ทะเลไต้หวันมีปลาสวยงามหลากหลายชนิด ทั้งปลาผีเสื้อและปลาสินสมุทร เปรียบเสมือนเป็น “อาณาจักรของปลาผีเสื้อ”
เกาะอันสวยงามที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทะเลและท้องฟ้าสีเดียวกัน โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นยุคสมัยใดหรือเชื้อชาติใด นับเป็นความประทับใจแรกพบของทุกคนที่มีต่อไต้หวัน เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องเทคโนโลยีก็ตาม ทำให้ผู้คนในอดีตไม่รู้เลยว่า นอกจากสัตว์ที่อยู่บนบกและนกที่บินอยู่บนท้องฟ้าแล้ว โลกใต้สมุทรของไต้หวันนั้นมีสิ่งล้ำค่าและสวยงามมากเพียงใด
ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ของไต้หวันมีความพิเศษอย่างไร? จึงสามารถดึงดูดผู้คนให้กลับมาเยี่ยมเยือนครั้งแล้วครั้งเล่า เราเดินทางมาที่สภาวิจัยแห่งชาติของไต้หวัน เพื่อพบกับ ดร. เส้ากว่างเจา (邵廣昭) อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ ผู้เชี่ยวชาญด้านมีนวิทยา (Ichthyology) ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ เพื่อหาคำตอบให้กับคำถามนี้กัน
ไต้หวัน เกาะที่มีความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล
ดร. เส้ากว่างเจา อธิบายว่า ทะเลรอบเกาะไต้หวันมีสิ่งมีชีวิตทางทะเลสายพันธุ์หายากจำนวนมากอาศัยอยู่ สาเหตุสำคัญนั้น เนื่องมาจากไต้หวันตั้งอยู่ในตำแหน่งทางเหนือสุดของบริเวณที่เรียกว่า “สามเหลี่ยมปะการัง” (หรือ East Indies Triangle) ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสิ่งมีชีวิตทางทะเลและมีความหลากหลายมากที่สุดของโลก และยังตั้งอยู่บนแผ่นเปลือกโลกยูเรเชียและเขตไหล่ทวีปยูเรเชีย ทำให้มีสภาพแวดล้อมทางทะเลสองลักษณะคือทะเลลึกและไหล่ทวีปอยู่ด้วยกัน อีกทั้งยังตั้งอยู่ในตำแหน่งที่มีกระแสน้ำในมหาสมุทรไหลผ่าน ได้แก่ กระแสน้ำ China Coastal Current กระแสน้ำอุ่น South China Sea และกระแสน้ำอุ่นคุโรชิโอะ เกิดลักษณะที่เรียกว่า แนวเชื่อมต่อระบบนิเวศ (ecotone) ซึ่งเป็นจุดที่มีระบบนิเวศที่หลากหลายและมีความอุดมสมบูรณ์
นอกจากนี้ ทะเลรอบไต้หวันยังมีความหลากหลาย ซับซ้อน และมีระบบนิเวศที่แตกต่างกัน มีทั้งแนวปะการัง ป่าชายเลน กองหิน ตะกอนดิน แนวหญ้าทะเล ปล่องน้ำพุร้อนใต้มหาสมุทร ทะเลสาบน้ำเค็มและทะเลลึก กระแสน้ำในมหาสมุทร ธรณีวิทยา ระดับความลึกและอุณหภูมิของน้ำ รวมถึงแหล่งที่อยู่อาศัยที่แตกต่างกันทำให้มีสิ่งมีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่างเช่น แนวชายฝั่งที่มีระยะทางสั้น ๆ เพียง 1,600 กิโลเมตร หากนับเฉพาะสายพันธุ์ปลาที่เรารู้จัก พบว่าที่นี่มีสายพันธุ์ปลาคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 10 ของปลาทุกสายพันธุ์ในโลก
ดร. เส้ากว่างเจา นักมีนวิทยา ผู้ผลักดันการอนุรักษ์ทะเลของไต้หวัน
การคุ้มครองทะเล ประเด็นระดับโลก
ทะเลมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ราว 3 ใน 4 ของโลก ทำหน้าที่ควบคุมและปรับเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศให้มวลมนุษย์ สิ่งมีชีวิตทางทะเลก็นับเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของมนุษย์ด้วยเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ทั้งการปฏิวัติอุตสาหกรรม จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการประมง ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตในทะเลต้องเผชิญกับวิกฤตที่รุนแรงมากกว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนบกในขณะนี้
เมื่อปี ค.ศ. 1995 Daniel Pauly นักชีววิทยาทางทะเลชาวฝรั่งเศส ได้เสนอแนวคิด The Ocean's Shifting Baseline โดยชี้ว่า แม้ในการวิจัยต่าง ๆ จะมีการค้นพบสิ่งมีชีวิตทางทะเลชนิดใหม่ทำให้ยอดรวมสิ่งมีชีวิตทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หากเทียบกับข้อมูลในอดีตเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว หรือแม้แต่ช่วงประมาณครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา กลับพบว่ามีจำนวนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว มนุษย์ก็เหมือนกบที่ถูกต้มอยู่ในน้ำอุ่น ยังไม่รับรู้ถึงภัยอันตรายที่กำลังจะมาเยือน
