ตลาดซื่อตงมีพื้นที่กว้างขวาง มีการออกแบบตกแต่งร้านค้า จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ตลาดระดับ 5 ดาว”
ทุกครั้งที่ไปต่างประเทศก็ต้องไปยังตลาดนัด เพื่อสำรวจผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่น สัมผัสถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คน คงเป็นความรู้สึกเช่นเดียวกันกับเมื่อได้มาเยือนตลาดสองแห่งของกรุงไทเป ตลาดซื่อตง (Shi-Dong) ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “ตลาดสดระดับ 5 ดาว” เพราะมีพื้นที่กว้างขวางปลอดโปร่งโล่งสบาย แผงขายของก็มีการออกแบบตกแต่งเฉกเช่นร้านค้าภายในห้างสรรพสินค้า ขณะที่ช่วงสุดสัปดาห์มีจะตลาดนัด Hope Plaza ที่กลุ่มเกษตรกรนำผลผลิตสดใหม่ตามฤดูกาลจากแหล่งเพาะปลูกทั่วไต้หวันสู่โต๊ะอาหารมาเปิดขายเป็นประจำ การเดินชมตลาดในเมืองใหญ่ ไม่เพียงได้สินค้าถูกใจกลับบ้านมากมาย ระบบค้าส่งที่ช่วยย่นระยะทางจากแหล่งผลิตสู่ตลาด ทำให้ลูกค้ารู้สึกอิ่มเอมอย่างหาที่เปรียบมิได้
บริเวณใกล้เคียงมีโรงเรียนอเมริกันกับโรงเรียนญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวจำนวนมากทั้งจากในและต่างประเทศ มาจับจ่ายซื้อของอย่างไม่ขาดสาย พ่อค้าแม่ค้าขายในตลาดซื่อตงจึงพยายามทุกวิถีทางเพื่อเตรียมผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการคัดสรรเกรดและคุณภาพมาวางจำหน่าย ขนาดมะเขือเทศราชินีลูกเล็ก ๆ ผู้ขายยังแบ่งโซนจัดวางตามลักษณะกับรสชาติ ให้ลูกค้าได้เลือกซื้อตามใจชอบ เพื่อมอบประสบการณ์ให้กับลูกค้าเฉกเช่นเดียวกับการชิมเหล้าไวน์
แผงขายของในตลาดซื่อตงล้วนเป็นผู้ประกอบการที่เซ็นสัญญาถาวรกับเทศบาลกรุงไทเป ทำธุรกิจค้าขายระยะยาว มีการจัดตกแต่งแผงขายของด้วยความใส่ใจ อาทิ แผงขายผัก Suhohui ที่ตั้งอยู่มานานกว่า 7 ปีแล้ว ก็มีลักษณะแตกต่างจากแผงขายผักทั่วไปที่มักใช้กล่องขนส่งผักมาเป็นภาชนะสำหรับวางสินค้าจำหน่ายโดยตรง แต่เปลี่ยนมาใช้ตะกร้าหวาย ตะกร้าไม้ไผ่ใส่แทน ส่วนป้ายด้านบนก็ใช้สีเขียวกับสีเหลืองมาเป็นสีพื้นให้ดูเป็นสามมิติ เมื่อประกอบเข้ากับแผงผักที่อุดมไปด้วยสีสันหลากหลาย ก็ทำให้พื้นที่ว่างนี้เหมือนมีชีวิตขึ้นมา
ร้าน Suhohui เดินทางไปเยี่ยมเยือนเกษตรกรรายย่อยทั่วไต้หวัน และจัดจำหน่ายผักออร์แกนิกหรือผักปลอดสารพิษโดยเฉพาะ “นี่เป็นกะหล่ำปลีจาก Smangus เห็ดหูหนูดำที่เก็บมาสด ๆ จาก Douliu และหัวยี่หร่าจาก Puli ที่เพียงนำมาหั่นละเอียด คลุกเคล้ากับน้ำมันมะกอกและเกลือพริกไทยดำ ก็จะได้รสชาติที่อร่อยมาก” หลี่ซิ่วหรู (李秀如) บอกแหล่งที่มาอย่างละเอียด และจะจำหน่ายสินค้าส่งตรงจากแหล่งผลิตเท่านั้น
