ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันจัดงานเลี้ยงรับรองคณะตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรป (INTA) โดยคาดหวังที่จะประสานความร่วมมือในการเสริมสร้างความทรหดด้านประชาธิปไตย ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
2022-12-20
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันจัดงานเลี้ยงรับรองคณะตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรป (INTA) โดยคาดหวังที่จะประสานความร่วมมือในการเสริมสร้างความทรหดด้านประชาธิปไตย ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันจัดงานเลี้ยงรับรองคณะตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรป (INTA) โดยคาดหวังที่จะประสานความร่วมมือในการเสริมสร้างความทรหดด้านประชาธิปไตย ให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 19 ธ.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัดงานเลี้ยงรับรองคณะตัวแทนคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศแห่งรัฐสภายุโรป (INTA) โดยรมว.อู๋ฯ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณรัฐสภายุโรปที่ให้การสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตยของไต้หวันเสมอมา อันจะเห็นได้จากตลอด 2 ปีที่ผ่านมา รัฐสภายุโรปได้มีมติผ่านรายงานและญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวัน รวมกว่า 25 ฉบับ เพื่อร่วมแสดงความห่วงใยต่อไต้หวันที่ถูกข่มขู่ด้วยกำลังทหารจากจีน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนไต้หวัน – สหภาพยุโรป (EU) ร่วมลงนามความตกลงทวิภาคีด้านการลงทุนระหว่างไต้หวัน – EU (EU-Taiwan Bilateral Investment Agreement, BIA) โดยเร็ววัน ตลอดจนผลักดันการเสริมสร้างความร่วมมือในระบบห่วงโซ่อุปทาน ควบคู่ไปกับการสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น รัฐสภายุโรปได้เน้นย้ำว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันมีส่วนเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของ EU โดยรัฐสภายุโรปได้ให้การสนับสนุนที่แข็งแกร่งต่อไต้หวันอย่างเป็นรูปธรรม รัฐบาลและประชาชนชาวไต้หวันรู้สึกขอบคุณด้วยใจจริง
 
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ระยะนี้ รัฐบาลจีนประกาศระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำของไต้หวัน รวมไปถึงสุราและเครื่องดื่มที่ผลิตในไต้หวัน ซึ่งที่ผ่านมา จีนเคยจำกัดการนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลีย แคนาดา ลิทัวเนียและประเทศสมาชิกของ EU หลายครั้งแล้ว เมื่อเผชิญหน้ากับการที่ประเทศระบอบเผด็จการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจเพื่อบีบบังคับประเทศต่างๆ  ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนในการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน – EU และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า จากสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ส่งผลให้ทั่วโลกตระหนักเห็นถึงการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศระบอบเผด็จการ เพื่อต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงความสงบเรียบร้อยที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ซึ่งพฤติกรรมการรุกล้ำดินแดนของประเทศระบอบเผด็จการได้สร้างภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อเสรีภาพ ประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ไต้หวัน – EU ต่างยืนอยู่แนวหน้าในการรับมือกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เพื่อธำรงรักษาเสรีภาพและประชาธิปไตย ไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับประเทศลัทธิอำนาจนิยม ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค รวมไปถึงความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศด้านเสรีภาพและประชาธิปไตย ให้คงอยู่สืบไป
 
Ms. Anna-Michelle Asimakopoulou รองประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าระหว่างประเทศ กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวัน – EU ต่างเผชิญหน้ากับความท้าทายเชิงภูมิรัฐศาสตร์จากประเทศระบอบเผด็จการ และการใช้ปัจจัยทางการค้าเป็นอาวุธ โดย EU มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อการเผชิญหน้าต่อภัยคุกคามในแนวหน้าของไต้หวัน โดยเมื่อไม่นานมานี้ รัฐสภายุโรปได้ผ่านญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันด้วยคะแนนเสียงที่เป็นเอกฉันท์ โดยเนื้อความในญัตติระบุว่า ประชาชนชาวไต้หวันมีสิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตของตนเอง ซึ่งในปัจจุบัน EU ได้มุ่งมั่นดำเนิน “มาตรการต่อต้านการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ” (ACI) เพื่อป้องกันมิให้จีนดำเนินการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ด้วยการระงับการนำเข้าสินค้าจากลิทัวเนีย เกิดขึ้นอีก โดยรองประธาน Asimakopoulou เน้นย้ำว่า การเดินทางมาเยือนไต้หวันของคณะตัวแทน INTA ในครั้งนี้ มีนัยสำคัญต่อทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างมาก จึงคาดหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายเร่งเตรียมการก่อนเปิดการเจรจาเพื่อลงนามความตกลงด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน – EU โดยเร็ววัน ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – EU ในเชิงลึกต่อไป