ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 20 มี.ค. 66
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาอังกฤษ” โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ในด้านการธำรงรักษาสันติภาพในภูมิภาคและการพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ ให้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้อวยพรให้รัฐบาลอังกฤษสามารถเข้าร่วมเป็นสมาชิก “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (CPTPP) อย่างราบรื่น พร้อมคาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลอังกฤษยึดมั่นในหลักการมาตรฐานขั้นสูง ด้วยการสนับสนุนแผนการขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก CPTPP ของไต้หวัน
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า หลายปีมานี้ พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันของรัฐสภาอังกฤษ นับวันยิ่งทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น อันจะเห็นได้จากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 Mr. Bob Stewart ประธานกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภาอังกฤษ (U.K.-Taiwan parliamentarian friendship group) และกลุ่มสมาชิกสภาสามัญชน ได้ร่วมกันจัดการประชุมอภิปรายในแผนข้อเสนอ “ความร่วมมือและมิตรภาพระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ” โดยสมาชิกสภาหลายท่านต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันอย่างกระตือรือร้น เนื่องจากต้องการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ให้เป็นไปในเชิงลึก นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 คณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสภาสามัญชนอังกฤษ ก็ได้จัดคณะเดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อไต้หวันของรัฐสภาอังกฤษ
ปธน.ไช่ฯ ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ Mr. Stewart สำหรับมิตรภาพที่มีต่อไต้หวัน โดยไต้หวันรู้สึกขอบคุณสำหรับเสียงสนับสนุนไต้หวันจากมิตรสหายทุกคนที่ส่งมอบให้ นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลอังกฤษ นับตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา รัฐบาลอังกฤษได้ทยอยแสดงจุดยืนว่าด้วยความสำคัญในการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคีหรือแบบพหุภาคี อย่างการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนําของโลก 7 ประเทศ (G7) โดยพวกเราคาดหวังว่า ทั้งสองประเทศจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการธำรงรักษาสันติภาพในภูมิภาค และการพัฒนาในทุกภาคส่วนต่อไป
หลายปีมานี้ อังกฤษเป็นหุ้นส่วนสำคัญของไต้หวันในด้านการพัฒนาส่งเสริมอุตสาหกรรมกังหันลมนอกชายฝั่ง ตราบจนปัจจุบัน มีผู้ประกอบการกังหันลมนอกชายฝั่งของอังกฤษจำนวนกว่า 30 รายที่เข้าจัดตั้งสำนักงานสาขาในไต้หวัน ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่า นอกเหนือจากอุตสาหกรรมกังหันลมนอกชายฝั่งแล้ว ทั้งสองประเทศยังสามารถเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ในด้านอื่นๆ อาทิ ความทรหดทางห่วงโซ่อุปทาน ความมั่นคงทางไซเบอร์ อุตสาหกรรมชีวภาพการแพทย์ เป็นต้น เพื่อที่จะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศต่อไปในอนาคต
ในลำดับต่อมาเป็นการกล่าวปราศรัยของ Mr. Stewart โดยระบุว่า วันนี้ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มีโอกาสเข้าพบคารวะปธน.ไช่ฯ พร้อมทั้งขอบคุณสำหรับการต้อนรับอันแสนอบอุ่นจากปธน.ไช่ฯ คณะตัวแทนสมาชิกสภาทั้ง 6 ที่ร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ ครึ่งหนึ่งมาจากพรรคอนุรักษ์นิยม ส่วนอีกครึ่งหนึ่งมาจากพรรคแรงงานของอังกฤษ แม้จะมาจากพรรคการเมืองที่ต่างกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือพวกเราต่างเป็นมิตรสหายที่แข็งแกร่งของไต้หวัน
Mr. Stewart ระบุว่า ไต้หวัน - อังกฤษ มีส่วนที่คล้ายคลึงกัน อย่างเช่น อังกฤษเป็นประเทศที่ตั้งอยู่ในพื้นที่รอบนอกของทวีปยุโรป ส่วนไต้หวันตั้งอยู่ในพื้นที่รอบนอกในทวีปเอเชีย อย่างไรก็ตาม จำนวนประชากรของทั้งสองประเทศแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยจำนวนประชากรในไต้หวันครองสัดส่วนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของอังกฤษ แต่ทั้งสองประเทศต่างมีวิสัยทัศน์ที่คล้ายคลึงกัน
Mr. Stewart เผยว่า คณะตัวแทนต่างตระหนักว่า ไต้หวันมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าอังกฤษ ในรายงานการจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตยของ The Economist ระบุว่า อังกฤษอยู่ในอันดับที่ 18 ของโลก ส่วนไต้หวันอยู่ในอันดับที่ 10 ของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นแล้วว่า ประชาธิปไตยของไต้หวันตลอด 30 ปีมานี้ ได้รับการพัฒนาจนเจริญรุ่งเรืองมากขึ้นเพียงใด ตลอด 30 ปีมานี้ ไต้หวันได้เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ หากเทียบกับอังกฤษที่มีการเปลี่ยนแปลงในรอบ 800 ปีมานี้ อาจจะยังสู้ไต้หวันไม่ได้ด้วยซ้ำ ไต้หวันจึงนับว่าเป็นประภาคารด้านประชาธิปไตยที่สำคัญของโลก
Mr. Stewart รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เห็นทั้งสองประเทศมีการเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้งในด้านเศรษฐกิจและการค้า รวมไปถึงประชาชนชาวไต้หวันจำนวนมากที่ตั้งรกรากและประกอบอาชีพในอังกฤษ อีกทั้งมีนักศึกษาไต้หวันมากมายเดินทางไปศึกษาต่อในอังกฤษ โดย Mr. Stewart คาดหวังที่จะเห็นนักศึกษาชาวอังกฤษเดินทางมาเข้ารับการศึกษาในไต้หวันเป็นจำนวนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน