คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชน วันที่ 23 พ.ย. 65
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสถาบันวิจัยนิติศาสตร์ภายใต้สภาวิจัยแห่งชาติไต้หวัน ได้ร่วมจัด “การประชุมนานาชาติด้านความท้าทายทางสิทธิมนุษยชนและการป้องกันโรคระบาดผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ” ในวันที่ 23 พ.ย. ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วย นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นางซูลี่ฉวง สมาชิกสภานิติบัญญัติ และดร.หลินอวี้หรง สมาชิกสภาตรวจสอบ และนักวิชาการประจำสภาวิจัยแห่งชาติ รวมถึงแขกผู้มีเกียรติต่างชาติ ซึ่งวัตถุประสงค์ของการประชุมในครั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ องค์การนอกภาครัฐและหน่วยงานวิชาการ ร่วมพิจารณาทบทวนผลกระทบและข้อจำกัดต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของภาคประชาชน ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมาเป็นส่วนหนึ่งในกลไกการสกัดกั้นโรคระบาดในระหว่างสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เพื่อนำมาใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบายด้านการป้องกันโรคระบาดต่อไป อันจะนำไปสู่การสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนต่อไปในภายภาคหน้า
ตลอดระยะเวลา 2 ปีมานี้ การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 นำมาซึ่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อในแง่ของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในระหว่างสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรง รัฐบาลจากนานาประเทศได้ใช้เทคโนโลยีการติดตามตัวผ่านระบบสื่อสาร มาบริหารและจำกัดขอบเขตการดำเนินชีวิตในประจำวันของผู้คน ทั้งนี้ เพื่อให้การสกัดกั้นโรคระบาดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการปกป้องสุขภาพของประชาชน รัฐบาลไต้หวันจึงได้ผลักดันมาตรการป้องกันโรคระบาดที่ครอบคลุม อาทิ การซื้อหน้ากากอนามัยแบบยืนยันตนด้วยบัตรประกันสุขภาพ การลงทะเบียนขอรับวัคซีนแบบยืนยันตน การตรวจสอบการกักตัวผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และการตรวจสอบร่องรอยคลัสเตอร์ เป็นต้น
นางสาวเฉินจวี๋ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. ปี 2020 สหประชาชาติ (UN) องค์การอนามัยโลก (WHO) และสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) รวม 16 องค์การระหว่างประเทศ ได้ประกาศ “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการตอบสนองการคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด - 19” (Joint Statement on Data Protection and Privacy in the COVID-19 Response) โดยเน้นย้ำว่า การรวบรวม การประยุกต์ใช้และการบริการจัดการข้อมูลทางสถิติเหล่านี้ มีส่วนช่วยในการจำกัดขอบเขตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการเร่งฟื้นฟูเยียวยาหลังวิกฤตสถานการณ์ โดยเฉพาะการติดตามตัวผู้สัมผัสใกล้ชิดผ่านระบบดิจิทัล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกอย่างควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ตลอดจนพิจารณาถึงหลักการการคุ้มครองข้อมูลและความเป็นส่วนตัว รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศ ในระหว่างการบังคับใช้มาตรการ ทั้งนี้ก็เพื่อลดผลกระทบที่นโยบายจะส่งผลต่อหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน
นางสาวเฉินจวี๋ เน้นย้ำว่า เมื่อเผชิญหน้ากับยุคโควิด – 19 พวกเรายังคงต้องพิจารณาถึงผลกระทบและความท้าทายที่นโยบายป้องกันโรคระบาดมีต่อสิทธิมนุษยชน พร้อมคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นรัฐบาลแสวงหาจุดสมดุลที่ดีที่สุดระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและหลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้วิกฤตสาธารณสุขทั่วโลก ทั้งนี้ เพื่อมุ่งมั่นในการเสริมสร้างหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชนต่อไป