ร้านขายผัก Suhohui ตกแต่งให้มีบรรยากาศตลาดนัดต่างประเทศ มีความเชี่ยวชาญในสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรซึ่งส่งตรงมาจากแหล่งผลิต
สร้างกระแสความนิยมของตลาดนำสมัย
เมื่อเห็นลูกค้าเข็นรถเข็นที่ทางสมาคมบริหารจัดการตลาดจัดเตรียมไว้ให้ อาจคิดว่าตนเองอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เมื่อได้ยินเสียงพ่อค้าแม่ค้าและลูกค้าพูดคุยอย่างเป็นกันเองในเรื่องชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นว่าตลาดซื่อตงยังคงเป็นตลาดสดแบบดั้งเดิมที่เต็มไปด้วยบรรยากาศการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คน
ความสะอาดเป็นระเบียบของแผงขายเนื้อ ช่วยลบล้างภาพลักษณ์เดิม ๆ ที่ผู้คนมีต่อตลาดสด อย่างเช่น แผงขายเนื้อหมูหย่งจิ้นห้าว (永進號) ที่มีการติดตั้งตู้แช่เย็นโชว์ไว้ เพื่อทำให้ผู้คนที่พบเห็นรู้สึกสบายใจมากขึ้น เถ้าแก่เฉินเจ่าหมิง (陳沼銘) ได้เปลี่ยนมาใช้ป้ายที่ถูกออกแบบอย่างเรียบง่ายและมีโทนสีสไตล์วินเทจเมื่อไม่กี่ปีก่อน เนื้อแต่ละส่วนจัดวางเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ และรักษาสภาพแวดล้อมให้สะอาดสะอ้านอยู่ตลอดเวลา ด้านหลังแผงมีแผนภาพแสดงส่วนต่าง ๆ ของเนื้อหมูซึ่งมีเครื่องหมายกำกับเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ทั้งยังมีรายละเอียดของป้ายไฟ LED เขียนว่า MIT (MADE IN TAIWAN) ทำให้คนที่พบเห็นรู้สึกได้ถึงความตั้งใจประกอบธุรกิจของร้านค้า
ตลาดซื่อตงได้ประสานความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม
เดลิเวอรี่ตั้งจุดให้บริการขนส่งสินค้า แผงขายของต่าง ๆ มีบริการชำระเงินผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ยิ่งเมื่อบวกเข้ากับลักษณะภายนอกที่ผ่านการออกแบบตกแต่งมาแล้ว จึงทำให้ตลาดเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังความสดใหม่มีชีวิตชีวาอยู่เสมอ แม้ว่าความเป็นจริงตลาดซื่อตงจะเริ่มเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1992 ในตอนนั้น ระบบและอุปกรณ์เครื่องมือค่อนข้างพร้อม กฎระเบียบและกติกาของตลาดที่ประกาศโดยคณะกรรมการผู้ประกอบการถือว่ามีความสมบูรณ์ อย่างเช่น ตั้งแต่คณะกรรมการตลาดชุดแรกเข้ามาบริหารจัดการก็ได้ให้ความสำคัญกับการระบายน้ำเสีย มีข้อกำหนดที่สั่งไม่ให้นำสัตว์มีชีวิตเข้ามาในตลาด จากนั้น มีการกำหนดขอบเขตของแผงขายสินค้า เพื่อรักษาระยะความกว้างของพื้นที่สาธารณะ จนกระทั่งคุณเหอชิ่งฟง (何慶豐) ประธานคณะกรรมการตลาดคนปัจจุบันเข้ามาบริหาร ก็ได้มีการสร้างตัวการ์ตูน
มาสคอต และสนับสนุนให้พ่อค้าแม่ค้าเปลี่ยนโฉมภาพลักษณ์ของแผงขายสินค้า