“พื้นที่คุ้มครองทางทะเล” กลไกอย่างง่าย คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และมีประสิทธิภาพมากที่สุด
รูปแบบและวิธีการในการอนุรักษ์ทะเลมีอยู่จำนวนมาก ซึ่งรวมถึงนโยบายในเรื่องของการจำกัดการทำประมง การส่งเสริมอาหารทะเลยั่งยืน การบริโภคนิยมในท้องถิ่น (Satoumi Initiative) และการปล่อยปะการังเทียม รวมทั้งการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มนุษย์ได้ลองผิดลองถูกและทำการทดสอบมานานหลายสิบปี ทุกประเทศต่างค้นพบแล้วว่า การผลักดันให้มีการกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเล (Marine Protected Area : MPA) เป็นวิธีการอนุรักษ์และคุ้มครองทะเลที่ทำได้ง่าย มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและได้ผลที่สุด ดร. เส้ากว่างเจา มีบทบาทในการผลักดันด้านการอนุรักษ์ทะเลมานานกว่า 30 ปี เขาเริ่มต้นจากการทำวิจัยด้านมีนวิทยาและต่อยอดจนถึงงานด้านการอนุรักษ์ทางทะเล ได้อธิบายว่า การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแท้ที่จริงแล้วก็คือ การคุ้มครอง “แหล่งที่อยู่อาศัย” ของปลาชนิดต่าง ๆ พื้นที่คุ้มครองก็เปรียบเหมือนกับต้นทุนที่สะสมอยู่ในสมุดบัญชีธนาคาร เมื่อมีปลาจำนวนมากอยู่ในพื้นที่คุ้มครอง ก็จะมีสัตว์น้ำนานาชนิดเพิ่มจำนวนขึ้นตามธรรมชาติ และกลายเป็นแหล่งหากินของชาวประมง สอดคล้องกับหลักการของการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน
ตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการกำหนดเป้าหมายไอจิ (Aichi Biodiversity Targets) ขึ้น ในปี ค.ศ. 2010 โดยในเป้าหมายที่ 11 ได้กำหนดให้ทั่วโลกต้องมีพื้นที่ชายฝั่งและพื้นที่ทางทะเลที่เป็นพื้นที่คุ้มครองในสัดส่วนร้อยละ 10 ภายในปี ค.ศ. 2020 และคาดว่าในปี ค.ศ. 2030 จะมีสัดส่วนของพื้นที่คุ้มครองเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 ซึ่งหากไม่สามารถบรรลุได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อาจจะสายเกินแก้ ในส่วนของไต้หวันเองนั้นได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีการพิจารณาเห็นชอบกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองทางทะเลภายในสิ้นปี ค.ศ. 2022 เพื่อให้การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลของไต้หวันและการบริหารจัดการมีกฎหมายที่เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้จริง
คุณหลินชิงไห่ รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล แห่งชาติ ลูกหลานชาวเมืองจีหลง นับเป็นบุคคลสำคัญที่ช่วยผลักดันการจัดตั้ง เขตอนุรักษ์เฉาจิ้ง
โครงการนำร่อง “พื้นที่คุ้มครองวั่งไห่เซี่ยง”
ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดพื้นที่คุ้มครองหรือการห้ามทำการประมง นับว่าเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยาก เพราะไม่เพียงต้องการนโยบายจากภาครัฐ หรือมีหลักฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากวงการวิชาการ แต่ยังต้องคำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวประมง และจะทำอย่างไรให้ชาวประมงเหล่านี้สมัครใจและยินดีร่วมมือ ซึ่งถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลว
“โครงการนำร่อง พื้นที่คุ้มครองทางทะเลอ่าววั่งไห่เซี่ยง” ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 2016 โดยเป็นพื้นที่ที่ห้ามการทำประมงของเมืองจีหลง และนับเป็นก้าวสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนงานด้านการอนุรักษ์ทะเลของไต้หวัน เพราะเหตุใดจึงเลือกอ่าววั่งไห่เซี่ยงเป็นที่แรก งานวิจัยของ ดร. เส้ากว่างเจา ชี้ว่า ลักษณะระบบนิเวศของน่านน้ำไต้หวันสามารถแบ่งออกได้เป็นสองรูปแบบใหญ่ ๆ ตั้งแต่แถบซูอ้าว (蘇澳) ซึ่งอยู่ทางปลายสุดทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะ ครอบคลุมจนถึงบริเวณสี่เกาะที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ในพื้นที่ของเมืองเผิงหู แหลมปาโต่วจื่อ (ซึ่งเป็นที่ตั้งของอ่าววั่งไห่เซี่ยง) ในเมืองจีหลงเป็นบริเวณที่มีกระแสน้ำอุ่นคุโรชิโอะและกระแสน้ำเย็นจากชายฝั่งของจีนไหลมาบรรจบกัน ทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิตในน้ำมากมายภายในเขตน้ำขึ้นน้ำลง จากข้อมูลและบันทึกของชาวประมงและนักดำน้ำในอดีตยืนยันว่า คนนับพันคนต่างพากันมาที่โอกินาวาเพื่อต้องการดำน้ำลงไปชื่นชมทากทะเลสายพันธุ์ Thecacera pacifica (นักดำน้ำตั้งชื่อให้ทากทะเลชนิดนี้ว่า ปิกาจู้) และม้าน้ำแคระ ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นดาวเด่นของท้องทะเลและสามารถพบเห็นร่องรอยได้ในบริเวณนี้ ขณะเดียวกัน อ่าวแห่งนี้ยังเป็นแหล่งวางไข่ของปลาหมึกหอมที่สำคัญอีกด้วย
หากน่านน้ำใดน่านน้ำหนึ่ง มีคุณสมบัติต่อไปนี้เพียงข้อใดข้อหนึ่ง อาทิ ความหลากหลายทางชีวภาพ คุณลักษณะที่พิเศษ และเป็นแหล่งสำหรับวางไข่ ถือว่าเป็นพื้นที่ที่สอดคล้องกับเงื่อนไขสำคัญของการกำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล และอ่าววั่งไห่เซี่ยงเป็นสถานที่ที่มีคุณลักษณะทั้งสามข้อนี้อย่างครบถ้วน คุณเฉินลี่สู (陳麗淑) ผู้อำนวยการกลุ่มงานการแลกเปลี่ยนระหว่างอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยอธิบายให้เราเข้าใจ
ระดมสมอง ร่วมกันสู้เพื่อท้องทะเล
อ่าววั่งไห่เซี่ยงครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 250 เฮกตาร์ โดยทางเทศบาลเมืองจีหลงได้กำหนดพื้นที่นำร่องในระยะแรกราว 15 เฮกตาร์ เพื่อใช้เป็นเขตอนุรักษ์ตัวอย่าง และหากประสบความสำเร็จก็จะมีการขยายและเพิ่มพื้นที่ให้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การดำเนินโครงการพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ครอบคลุมพื้นที่กว่า 15 เฮกตาร์ กลับไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก
คุณหลินชิงไห่ (林青海) รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติ (National Meseum of Marind Science and Technology) เป็นชาวเมืองจีหลงที่เกิดในครอบครัวชาวประมง และเคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจของเทศบาลเมืองจีหลง เขาเล่าว่าเขาเห็นเรือประมงจอดรวมกันอยู่ในบริเวณท่าเรือประมงเจิ้งปินนับพันลำมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันมาก เพราะตอนนี้อุตสาหกรรมประมงกำลังอยู่ในช่วงถดถอย ทำให้เขาตระหนักถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนในการอนุรักษ์และคุ้มครองทะเล
กว่า 6 ปีกับการทำงานอย่างหนักร่วมกับชาวประมงในการจัดเวทีเสวนาต่าง ๆ ทำให้คนในพื้นที่เกิดความรักทะเลมากขึ้นและมีความภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน ชาวประมงจำนวนไม่น้อยร่วมมือกับหน่วยงานลาดตระเวนชายฝั่งจัดตั้ง “กองเรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” เพื่อทำหน้าที่สอดส่องตรวจตราเรือประมงที่ทำการจับปลาอย่างผิดกฎหมาย ขณะที่หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอย่างมหาวิทยาลัยสมุทรศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (National Taiwan Ocean University) และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลแห่งชาติ รับผิดชอบเรื่องข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และให้ความช่วยเหลือในเรื่องของการปล่อยลูกปลา การจัดกิจกรรม “ทะเลสะอาด” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมากทั้งที่เป็นจิตอาสาและนักวิชาการมาร่วมกันเก็บขยะและทำความสะอาดชายหาด อาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนในการรณรงค์และสร้างความเข้าใจในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรทางทะเล
