คณะกรรมการการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วันที่ 21 มี.ค. 66
ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนีเตรียมเปิดศักราชหน้าใหม่ !
Ms. Bettina Stark-Watzinger รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยแห่งชาติเยอรมนี (The Federal Ministry of Education and Research , BMBF) ตอบรับคำเชิญของนายอู๋เจิ้งจง ประธานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวันในช่วงระหว่างวันที่ 21 – 22 มี.ค.นับเป็นอีกครั้งต่อเนื่องจากปี 1997 ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับรัฐมนตรีของเยอรมนีเดินทางเยือนไต้หวัน โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลงทางความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (STA) ร่วมกันเป็นครั้งแรกในวันที่ 21 มี.ค. โดยมีรมว. Stark-Watzinger และประธานอู๋ฯ ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายเชื่อว่าความตกลงทางความร่วมมือในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนที่เพิ่มมากขึ้นในด้านเทคโนโลยีระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี ในภายภาคหน้า โดยจะมุ่งเป้าไปสู่ความร่วมมือที่หลากหลายในด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานไฮโดรเจน แบตเตอรี่และเทคโนโลยี AI เป็นต้น
ประธานอู๋ฯ กล่าวในระหว่างพิธีลงนามว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐไต้หวันและพันธมิตรในประชาคมโลก มีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาความซับซ้อนที่เร่งด่วนมากมาย ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ไต้หวันและประชาคมโลกประสานความร่วมมือในการสกัดกั้นสถานการณ์โรคโควิด – 19 เมื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายระลอกใหม่ ไต้หวันจะเร่งจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง โดยการร่วมลงนามความตกลง STA ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ไต้หวันได้มุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ โดยในวันข้างหน้า ทั้งสองประเทศจะเปิดฉากความร่วมมือในด้านต่างๆ ที่สำคัญต่อไป อาทิ แบตเตอรี่ลิเธี่ยม พลังงานไฮโดรเจน เทคโนโลยี AI อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และการบ่มเพาะบุคลากร เป็นต้น โดยประธานอู๋ฯ กล่าวว่า “การเดินทางเยือนไต้หวันของรมว. Stark-Watzinger เป็นการแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า ความร่วมมือทางเทคโนโลยีได้ผลักดันให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - เยอรมนี ก้าวสู่อีกลำดับขั้นที่สูงขึ้น โดยพวกเราได้เปิดศักราชหน้าใหม่ทางความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - เยอรมนี ผ่านความตกลงฉบับใหม่นี้”
รมว. Stark-Watzinger กล่าวขณะปราศรัยว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือที่ได้รับการยกย่องในด้านการวิจัยและพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยประเด็นระดับโลกควรร่วมเผชิญหน้ากับมิตรประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ไต้หวัน - เยอรมนีต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตย ความโปร่งใส การเปิดกว้างและเสรีภาพ โดยทั้งสองฝ่ายได้มีการร่วมแลกเปลี่ยนและประสานความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีมาเป็นเวลานาน เยอรมนีให้การยอมรับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี ที่ดำเนินร่วมกันมาอย่างยาวนาน และด้วยข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีที่สามารถเติมเต็มซึ่งกันและกัน ทำให้ทั้งสองฝ่ายมีโอกาสที่จะร่วมมือกันในด้านต่างๆมากขึ้น รมว. Stark-Watzinger จึงคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความตกลง STA ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ จะเป็นการปูรากฐานความร่วมมือเชิงกว้างระหว่างกันในภายภาคหน้า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มด้านนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและการวิจัยทางเทคโนโลยีขั้นสูง ให้แก่สองประเทศในภายภาคหน้าต่อไป