ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) แห่งอังกฤษ โดยกล่าวว่า รัฐบาลไต้หวันจับตาต่อสถานการณ์การประท้วงล่าสุดในจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ไต้หวันกลายเป็นแพะรับบาป
2022-12-08
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) แห่งอังกฤษ โดยกล่าวว่า รัฐบาลไต้หวันจับตาต่อสถานการณ์การประท้วงล่าสุดในจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ไต้หวันกลายเป็นแพะรับบาป (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) แห่งอังกฤษ โดยกล่าวว่า รัฐบาลไต้หวันจับตาต่อสถานการณ์การประท้วงล่าสุดในจีนอย่างใกล้ชิด เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ไต้หวันกลายเป็นแพะรับบาป (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 7 ธ.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Helen Davidson ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) แห่งอังกฤษ สาขาออสเตรเลีย ที่ประจำการอยู่ในไต้หวัน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ทางการเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ในหัวข้อ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) : เมื่อเผชิญหน้ากับการประท้วงเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด จีนอาจพุ่งเป้ามาที่ไต้หวัน ทำให้ไต้หวันกลายเป็นแพะรับบาป” (Taiwan foreign minister: China may scapegoat us over Covid protests) ซึ่งได้รับความสนใจและเสียงตอบรับเป็นอย่างดีในวงกว้าง
 
ต่อกรณีที่เมื่อไม่นานมานี้ ประชาชนชาวจีนทำการประท้วงต่อต้านมาตรการควบคุมโควิด – 19 ที่เข้มข้นของรัฐบาลจีน รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า เมื่อประชาชนในประเทศได้รับผลกระทบและถูกจำกัดสิทธิ การออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิที่ตนพึงมีเป็นเรื่องปกติ ไต้หวันและกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกต่างให้การสนับสนุนการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานด้านเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชน รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันนอกจากจะจับตาเฝ้าระวังต่อสถานการณ์ความเคลื่อนไหวล่าสุดอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังรู้สึกเป็นกังวลว่า หากสถานการณ์การประท้วงในจีนทวีความรุนแรงมากขึ้น รัฐบาลปักกิ่งอาจพุ่งเป้ามาที่ไต้หวัน ด้วยการใส่ร้ายว่าไต้หวันเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดความระส่ำระส่ายภายในประเทศจีน ซึ่งเป็นการปั้นแต่งวิกฤตที่มาจากภายนอก เพื่อหันเหความสนใจของประชาชนในประเทศ
 
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า การข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารของจีน ทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ ในปี 2020 เครื่องบินรบของจีนได้รุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน เป็นจำนวน 380 ลำ ในปี 2021 เพิ่มขึ้นเป็น 972 ลำ มาจนถึงปัจจุบันในปี 2022 จีนได้เพิ่มความถี่ในการรุกล้ำเข้าสู่เขต ADIZ ของไต้หวันกว่า 2,700 ลำ นอกจากนี้ รัฐบาลจีนยังได้อาศัยกลยุทธ์พื้นที่สีเทา อาทิสงครามไซเบอร์ มาข่มขู่ไต้หวัน อีกทั้งยังตีความญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ในทิศทางที่บิดเบือนจากความเป็นจริง ด้วยการอ้างว่าปัญหาของไต้หวันเป็นปัญหาการเมืองภายในของจีน นอกจากนี้ เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลปักกิ่งยังได้ใช้ข้ออ้างจากการที่นางแนนซี เพโลซี (Nancy Pelosi) ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ เดินทางเยือนไต้หวัน มาทำการซ้อมรบครั้งใหญ่ในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวัน ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันและในภูมิภาคทวีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น
 
ต่อกรณีการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รมว.อู๋ฯ วิเคราะห์ว่า การที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำสาธารณรัฐประชาชนจีน ครองตำแหน่งประธานาธิบดีติดต่อกันเป็นสมัยที่ 3 อาจกระทำการใดๆ ที่เป็นการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมากยิ่งขึ้น และอาจก่อการข่มขู่และท้าทายไต้หวันด้วยกำลังทหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก รัฐบาลจีนได้ตั้งเงื่อนไขภายใต้ “หลักการจีนเดียว” ส่งผลให้การเจรจาระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันขาดช่วงไปโดยปริยาย นอกจากนี้ ช่องทางการแลกเปลี่ยนหารือระหว่างภาคประชาชนยังถูกปิดกั้น อันเนื่องมาจากการควบคุมของลัทธิอำนาจนิยม เมื่อไม่มีการสื่อสารระหว่างกันก็อาจส่งผลกระทบต่อการประเมินหรือกำหนดนโยบายที่ถูกต้องของรัฐบาลจีน ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลไต้หวันจึงต้องการเรียกร้องให้จีนตระหนักว่า ไต้หวันเป็นรัฐเอกราชที่มีระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ทิศทางการพัฒนาในอนาคตของไต้หวัน ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของภาคประชาชนชาวไต้หวัน
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า เชื่อว่า รัฐบาลออสเตรเลียก็เฝ้าจับตาต่อสถานการณ์การพัฒนาภูมิรัฐศาสตร์เช่นเดียวกัน  สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันได้กลายเป็นจุดสนใจของประชาคมโลก โดยความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีน ไม่เพียงแต่เฉพาะเจาะจงในไต้หวันเท่านั้น อันจะเห็นได้จากเมื่อช่วงที่ผ่านมา จีน - หมู่เกาะโซโลมอนได้ร่วมลงนามในความตกลงว่าด้วยความมั่นคงระหว่างกัน โดยรัฐบาลจีนมีวัตถุประสงค์เพื่อทะลวงพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 (First Island Chain) ด้วยการแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ อีกทั้งทวีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดกับญี่ปุ่นในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออก ตลอดจนจัดตั้งฐานทัพบริเวณทะเลจีนใต้ เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนได้รับการจับตาให้ความสำคัญจากรัฐบาลออสเตรเลีย ในระหว่างที่รัฐบาลออสเตรเลียเร่งฟื้นความสัมพันธ์กับจีนนั้น ทั้งรัฐบาล ภาคประชาชนและรัฐสภาของออสเตรเลีย ต่างก็ให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นควบคู่ไปด้วย โดยไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์และเพิ่มการไปมาหาสู่กับออสเตรเลียให้มากขึ้น เพื่อร่วมกันเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่มาจากจีนต่อไป
 
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่เป็นไปอย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น อันจะเห็นได้จากการที่คณะตัวแทนอังกฤษทยอยเดินทางเยือนไต้หวันอย่างต่อเนื่อง โดยรมว.อู๋ฯ คาดหวังว่า ในอนาคตจะได้มีโอกาสต้อนรับคณะตัวแทนจากคลังสมอง เจ้าหน้าที่รัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาอังกฤษ ซึ่งความร่วมมือเช่นนี้เป็นรูปแบบการสนับสนุนซึ่งกันและกันระหว่างไต้หวัน - อังกฤษที่ดีที่สุด