นอกจากมาตรการห้ามมิให้ใช้อวนลากเพื่อทำประมงในพื้นที่ห่างจากแนวชายฝั่ง 500 เมตรแล้ว เทศบาลเมืองจีหลงยังได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่ออุดหนุนการรับคืนเครื่องมืออวนจากชาวประมง เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ชาวประมงปรับเปลี่ยนวิธีการจับปลา และเป็นเรื่องที่น่ายินดีมากขึ้นไปอีก เมื่อมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้แทนประชาชนจำนวนมาก อีกทั้งสื่อท้องถิ่นได้ช่วยเหลือในการทำข่าวและประชาสัมพันธ์ ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากแต่ละภาคส่วนเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างมาก
ดังนั้น การกำหนดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลในโครงการนำร่องครั้งนี้ เปรียบได้กับการร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้เพื่อท้องทะเลจากทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นเทศบาลเมืองจีหลง มหาวิทยาลัยสมุทรศาสตร์แห่งชาติ ชาวประมง จิตอาสา ชาวบ้านในท้องที่ ผู้แทนประชาชน และสื่อมวลชนต่าง ๆ
ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเขตอนุรักษ์เฉาจิ้ง นักท่องเที่ยวสามารถชมภาพใต้ทะเลแบบเรียลไทม์ผ่านกล้องที่ติดตั้งใต้น้ำ
ส่งต่อทะเลที่สวยงามให้กับคนรุ่นต่อไป
หลังจากที่ทะเลได้พักฟื้นและฟื้นฟูตัวเองมาหลายปี ประกอบกับการท่องเที่ยวทางทะเลที่หยุดชะงักไปชั่วคราว ผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการเขตอนุรักษ์เฉาจิ้ง (潮境保育區) ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด ในปี ค.ศ. 2021 นี้เอง จากการที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวที่นี่ตลอดทั้งปีกว่า 90,000 คน/ครั้ง และสร้างชื่อเสียงของ “เฉาจิ้ง” ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก หน่วยงานที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการจึงจำเป็นต้องเริ่มคำนึงถึงการจำกัดปริมาณของนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงประสบการณ์ลักษณะเดียวกันของอีกหลายประเทศ คือ พื้นที่อนุรักษ์ที่มีการจัดการที่ดี ไม่เพียงนำไปสู่การฟื้นตัวของสิ่งมีชีวิต แต่ยังช่วยผลักดันอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อีกด้วย แสดงให้เห็นว่าการคุ้มครองระบบนิเวศสามารถขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาเศรษฐกิจได้โดยปราศจากความขัดแย้ง
การอนุรักษ์ทางทะเลเป็นเรื่องที่มีความเร่งด่วน และนับเป็นความโชคดีที่ปัจจุบัน ยังมีสัตว์ทะเลหลากหลายชนิดที่ยังมีชีวิตและอาศัยอยู่ในเขตอนุรักษ์เฉาจิ้งแห่งนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้ในการคุ้มครองและรักษาพันธุ์สัตว์น้ำ เมื่อการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมได้ถูกปลูกฝังให้หยั่งรากลึก ทำให้คนรุ่นใหม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับมหาสมุทรและทะเล ตลอดจนจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน หากทุกคนมีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์แล้ว แม้จะตกอยู่ในสถานการณ์ที่เรียกว่า “คนรุ่นก่อนเก็บเปลือกหอย คนรุ่นหลังเก็บขยะ” ก็ตามที มนุษย์ก็จะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่วิกฤตเช่นนี้ไปได้ พร้อม ๆ กับการเรียนรู้ผ่านการถอดบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีต เช่นนั้นแล้ว เกาะที่งดงามท่ามกลางท้องทะเลแห่งนี้จะถูกส่งต่อไปให้กับคนรุ่นหลังได้อย่างยั่งยืนต่อไป
เพิ่มเติม
เรียนรู้ความยั่งยืน จากท้องทะเล ปกป้องความหลากหลายทาง ชีวภาพทางทะเลของไต้หวัน