ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ “i24NEWS” ของอิสราเอล เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยร่วมมือสกัดอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เพื่อรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพให้คงอยู่ต่อไป
2022-12-30
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ “i24NEWS” ของอิสราเอล เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยร่วมมือสกัดอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เพื่อรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพให้คงอยู่ต่อไป (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ) 
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สถานีโทรทัศน์ “i24NEWS” ของอิสราเอล เรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยร่วมมือสกัดอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ เพื่อรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพให้คงอยู่ต่อไป (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ) 

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 ธ.ค. 65
 
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Yoseph Haddad ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ “i24NEWS” ของอิสราเอล โดยรมว.อู๋ฯ ได้วิเคราะห์ในประเด็นการเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีนของไต้หวันในปัจจุบัน และคุณค่าของไต้หวันในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านรายการข่าวของสถานีโทรทัศน์ข้างต้น เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 28 ธ.ค. ที่ผ่านมา ตามเวลาในอิสราเอล ซึ่งได้รับความสนใจและกระแสตอบรับในวงกว้างทั้งในอิสราเอลและกลุ่มประเทศภาษาอาหรับ
 
สำหรับความคาดหวังต่อความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน - อิสราเอล หลังคณะรัฐบาลอิสราเอลขึ้นดำรงตำแหน่ง รมว.อู๋ฯ ระบุว่า ไต้หวันมีความสนใจที่จะพัฒนาและสร้างความสัมพันธ์กับอิสราเอลให้แนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันและอิสราเอลได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือบนพื้นฐานเดิมที่มีอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงในการสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกระหว่างกัน โดยทั้งนอกจากทั้งสองฝ่ายจะร่วมยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพแล้ว ยังมีข้อผลประโยชน์ทางการค้าและเศรษฐกิจร่วมกันด้วย ดังนั้น การลงทุนทางเศรษฐกิจและการค้าจึงเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อิสราเอล นอกจากนี้ ภาคประชาชนของไต้หวัน – อิสราเอลยังเดินทางไปมาหาสู่กันอย่างใกล้ชิด อันนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนทางการท่องเที่ยว วัฒนธรรมและการศึกษา เป็นต้น
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา อิสราเอลได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งภายใต้กรอบความร่วมมือ “Global Cooperation and Training Framework (GCTF)” เช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เพื่อร่วมจัดการประชุมนานาชาติร่วมกับไต้หวัน ซึ่งได้มีการจัดการประชุมขึ้นภายใต้ประเด็นหัวข้อเศรษฐกิจเชิงดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ การแพร่กระจายข่าวปลอม และความมั่นคงด้านกิจการทางทะเล เป็นต้น จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลของทั้งสองฝ่ายจะเร่งสร้างความร่วมมือเชิงลึกในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวัน - อิสราเอล ต่างเป็นประเทศประชาธิปไตย โดยมีสถานภาพในเวทีนานาชาติที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งไต้หวันต้องประสบกับวิกฤตการถูกคุกคามด้วยกำลังทหารจากจีนอยู่เสมอ เหมือนกับอิสราเอลที่ต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามทางทหารจากภายนอกอยู่บ่อยครั้ง ทั้งสองฝ่ายจึงควรที่จะให้การสนับสนุนซึ่งกันและกันในยามที่ต้องการ รมว.อู๋ฯ คิดเห็นว่า ไต้หวัน – อิสราเอล ควรที่จะขานรับกลไกความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพที่ได้มาอย่างยากลำบาก ตลอดจนเพื่อร่วมสกัดกั้นแผนยุทธศาสตร์และการแผ่ขยายอิทธิพลของกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยม
 
ต่อกรณีความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชนได้รับการบัญญัติไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งแตกต่างกับประเทศลัทธิอำนาจนิยมอย่างจีนโดยสิ้นเชิง ประชาชนชาวจีนมักจะกล่าวว่า ไต้หวันและจีนมีภูมิหลังพื้นเพทางวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน ไต้หวันสามารถพัฒนาไปสู่กระบวนการทางประชาธิปไตยได้ แน่นอนว่าจีนก็ต้องทำได้ ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลปักกิ่งรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างมาก จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้จีนต้องการจะทำลายไต้หวัน รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า เมื่อต้องเผชิญกับแรงกดดันจากจีน พวกเราไม่คาดหวังที่จะก่อสงคราม แต่ประชาชนชาวไต้หวันจะมุ่งมั่นในการปกป้องอำนาจอธิปไตยและวิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพให้คงอยู่ต่อไป ซึ่งในส่วนนี้ไม่มีช่องว่างในการประนีประนอมโดยเด็ดขาด ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงจำเป็นต้องเร่งเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง ควบคู่ไปกับการแสวงหาพลังสนับสนุนจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง
 
รมว.อู๋ฯ ชี้แจงขณะตอบข้อซักถามว่า การที่ไต้หวันถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบของสหประชาชาติ เป็นผลอันเนื่องมาจากการที่จีนกล่าวอ้างว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน และขัดขวางไต้หวันในการเข้ามีส่วนร่วมทุกทาง อีกทั้งยังกีดกันการแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและนานาประเทศทั่วโลก แต่ยังดีที่หลายประเทศซึ่งมีแนวคิดคล้ายคลึงกันกับไต้หวัน พร้อมที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับไต้หวัน ไต้หวันในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ จึงพร้อมที่จะขานรับต่อมติของสหประชาชาติว่าด้วยการประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือและรัสเซีย ตลอดจนแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณแห่งการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ด้วยการยื่นมืออให้ความช่วยเหลือประชาคมโลกอย่างกระตือรือร้น อาทิ การบริจาคหน้ากากอนามัยให้แก่นานาประเทศทั่วโลก การประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการส่งมอบความช่วยเหลือให้ยูเครน เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า ไต้หวันเป็นพลังแห่งความดีของสังคมโลก