ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 ธ.ค. 65
เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “วันแห่งสิทธิมนุษยชนโลก ปี 2022” โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า นัยยะแห่งการผลักดันความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นผลอันเนื่องมาจากพวกเราเชื่อมั่นว่า การจดจำประวัติศาสตร์และทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต จะสามารถทำให้เราหลีกเลี่ยงการทำผิดพลาดในแบบเดิม อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความสามัคคีของสังคม สร้างความแข็งแกร่งให้ประชาธิปไตย และทำให้ไต้หวันมีพัฒนาการอย่างไม่หยุดยั้ง โดยปธน.ไช่ฯ ย้ำว่า ภารกิจการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน จะมีกระทรวงต่างๆ ของสภาบริหารที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ดำเนินการ
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า วันที่ 10 ธ.ค. ตรงกับวันสิทธิมนุษยชนโลก โดยช่วงเวลานี้ของทุกปี ปธน.ไช่ฯ รู้สึกขอบคุณสำหรับคำเชิญของกระทรวงวัฒนธรรมและพิพิธภัณฑ์สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ทำให้พวกเราได้มารวมตัวกัน เพื่อร่วมพิจารณาทบทวนถึงการพัฒนาหลักประกันของสิทธิมนุษยชนไต้หวันในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา
ปธน.ไช่ฯ กล่าวอีกว่า ต่อภารกิจการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน คณะกรรมการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ยื่นส่งรายงานข้อสรุปการดำเนินภารกิจไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีนี้ เพื่อรายงานผลสำเร็จในการบรรลุตามเป้าหมายในขั้นต้น นอกจากนี้ “การประชุมว่าด้วยการผลักดันความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ที่สภาบริหารรับหน้าที่เป็นประธาน ก็ได้จัดการประชุมครั้งแรกขึ้นเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นว่า ภารกิจการสร้างความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน จะอยู่ภายใต้การบูรณาการและการกำกับดูแลของสภาบริหารที่ถือเป็นหน่วยงานนระดับบน
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ในปัจจุบัน พวกเราจำเป็นต้องผลักดันภารกิจการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์ในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุม ภายใต้พื้นฐานเดิมที่จัดตั้งขึ้นโดยคณะกรรมการฯ ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลได้มุ่งมั่นในการจัดตั้ง“มูลนิธิฟื้นฟูสิทธิมนุษยชน” โดยในอนาคตจะจัดการส่งมอบทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ภายใต้การดูแลของรัฐบาล คืนให้แก่ผู้ประสบภัยทางการเมือง และทดแทนให้เป็นจำนวนสองเท่า จากกองทุนจำนวนนี้ จะสามารถส่งเสริมให้เหล่าผู้สูงอายุที่เคยตกเป็นเหยื่อทางการเมือง ได้รับการดูแลที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญจากคณะกรรมการฯ ในการดูแลสมาชิกครอบครัวของผู้ประสบภัยและควบคุมดูแลให้หน่วยงานสำหรับให้บริการยังสามารถดำเนินการต่อไป พร้อมทั้งผลักดันภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาและการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยและสมาชิกในครอบครัว โดยขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ได้ทำการพิจารณาร่าง “แผนปฏิบัติการด้านการศึกษาว่าด้วยการส่งเสริมความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” เพื่อให้แนวคิดความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน หยั่งรากลึกสู่ประชาชนในรุ่นต่อๆ ไป
ปธน.ไช่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการประสานความร่วมมือระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมและกระทรวงยุติธรรม นอกจากจะสามารถบรรลุภารกิจการส่งเสริมค่านิยมด้านสิทธิมนุษยชนในรั้วสถาบันการศึกษาแล้ว ยังแผ่ขยายไปสู่สังคมการศึกษาในแง่มุมต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนทั่วทุกหมู่เหล่าร่วมจดจำประสบการณ์ความเลวร้ายในอดีต เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ข้อผิดพลาดด้านการคุกคามสิทธิมนุษยชน เกิดขึ้นอีกซ้ำสอง
ปธน.ไช่ฯ เผยว่า ตราบจนปัจจุบัน คณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้จัดตั้งขึ้นเป็นเวลา 2 ปีแล้ว โดยในช่วงที่ผ่านมานี้ นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนฝรั่งเศส เพื่อร่วมลงนาม “ความตกลงระหว่างภาคี 4 ประเทศ” โดยก่อนหน้านี้ อนุสัญญาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอาทิ “ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน” (Universal Declaration of Human Rights, UDHR) และ “หลักการปารีส” ต่างก็ได้มีการร่วมลงนามในฝรั่งเศส โดยในอนาคต รัฐบาลฝรั่งเศสจะคัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเข้าประจำการในคณะกรรมการกิจการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวัน เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ในการช่วยให้พวกเราสามารถบรรลุภารกิจการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และการเสริมสร้างประชาธิปไตยให้เป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ นานาประเทศทั่วโลกต่างก็จับตาให้ความสนใจต่อการตรวจสอบและการบรรลุภารกิจด้านสิทธิมนุษยชนในระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยหลายวันมานี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้จัด “การประชุมว่าด้วยสิทธิมนุษยชนสำหรับแรงงานไต้หวัน” เพื่อร่วมอภิปรายในประเด็นดังกล่าว
ปธน.ไช่ฯ แสดงความคิดเห็นว่า ไต้หวันมีบทบาทที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เราจึงจำเป็นต้องสร้างหลักประกันในการยกระดับสิทธิมนุษยชนในระบบห่วงโซ่อุปทาน เพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจก้าวทันกระแสโลก ตลอดจนเป็นการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันระดับนานาชาติไปในตัว โดยพวกเราจะมุ่งสู่เป้าหมายนี้ต่อไปในอนาคต
ปธน.ไช่ฯ กล่าวด้วยว่า ประชาธิปไตยและเสรีภาพที่พวกเราได้รับในทุกวันนี้ ได้มาจากการเสียสละชีวิตและเสรีภาพของชาวไต้หวันในยุคก่อน ซึ่งพวกเขาต้องการผลักดันให้ไต้หวันก้าวสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย จากการเผยให้เห็นถึงข้อเท็จจริงในอดีต ยิ่งเป็นการย้ำเตือนให้เราต้องกล้าที่จะเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ ตลอดจนร่วมพิจารณาทบทวนถึงแรงกดดันและความเลวร้ายที่เกิดจากการปกครองด้วยลัทธิอำนาจนิยม