ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 2 ก.พ. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสถาบันวิจัยเอเชียแห่งชาติ (NBR)” ซึ่งถือเป็นหน่วยงานคลังสมองของสหรัฐอเมริกา โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า เมื่อต้องเผชิญกับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ ไต้หวันจำเป็นต้องเร่งยกระดับแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศ จึงจะสามารถสร้างหลักประกันด้านความมั่นคงให้แก่ประเทศชาติ และปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพให้อยู่ต่อไปได้ โดยพวกเราชาวไต้หวันมีความมุ่งมั่นตั้งใจ มีความเชื่อมั่นและมีศักยภาพในการป้องกันประเทศ ตลอดจนยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในเชิงลึกกับสหรัฐฯ และกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ซึ่งปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ไต้หวันเป็นพลังแห่งความดีของโลกที่จะช่วยธำรงรักษาสันติภาพ พร้อมทั้งยึดมั่นค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพในภูมิภาคให้คงอยู่อย่างมั่นคง โดยตลอดปี 2023 นี้ พวกเราจะผนึกพลังสามัคคีที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างคุณประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ภูมิภาคสืบต่อไป
ในครั้งนี้ Adm. Philip S. Davidson อดีตผู้บัญชาการทหารเรือสหรัฐฯ ได้นำคณะตัวแทนเดินทางมาเยือนไต้หวันด้วยตนเอง และนับเป็นครั้งแรกที่ NBR ได้ฟื้นฟูแผนการเดินทางเยือนไต้หวันในหลังยุคโควิด – 19 โดยตลอดระยะเวลาที่ Adm. Davidson ดำรงตำแหน่งในกองบัญชาการภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกของสหรัฐอเมริกา ก็ได้เฝ้าจับตาให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ความมั่นคงในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันเป็นอย่างมาก หลังสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งแล้ว Adm. Davidson ก็ได้เรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ จับตาให้ความสำคัญต่อประเด็นช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง ปธน.ไช่ฯ จึงได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ Adm. Davidson สำหรับคุณประโยชน์ที่ท่านอุทิศให้แก่ไต้หวันเสมอมา
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า NBR มุ่งมั่นจับตาในประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกมาเป็นเวลายาวนาน โดยมีการวิเคราะห์เชิงลึกอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับคณะตัวแทนที่เดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ ต่างมีภูมิหลังและความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าการเดินทางเยือนในครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้อย่างแน่นอน
ปธน.ไช่ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากไต้หวัน - สหรัฐฯ จะเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนทางกลาโหมร่วมกันแล้ว ยังจะมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการค้าอีกด้วย เมื่อเดือนที่แล้ว “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” เพิ่งจะเปิดฉากการประชุมรอบล่าสุดขึ้น หากมองในแง่มุมภาพรวม กลไกทางการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ จะมีการลดขั้นตอนกระบวนการผ่านพิธีศุลกากรและการขอยืนยันตนให้เป็นไปอย่างกระชับและสะดวกเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งจะมีการจัดตั้งแพลตฟอร์มแบบทวิภาคีหลายรายการ เพื่อส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถขจัดปัญหาด้านการค้าและการลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นควบคู่ไปด้วย
ปธน.ไช่ฯ ยังคาดหวังที่จะเห็นไต้หวัน - สหรัฐฯ มีความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันอย่างแนบแน่นในด้านต่างๆ อาทิ ห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงทางเครือข่ายโทรคมนาคม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่าย รวมไปถึงในภูมิภาคและระดับโลก มีการพัฒนาที่รุดหน้ายิ่งขึ้น
Adm. Davidson แถลงว่า การประชุมในช่วงหลายวันที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นไปที่ประเด็นด้านประชาธิปไตยและภาคประชาสังคมของไต้หวันที่มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับพฤติกรรมการข่มขู่ของจีนที่มีต่อไต้หวัน พร้อมเน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ยังสามารถพัฒนาให้เป็นไปในเชิงลึกมากยิ่งขึ้นได้อีก
นอกจากนี้ Adm. Davidson ยังเห็นว่า ไทเปมีพลังแห่งความสดใสที่เปี่ยมล้น และมีโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ระหว่างการดำเนินก่อสร้างและอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง รวมไปถึงจิตวิญญาณของกองทัพทหารอันหนักแน่นของไต้หวัน นอกจากนี้ ประชาชนชาวไต้หวันก็ยังมีความเป็นมิตรมากด้วยเช่นกัน
หลังเสร็จสิ้นการเยี่ยมพบปธน.ไช่อิงเหวิน เมื่อช่วงเที่ยงของวันเดียวกันนั้น นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้จัดเลี้ยงอาหารต้อนรับ Adm. Davidson พร้อมด้วยคณะตัวแทน โดยรมว.อู๋ฯ ได้แสดงการต้อนรับอย่างอบอุ่นสำหรับการมาเยือนของ Adm. Davidson ที่แสดงให้เห็นถึงพลังแห่งความสนับสนุนอันหนักแน่นที่มีต่อประชาธิปไตยของไต้หวัน โดยรมว.อู๋ฯ หวังที่จะเห็นสหรัฐฯ เร่งผลักดันกลไกความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและไต้หวัน เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีน โดยไต้หวันจะมุ่งมั่นในการพัฒนาแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุล พร้อมทั้งต่อต้านภัยคุกคามในพื้นที่สีเทาที่เกิดจากจีน ตลอดจนคาดหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกในประเด็นต่างๆ กับสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดาและกลุ่มประเทศในภูมิภาคยุโรป เพื่อสร้างคุณประโยชน์ที่เพิ่มมากขึ้นในด้านสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง ให้เกิดแก่ภูมิภาคต่อไป