ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
หลังสถานการณ์โควิด – 19 หน่วยงานภาครัฐของไต้หวัน - ไทย ได้จัดการประชุมเสวนาในสถานที่จริงเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดบริบทแห่งความร่วมมือทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคีที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในอนาคต
2022-12-01
New Southbound Policy。หลังสถานการณ์โควิด – 19 หน่วยงานภาครัฐของไต้หวัน - ไทย ได้จัดการประชุมเสวนาในสถานที่จริงเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดบริบทแห่งความร่วมมือทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคีที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในอนาคต (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)
หลังสถานการณ์โควิด – 19 หน่วยงานภาครัฐของไต้หวัน - ไทย ได้จัดการประชุมเสวนาในสถานที่จริงเป็นครั้งแรก เพื่อเปิดบริบทแห่งความร่วมมือทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคีที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันในอนาคต (ภาพจากกระทรวงเศรษฐการ)

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 29 พ.ย. 65
 
เนื่องด้วยผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด – 19 ส่งผลให้ “การประชุมเสวนาด้านความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ระหว่างไต้หวัน - ไทย ครั้งที่ 6” ถูกเว้นช่วงมาเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยในปีนี้ได้กลับมาเปิดฉากขึ้น ณ กรุงไทเป เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยการประชุมเสวนาในครั้งนี้ นายหลินเฉวียนเหนิง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนเจ้าหน้าที่กระทรวงเศรษฐการและกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมเสวนาเชิงอุตสาหกรรม กับนายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรมไทย และเจ้าหน้าที่หน่วยงานย่อยรวมถึงนักวิชาการของสภาวิจัย ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมของไทย
 
ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญของไต้หวันภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่เสมอมา ตามข้อมูลสถิติ มูลค่าการค้าระหว่างไต้หวัน – ไทย ในปี 2021 แตะระดับสูงถึง 12,980 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 13 ของไต้หวัน โดยในช่วงที่ผ่านมา หลายบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง บริษัท New Kinpo Group , Quanta Computer และ Delta Electronics ได้ทยอยวางรากฐานการลงทุนในไทย เฉพาะในปี 2021 โครงการลงทุนในไทยของผู้ประกอบการไต้หวัน มีจำนวนรวม 13 รายการ คิดเป็นมูลค่ารวม 340 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทย แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน - ไทย ที่นับวันยิ่งทวีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น
 
รมช.หลินฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ขณะนี้ ไต้หวันกำลังเร่งผลักดันพลังงานสีเขียว ภายใต้นโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งมีการพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับกลไกการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green:BCG) ซึ่งเป็นนโยบายของไทยในปี 2021 โดยในด้านรถพลังงานไฟฟ้า บริษัท Foxconn ของไต้หวันและบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทย ได้ร่วมทุ่มงบประมาณจำนวน 1,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ จัดตั้งบริษัทรถพลังงานไฟฟ้าที่มีชื่อว่า Horizon Plus ซึ่งได้วางแผนที่จะจัดสร้างโรงงานผลิตรถพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของไทย เพื่อร่วมมือกับฝ่ายไทยในการสรรค์สร้างระบบนิเวศด้านรถพลังงานไฟฟ้า หลายปีมานี้ ไต้หวัน - ไทย เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกันในอุตสาหกรรมด้านต่างๆ โดยรูปแบบความร่วมมือในอนาคตจะมุ่งเน้นไปยังทิศทางเดียวกัน ท่ามกลางกระแสอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่และการวางรากฐานทางเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุน ไต้หวันได้เร่งผลักดันระบบห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยความทรหด เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการในการย้ายฐานการผลิต ซึ่งจะเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมโยงและการแลกเปลี่ยนทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – ไทย ให้เกิดความแน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น
 
นายธีระยุทธ วานิชชัง กล่าวขณะปราศรัยว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่ทั้งสองฝ่ายมีมติเห็นชอบที่จะจัดตั้งความสัมพันธ์ทางความร่วมมือรูปแบบใหม่ ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ อาทิ อุตสาหกรรมรถบัสพลังงานไฟฟ้า การวิจัยและพัฒนาความปลอดภัยในการขับขี่รถพลังงานไฟฟ้า เศรษฐกิจหมุนเวียน อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์พลังงานไฟฟ้า และแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน เชื่อว่าจะนำมาซึ่งผลประโยชน์ที่เพิ่มพูนให้แก่อุตสาหกรรมแบบทวิภาคีต่อไป
 
การประชุมเสวนาในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายได้พิจารณาทบทวนสถานการณ์ความคืบหน้าในการบังคับใช้แผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือทางภาคอุตสาหกรรม ระหว่างไต้หวัน - ไทย และสถานการณ์การดำเนินงานตามบันทึกข้อตกลง (MOU) หลายรายการ โดยทั้งสองฝ่ายได้ประสานความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างกันบนแพลตฟอร์มความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมที่ร่วมจัดตั้งขึ้นโดยไต้หวัน - ไทย ในช่วงที่ผ่านมา อาทิ ด้านผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มุ่งเน้นอาหารเพื่อสุขภาพอย่างโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ส่วนในด้านสิ่งทอ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมผลักดันมาตรฐานและเครื่องหมายรับรองคุณภาพสินค้าสิ่งทอ สำหรับในด้านการฝึกอบรมทางวิชาชีพและอาชีวศึกษา จะมุ่งผลักดันไปสู่ “หุ่นยนต์” เป็นอันดับต้นๆ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นอุตสาหกรรมรถพลังงานไฟฟ้าและเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น
 
การประชุมเสวนาด้านความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ระหว่างไต้หวัน – ไทย ได้ก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มการเสวนาและการเสริมสร้างความเชื่อมโยง เพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงอุตสาหกรรม ระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวัน - ไทย โดยในอนาคต ทั้งสองฝ่ายจะเร่งผลักดันความร่วมมือทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคีอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการแลกเปลี่ยนด้านโอกาสธุรกิจ เพื่อร่วมเปิดบริบทความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันต่อไป ตลอดจนจับมือกันรุกขยายตลาดเกิดใหม่ต่อไป