กลุ่มพ่อค้าแม่ค้ายังคงรักษาทัศนคติของความมุ่งมั่นพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไว้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งนั่นก็ทำให้ตลาดซื่อตงก้าวทันไปพร้อมกับยุคสมัย ยกตัวอย่างเช่น ร้านถงเจียหมั่นโถว (童家饅頭) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1953 ได้มาตั้งแผงในตลาดแห่งนี้ตั้งแต่ช่วงแรก ๆ ปัจจุบันสืบทอดมาจนถึงรุ่นที่ 4 แล้ว ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ ร้านถงเจียหมั่นโถวจึงมีการปรับปรุงขนาด รสชาติ และคิดค้นทำเป็นรูปทรงการ์ตูนต่าง ๆ หรือการนำแนวคิดจากฝั่งตะวันตกมาผลิตเป็นหมั่นโถวที่มีส่วนประกอบของผลไม้อบแห้งออกมา เมื่อเข้าใจถ่องแท้ว่าตลาดซื่อตงมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ถงเหว่ยเติง (童瑋登) ผู้สืบทอดธุรกิจรุ่นที่ 4 จึงทำการศึกษาภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม และทำให้รสชาติความอร่อยของถงเจียหมั่นโถวสามารถดึงดูดเชฟทำขนมจากประเทศฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา และยังมีหญิงสาวญี่ปุ่น เดินทางมาท่องเที่ยวที่ไต้หวันแล้วถึงสามครั้งเพื่อมาเดินเที่ยวชมตลาดซื่อตงโดยเฉพาะ เมื่อดูภาพถ่ายร่วมกับลูกค้าจากประเทศต่าง ๆ ในโทรศัพท์มือถือของคุณถงเหว่ยเติง ก็ยิ่งสัมผัสได้ถึงความมีเสน่ห์น่าหลงใหลของตลาดซื่อตงในฐานะตลาดนานาชาติเพื่อการท่องเที่ยว
ที่ตั้งของ Hope Plaza อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าซ่านเต่าซื่อ (Shandao Temple) กรุงไทเป เป็นตลาดนัดเกษตรกรที่จัดขึ้นเป็นประจำในวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งรวบรวมผู้ผลิตในภาคการเกษตร การประมง และปศุสัตว์จากทั่วไต้หวัน แม้กำหนดเวลาในการเปิดทำการคือ 10.00 น. แต่ประชาชนที่คุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้ก็มักจะถือตะกร้ารถเข็นมารอที่ประตูตั้งแต่ 9 โมงกว่า เพื่อตามล่าหาขุมทรัพย์ โดยมีทั้งผู้ที่ชื่นชอบการทำอาหาร ชอบเดินชอปปิง ยังไม่เว้นแม้แต่คุณ Wang Pitsu นักเขียนมืออาชีพผู้รอบรู้เรื่องอุตสาหกรรมการเกษตรและการประมงของไต้หวัน
การมาจับจ่ายซื้อของที่ Hope Plaza คุณ Wang Pitsu มักจะเคยชินกับการเดินวนหนึ่งรอบก่อน เพื่อดูว่าวันนี้มีของดีอะไรบ้างที่ควรค่าแก่การสอยติดไม้ติดมือกลับไป เราเห็นเธอเหมือนเป็นนักล่าอาหาร ที่มีความรวดเร็วในการเดินตลาดและมีสายตาที่แม่นยำ พวกเราซึ่งเดินตามหลังเธออยู่นั้น มีบ่อยครั้งที่เผลอหันไปแป๊บเดียว เธอได้เดินไปพูดคุยกับเจ้าของแผงอื่นแล้ว ตลาดช่วงเช้าที่เดินชอปปิงในตลาดทำให้เราได้เปิดโลกทัศน์มากขึ้น เมื่อเห็น “สีแดง” ของผลมะเดื่อ ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าจะหวานไม่พอหรือยังไม่สุก ส่วนเห็ดฟางตากแห้งโดยฝีมือของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงเห็ด ซึ่งใช้วิธีการคล้ายกันกับเห็ดหอมตากแห้ง ก็ทำให้เกิดเป็นกลิ่นหอมน่าหลงใหล ที่แม้แต่ Wang Pitsu ซึ่งเดินทางไปเยือนตลาดนัดมาแล้วทั่วไต้หวัน ยังรู้สึกประหลาดใจตอนที่พบเห็นครั้งแรกด้วย
