กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 5 ธ.ค. 65
เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัด “การประชุมสุดยอดผู้นำองค์การนอกภาครัฐ NGO ประจำปี 2022” โดยมีนายอวี๋ต้าเหลย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยได้เชิญ Dr. Otmar Kloiber เลขาธิการแพทยสมาคมโลก (The World Medical Association, WMA) ซึ่งถือเป็นสมาคมแพทย์ที่มีความสำคัญระดับโลก มาทำหน้าที่เป็นผู้ร่วมบรรยายในหัวข้อพิเศษ เพื่อแสดงจุดยืนว่าด้วยการให้สนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในระบบการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก นอกจากนี้ ยังมีการจัดการประชุมย่อยขึ้นอีกหลายหัวข้อ อาทิ การร่วมแบ่งปันประสบการณ์ขององค์การนอกภาครัฐระหว่างประเทศ (INGO) ที่เข้าจัดตั้งสำนักงานย่อยในไต้หวันในปีนี้ และยังมีการจัดเวทีอภิปรายว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครนขององค์การนอกภาครัฐของไต้หวัน และการแบ่งปันประสบการณ์การผลักดันความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน เป็นต้น โดยในที่ประชุม มีเจ้าหน้าที่ NGO เจ้าหน้าที่รัฐบาล ผู้ประกอบการและผู้เชี่ยวชาญจากทุกแวดวง ทั้งในและต่างประเทศ เข้าร่วมเป็นจำนวนมากว่า 200 คน ส่งผลให้บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างคึกคัก
รมช.อวี๋ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า หลายปีมานี้ อำนาจเผด็จการได้แผ่ขยายอิทธิพลสู่ภายนอกเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีนี้ รัสเซียได้เข้ารุกรานยูเครน และการที่รัฐบาลปักกิ่งดำเนินการฝึกซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวันเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ได้นำมาซึ่งความท้าทายและภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยและเสรีภาพทั่วโลก ท่ามกลางช่วงเวลาที่สำคัญเช่นนี้ กิจกรรมการประชุมในปีนี้จึงได้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “สันติภาพและความเท่าเทียม : ความท้าทายและโอกาสที่เกิดจากการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในหลักธรรมาภิบาลโลก” โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวัน เพื่อมุ่งเสริมสร้างสันติภาพและความเท่าเทียมอย่างกระตือรือร้น ทั้งนี้ เพื่อยกระดับความทรหดของประชาสังคมในภาพรวม และเพื่อแสดงให้ประชาคมโลกประจักษ์ถึงหลักการ “ไต้หวันช่วยได้” รวมไปถึงศักยภาพที่เพิ่มพูนของภาคประชาสังคมในไต้หวัน
Dr.Kloiber ได้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “แนวทางการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในระบบการแพทย์และสาธารณสุขโลกของ WMA” (The WMA and its Engagement for the Inclusion and Participation of Taiwan) โดยเน้นย้ำให้เห็นถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบและความไม่เท่าเทียมที่เกิดจากการกีดกันไต้หวันให้อยู่นอกระบบการแพทย์และสาธารณสุขโลก เนื่องจากไต้หวันเป็นฐานการแพทย์และผู้ส่งมอบความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่สำคัญระดับสากล และเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ การติดต่อเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วมใน “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนมากของ WMA ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกในอนาคตต่อไป
ในการประชุมย่อยภายใต้หัวข้อ “การจัดตั้งเครือข่ายประชาธิปไตยและสันติภาพทั่วโลก” มุ่งเน้นไปที่การจัดตั้งสำนักงานย่อยของ INGO ในไต้หวันเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยได้ติดต่อเชิญตัวแทนเจ้าหน้าที่ INGO ที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ เช่น “สถาบันระหว่างประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยม” (International Republican Institute, IRI) ของสหรัฐฯ “สถาบันนโยบายด้านความมั่นคงในภูมิภาคยุโรป” (European Values Center for Security Policy, EVC) ของสาธารณรัฐเช็ก “องค์กรสิทธิมนุษยชนในกรุงมาดริด” (Safeguard Defenders) ของสเปน และ “มูลนิธิเพื่อการฟื้นฟูเทอร์รา” (Terra Renaissance) ของญี่ปุ่นมาร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์ของการจัดตั้งสำนักงานย่อยในไต้หวัน พร้อมทั้งคาดหวังที่จะเห็นการส่งเสริมให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นศูนย์รวมการพัฒนาของ INGO และเป็นฐานผลักดันประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน สันติภาพและความยุติธรรม ให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองต่อไป
สำหรับในการประชุมภายใต้หัวข้อ “ประสบการณ์จากหน่วยงาน NGO ไต้หวันที่เข้าปฏิบัติภารกิจให้ความช่วยเหลือในยูเครน” มีตัวแทนจาก “มูลนิธิพุทธฉือจี้” และ “มูลนิธิ World Taiwan Foundation” ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การประสานความร่วมมือ ระหว่างหน่วยงาน NGO และกระทรวงการต่างประเทศ ในภารกิจการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมอย่างเร่งด่วนแก่ยูเครน หลังจากการปะทุของสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน ด้วยการประสานความร่วมมือโดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ส่งผลให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงธารน้ำใจที่ไต้หวันส่งมอบให้ยูเครนด้วยความจริงใจ ส่วนการประชุมย่อยภายใต้หัวข้อ “การแบ่งปันประสบการณ์ความเสมอภาคทางเพศของไต้หวัน” ได้เชิญ “มูลนิธิ The Garden of Hope Foundation” และ “สมาคม Taiwan Equality Campaign” ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงาน NGO ที่มุ่งดำเนินภารกิจในประเด็นที่เกี่ยวกับเพศสถานะ เข้าร่วมแบ่งปันแนวทางและขั้นตอนการบรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางเพศ ตลอดจนร่วมอภิปรายหารือกันในประเด็นความท้าทายที่ประสบในเวทีนานาชาติ
โดยการประชุมสุดยอดผู้นำ NGO ที่จัดโดยกต.ไต้หวันในปีนี้ ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว ซึ่งกต.ไต้หวันหวังที่จะใช้แพลตฟอร์มการเจรจารูปแบบสาธารณะที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี มาเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคม รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างหน่วยงาน NGO ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเสริมสร้างศักยภาพในการเข้าร่วมในเวทีระดับสากลของหน่วยงาน NGO ของไต้หวันอย่างต่อเนื่อง