กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 2 ธ.ค. 65
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “งานราตรีฉลองวันชาติ วันพ่อแห่งชาติ และวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ที่จัดโดย “สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป)” (Thailand Trade and Economic Office, TTEO)
รมช.เถียนฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศที่ประกาศผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดนที่เร็วที่สุดในยุคหลังโควิด – 19 พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเยือนท่องเที่ยวในไทย ตลอดจนชี้แนะให้ประชาชนชาวไทย ปรับตัวให้เข้ากับ “วิถีชีวิตแบบใหม่” (New Normal) อย่างกระตือรือร้น จึงจะสามารถจัด “การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก” (APEC) ประจำปีนี้ได้อย่างราบรื่น โดยความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - ไทยเป็นไปอย่างแน่นแฟ้น กลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันไต้หวันหลายรายได้ตั้งรกรากในไทย เพื่อขานรับต่อ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ของไต้หวัน พร้อมทั้งขานรับต่อ “นโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว” และ “นโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” ของไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งส่งเสริมการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน - ไทย ควบคู่ไปกับการการแลกเปลี่ยนของเจ้าหน้าที่ระหว่างสองประเทศ ให้กลับสู่ภาวะก่อนเกิดสถานการณ์โรคโควิด – 19 โดยรมช.เถียนฯ เชื่อว่า ความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - ไทย จะมุ่งสู่การพัฒนาที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
นายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) กล่าวระหว่างปราศรัยว่า ความร่วมมือระหว่างไต้หวันกับมูลนิธิโครงการหลวงของไทย มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 50 ปี โดยในปีนี้ ผอญ.ทวีเกียรติ ได้มีโอกาสเดินทางเยือนฟาร์มฝูโซ่วซานในนครไทจง เพื่อเป็นสักชีพยานในการก่อตั้งฐานความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างไต้หวัน – ไทย ซึ่งเป็นการปูรากฐานทางเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน รวมไปถึงการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจ (SMEs) ระหว่างสองประเทศ โดยหลังจากที่ไต้หวันผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดนอย่างเป็นทางการแล้ว นักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่เดินทางเข้าสู่เขตอาณาไต้หวัน ก็คือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทย ประกอบกับการเดินทางเข้ามาตั้งรกรากในไต้หวันของกลุ่มแรงงานไทย รวมไปถึงนักศึกษาชาวไทยที่เข้าศึกษาในสถาบันระดับอุดมศึกษาของไต้หวัน ต่างแสดงให้เห็นถึศักยภาพในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย ผอญ.ทวีเกียรติฯ เชื่อว่า ภายใต้การผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ของไต้หวัน จะเป็นการส่งเสริมให้ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน - ไทย ได้รับการพัฒนาในเชิงลึกอย่างต่อเนื่องต่อไป
ไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายหลักภายใต้ “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” ที่มีความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับไต้หวันอย่างแนบแน่น เฉพาะในปี 2021 มูลค่าการค้าระหว่างไต้หวัน - ไทย สูงถึง 15,166 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และตราบจนปัจจุบัน มีผู้ประกอบการไต้หวันที่ตั้งรกรากเพื่อประกอบธุรกิจในไทย เป็นจำนวนกว่า 5,000 ราย ถือเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของไทย นอกจากนี้ ไต้หวัน – ไทยยังได้เสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกในด้านแรงงาน การเกษตร และการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง อาทิ ความร่วมมือทางเทคโนโลยีด้านการพัฒนาผลผลิตทางการเกษตร ระหว่างไต้หวันและมูลนิธิโครงการหลวงของไทย เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ชาวเกษตรกรในพื้นที่ภูเขาทางภาคเหนือของไทย ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ตามความคาดหมาย โดยมูลนิธิโครงการหลวงจะนำรูปแบบความร่วมมือที่ประสบความสำเร็จเช่นนี้ ขยายไปสู่กลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาการเกษตรในระดับภูมิภาคต่อไป