เวลาที่เดินชมแผงขายสินค้านอกจากผลิตภัณฑ์หลักที่เกษตรกรนำมาจัดแสดงแล้ว Wang Pitsu ยังได้ให้ความสนใจกับ “ของสะสมส่วนตัว” ของเกษตรกรที่วางไว้ด้านข้างด้วย ยกตัวอย่าง หัวไชเท้าดองโบราณอายุ 20 ปีของเกษตรกรแผงขายหน่อไม้ หรือจะเป็นไข่ไก่ของผู้ประกอบการฟาร์มเพาะเลี้ยงผึ้ง ซึ่งได้ใช้พื้นที่ว่างในฟาร์มเลี้ยงผึ้งทำปศุสัตว์แบบเปิด ด้วยการเลี้ยงไก่และนำออกวางจำหน่ายสู่ตลาดนัด เพื่อแบ่งปันให้กับผู้บริโภคในราคาย่อมเยา
ทุกสัปดาห์ Hope Plaza จะจัดวางแผงขายสินค้าของเกษตรกรให้มีความแตกต่างกันไป โดยให้สอดคล้องตามฤดูกาลผลิต ดังนั้นในแต่ละสัปดาห์จะมีเกษตรกรจากเมืองต่าง ๆ นำเอาผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นความภาคภูมิใจของพวกเขามาแบ่งปัน ณ ตลาดนัดแห่งนี้
Wang Pitsu ยิ้มและพูดว่า “ทุกครั้งที่มาเยือน Hope Plaza ก็มักจะได้พบเจอกับเซอร์ไพรส์ที่คาดไม่ถึง” เมื่อได้เห็นผลผลิตทางเกษตรที่มีความแปลกใหม่ Wang Pitsu จะต้องไม่พลาดซื้อไปลองลิ้มชิมรสความสดใหม่อย่างแน่นอน เพราะนั่นไม่เพียงสามารถเพิ่มประเด็นการสนทนาบนโต๊ะอาหารเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอรรถรสให้กับชีวิตได้อีกด้วย
เห็ดฟางตากแห้ง หน่อไม้ไผ่สีเหลืองทอง ผลมะเดื่อสีแดง และหัวไชเท้าดอง ทั้งหมดเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่พบเห็นได้ยาก ทำให้ทุกครั้งที่มาเยือน Hope Plaza ตลาดนัดเกษตรกรประจำวันหยุดสุดสัปดาห์ จะมีเซอร์ไพรส์ที่แตกต่างกันไป
การเชื่อมต่อที่งดงามจากแหล่งผลิตสู่โต๊ะอาหาร
Hope Plaza เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ. 2001 เหตุการณ์แผ่นดินไหว 21 กันยายน ค.ศ. 1999 สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ภาคกลางของไต้หวันอย่างหนัก ดังนั้นเพื่อฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้กลับคืนมาโดยเร็ว จึงให้เกษตรกรนำผลผลิตมาจัดแสดงและจำหน่ายในเขตกรุงไทเปซึ่งเป็นเมืองหลวง ประกอบกับเกษตรกรที่มานั้นเต็มไปด้วยความคาดหวังและต่างเฝ้ารอคอยอย่างมีความหวัง จึงตั้งชื่อตลาดแห่งนี้ว่า “Hope Plaza”
