้การสนับสนุนต่อโครงการด้านความร่วมมือแบบข้ามแวดวงที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมทางดิจิทัล การบริหารจัดการขยะทางทะเล และผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจ (SMEs) เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการวิจัยและวิเคราะห์ให้แก่เอเปค
2.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ส่งผลให้เกิดการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้รัฐบาลและผู้ประกอบการภาคธุรกิจ มุ่งแสวงหาระบบห่วงโซ่อุปทานที่มีความยืดหยุ่น มั่นคงและโปร่งใส โดยการย้ายฐานธุรกิจที่ก้าวสู่การเป็นต้นแบบเหล่านี้ จำเป็นต้องยึดมั่นในหลักการของประสิทธิภาพทางดิจิทัลและแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วย “สิ่งแวดล้อม”(Environment) “สังคม” (Social) และ “ธรรมาภิบาล” (Governance)
3.นวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยีดิจิทัล มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน โดยไต้หวันมุ่งมั่นในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพแรงงาน เพื่อคว้าโอกาสงานด้านดิจิทัล เมื่อต้องเผชิญกับการผันผวนทางเศรษฐกิจที่รุนแรงเช่นในปัจจุบัน ไต้หวันได้มุ่งให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทั้งกลุ่มแรงงานรวมถึงสตรีและกลุ่มด้อยโอกาส ทั้งนี้ เพื่อแสวงหาความสมดุลในการพัฒนาสังคม และการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจแบบยอมรับซึ่งกันและกัน
4.เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ และแนวโน้มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (NET-ZERO) ในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไต้หวันจึงได้เสนอแนะ “แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050” รวม 4 มิติ พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรม ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงยินดีที่ประเทศไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพในปีนี้ ได้ผลักดัน “เป้าหมายกรุงเทพฯ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว” (Bangkok Goals on Bio-Circular-Green (BCG) Economy) พร้อมทั้งเรียกร้องให้เอเปควางแผนและดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเพื่อบรรลุเป้าหมาย “แผนปฏิบัติการวิสัยทัศน์ปุตราจายาของเอเปค ปี 2040” (APEC Putrajaya Vision 2040) โดยเร็ววัน
หลังจากการแสดงความคิดเห็นของนายกงฯ เจ้าภาพผู้จัดการประชุมเอเปคได้แสดงความขอบคุณต่อไต้หวันสำหรับการบริจาคเงินสนับสนุนภารกิจที่เกี่ยวข้องของเอเปค พร้อมทั้งยังเห็นด้วยต่อแนวทางการบรรลุเป้าหมาย NET – ZERO ที่เสนอโดยรัฐบาลไต้หวัน ซึ่งระบุถึงการเปลี่ยนผ่านสู่ความยุติธรรมและการไม่ละทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง อันสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยอมรับซึ่งกันและกันของเอเปคในปีนี้
หัวข้อหลักของการประชุมเอเปคที่จัดโดยไทย ประจำปีนี้คือ “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” (Open. Connect. Balance) โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนหลังยุคโควิด – 19 ด้วยการผลักดันการพัฒนาทางเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ผ่านการบูรณาการทรัพยากรภาคสังคมและกลไกต่างๆ มาบรรลุเป้าหมายแห่งความสมดุลถ้วนหน้า เพื่อใช้สำหรับการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคต่อไป
นอกจากนี้ นายกงฯ ยังได้ร่วมพูดคุยหารือกับ Ms. Michaela Browning รองประธานคณะกรรมการบริหารบริษัท Google ฝ่ายกิจการรัฐบาลในภูมิภาคเอเชีย – แปซิฟิกและนโยบายสาธารณะ ในช่วงรอบนอกของการประชุม โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเชิงกว้างในประเด็นการเสริมสร้างศักยภาพฮาร์ดพาวเวอร์ด้านความยืดหยุ่นในระบบห่วงโซ่อุปทาน และศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ด้านสภาพแวดล้อมการทำงานในประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนสามารถประกอบอาชีพภายในประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป