คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (NDC) วันที่ 2 มี.ค. 66
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา มูลนิธิเฮอริเทจ (Heritage Foundation) ซึ่งเป็นคลังสมองของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศ “ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ประจำปี 2023” (2023 Index of Economic Freedom) ผลปรากฏว่า ไต้หวันถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 4 จาก 184 ประเทศ/กลุ่มเศรษฐกิจ ขยับขึ้น 2 อันดับจากปี 2022 ซึ่งถือเป็นอันดับที่ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ แสดงให้เห็นว่าผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นในการผลักดันเสรีภาพทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
ในรายงาน “ดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ ประจำปี 2023” ชี้ว่า นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา เศรษฐกิจโลกเกิดความผันผวนที่ไม่แน่นอน ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจถดถอยลง ประกอบกับทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด - 19 และสงครามรัสเซีย - ยูเครน อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความผันผวนทางเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ ส่งผลให้มีเพียง 4 ประเทศที่มีผลคะแนนเฉลี่ย 80 คะแนนขึ้นไปในด้าน "เสรีภาพทางเศรษฐกิจ" ซึ่งผลคะแนนรวมโดยเฉลี่ยของไต้หวันอยู่ที่ 80.7 คะแนน เป็นรองเพียงสิงคโปร์ที่อยู่อันดับ 1 สวิตเซอร์แลนด์ที่อยู่อันดับ 2 และไอร์แลนด์ที่อยู่อันดับ 3 แซงหน้ากลุ่มเศรษฐกิจแนวหน้าของโลกอย่างนิวซีแลนด์ที่อยู่ในอันดับ 5 ออสเตรเลียที่อยู่อันดับ 13 เยอรมนีในอันดับ 14 เกาหลีใต้ที่อันดับ 15 แคนาดาอันดับ 16 สหรัฐอเมริกาอันดับ 25 อังกฤษอันดับ 28 ญี่ปุ่นอันดับ 31 และจีนในอันดับ 154
โดยเกณฑ์การจัดอันดับดัชนีเสรีภาพทางเศรษฐกิจ จะวัดจากปัจจัย 4 ประการ (ระบบกฎหมาย ขนาดของรัฐบาล ประสิทธิภาพในการควบคุมดูแล และการเปิดเสรีของตลาด) รวมถึงตัวชี้วัดอีก 12 รายการ (สิทธิด้านทรัพย์สิน ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ความโปร่งใสของรัฐบาล ภาระทางภาษีอากร รายจ่ายของรัฐบาล ความมั่นคงทางการเงิน เสรีภาพในการประกอบธุรกิจ เสรีภาพของแรงงาน เสรีภาพด้านค่าเงิน เสรีภาพทางการค้า เสรีภาพด้านการลงทุนและเสรีภาพทางการเงิน) เพื่อประกอบการพิจารณาประเมินผล โดยในปีนี้ ไต้หวันมี 7 ใน 12 รายการที่มีพัฒนาการรุดหน้า ประกอบด้วย ตัวชี้วัดใน "ระบบกฎหมาย" 3 รายการ ตัวชี้วัดใน "ขนาดของรัฐบาล" 3 รายการ และตัวชี้วัดด้าน "ประสิทธิภาพในการควบคุมดูแล" ซึ่งอยู่ในปัจจัยด้านเสรีภาพของแรงงาน
โดยในปีนี้ตัวชี้วัดใน "ความมั่นคงทางการเงิน" ของไต้หวัน มีการพัฒนาขึ้นเด่นชัดที่สุด ได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น 7 คะแนน ซึ่งเป็นผลอันเนื่องมาจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงจาก 33.7% เหลือ 28.4% ส่วน "ความโปร่งใสของรัฐบาล" ใน "ระบบกฎหมาย" มีพัฒนาการที่ดีขึ้น 2.5 คะแนน ซึ่งเป็นลำดับรองลงมา สะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการปฏิรูประบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ภายใต้ความร่วมมือของสภานิติบัญญัติ กระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานสภาบริหาร อาทิ การเร่งผลักดันแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม 2021 ได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการดึงดูดและว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญต่างชาติ เพื่อเสริมสร้างแนวทางการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายให้ทำการประกอบอาชีพในไต้หวันอย่างยั่งยืน อีกทั้งในเดือนมกราคม 2022 ก็ได้มีการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยกระบวนพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ โดยมอบอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ตัดสิน แทนที่การตีความของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และในเดือนพฤษภาคมปี 2022 ได้มีการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยองค์กรบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ รวมไปถึงระบบองค์กรบริหารการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ที่ครอบคลุมสมบูรณ์ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ดัชนีตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องของไต้หวันมีการพัฒนาไปในทางทิศทางที่ดีขึ้น
เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศที่เปี่ยมได้ด้วยความผกผัน การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล และการบรรลุเป้าหมาย NET ZERO รวมไปถึงความท้าทายรูปแบบใหม่ในยุคหลังโควิด – 19 รัฐบาลไต้หวันได้มุ่งมั่นผลักดันการยกระดับนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตลอดจนคำนึงถึงความยุติธรรมและเท่าเทียมในสังคม เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่ดีให้แก่ภาคธุรกิจ ตลอดจนเป็นการกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจในภาพรวมไปพร้อมกัน