คุณสวี่ฮุ่ยอิ๋ง (徐惠瑩) ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มงานแปรรูปและการตลาด กรมการเกษตรและธัญญาหารไต้หวัน เปิดเผยว่า Hope Plaza จัดว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางของภาคการเกษตรไต้หวัน ที่นอกจากจะใช้เป็นสถานที่จัดแสดงและจำหน่ายสินค้าแล้ว ก็ยังคาดหวังว่าจะสามารถถ่ายทอดแนวคิด “อาหารตามฤดูกาล กินของท้องถิ่น” เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนหันมาอุดหนุนสินค้าเกษตรที่ผลิตภายในประเทศ เกษตรกรได้ตระเตรียมฉลากผลิตผลเกษตรอินทรีย์ เครื่องหมาย CAS สินค้าเกษตรยอดเยี่ยมของไต้หวัน ฉลากประวัติการผลิตและการขายของสินค้าเกษตร กับ QRcode ของสินค้าที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับยังแหล่งผลิตได้ ผู้บริโภคที่เข้ามาในสถานที่แห่งนี้ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ผลิต พูดคุยบอกเล่าถึงความพยายามทุ่มเทและเรื่องราวเบื้องหลังการเพาะปลูก ซึ่งช่วยย่นระยะห่างจากแหล่งผลิตสู่โต๊ะอาหารให้เข้าใกล้กันมากขึ้น
จนถึงวันนี้ Hope Plaza ก็ยังคงเป็นตัวช่วยบุกเบิกแหล่งลูกค้าให้กับเกษตรกรจำนวนมาก อาทิ จางเจี้ยนหาว (張建豪) เกษตรกรผู้ปลูกถั่วลิสง ที่ไม่เพียงปลูกถั่วแต่ยังทำลูกอมถั่วลิสงแสนอร่อยไม่ติดฟันออกวางจำหน่าย และเมื่อสามารถสะสมฐานลูกค้าที่ Hope Plaza ได้แล้ว เขาจึงได้ขยับขยายด้วยการซื้อเครื่องจักรแปรรูปผลิตภัณฑ์เบื้องต้นมาติดตั้ง หรืออย่างหูจื้อหง (胡志宏) ที่เพาะปลูกข้าวโพดสีม่วง ซึ่งเป็นเกษตรกรมือใหม่ที่ยังไม่มีช่องทางจัดจำหน่าย ก็ได้ Hope Plaza เป็นเวทีสำหรับจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า จนทุกวันนี้ Hope Plaza ยังมีร้านดอกไม้เล็ก ๆ ที่ให้การต้อนรับลูกค้าเข้ามาเลือกซื้อดอกไม้ดอกเดียว โดยเถ้าแก่ร้านดอกไม้ยิ้มแล้วพูดว่า มาที่ Hope Plaza เพื่อซื้ออาหาร แล้วค่อยแวะซื้อดอกไม้อีก 3 ดอก จะช่วยให้ชีวิตมีอรรถรสเพิ่มขึ้น คุณสวี่ฮุ่ยอิ๋งยิ้มแล้วพูดว่า ทุกครั้งที่ตนมาเยือน Hope Plaza จะใช้เวลาเดินอยู่ที่นี่ตลอดทั้งวัน ค่อย ๆ เดิน ค่อย ๆ สนทนา เมื่อเหนื่อยแล้วก็ไปที่โซนจำหน่ายอาหารเพื่อชิมอาหารทานเล่นเลิศรสที่ทางกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเตรียมไว้ หากเห็นสินค้าที่ชื่นชอบ ต้องขอนามบัตรคนขาย แล้วทำการสั่งให้ส่งสินค้าตรงมาถึงบ้านสะดวกสบายมาก ๆ แต่อย่างไรก็ตาม เธอยังคงสนับสนุนให้ทุกคนมาที่ Hope Plaza ในช่วงเวลาที่ฤดูการผลิตมาถึง เพื่อพบปะกับเพื่อนเกษตรกรแบบตัวต่อตัว ซึ่งก็เหมือนกับว่าเป็นการได้มาพบเจอกับเพื่อนเก่านั่นเอง เพิ่มบรรยากาศพบปะกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ ทำให้ Hope Plaza กลายเป็นสถานที่ถ่ายทอดความสุขอันแสนอบอุ่น.
เพิ่มเติม
ส่งตรงความสดใหม่จากเมืองใหญ่ ตลาด Shi-Dong และตลาดนัดเกษตรกร Hope Plaza