ความหลากหลายของดอกไม้ในตลาดดอกไม้ไทเป เดินชมสักรอบหนึ่งรับรองว่าต้องตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน
การศึกษาเกี่ยวกับเมืองแห่งหนึ่ง ตลาดเปรียบเสมือนตำราที่เต็มไปด้วยเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ในขณะที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าก็ประหนึ่งดังมัคคุเทศก์ที่ช่วยแนะนำเรื่องราวในตำรา “นิตยสารไต้หวันพาโนรามา” ฉบับนี้ จะนำท่านไปเยือนตลาดตี๋ฮั่วเจีย (迪化街) ซึ่งเป็นตลาดแห่งแรกในย่านต้าเต้าเฉิง (大稻埕) กรุงไทเป และตลาดดอกไม้ไทเปที่ช่วยเติมแต่งสีสันให้แก่ชีวิตประจำวันของผู้คน รวมถึงจะนำท่านไปค้นหาบรรยากาศในแบบฉบับของไต้หวันด้วย
ย่านการค้ายุคบุกเบิกของไทเป
ตลาดตี๋ฮั่วเจียเป็นตลาดที่เก่าแก่ที่สุดและมีพัฒนาการสมบูรณ์ที่สุดในประวัติศาสตร์การค้าของไต้หวัน จากการที่ตลาดตี๋ฮั่วเจียตั้งอยู่ใกล้กับท่าเรือต้าเต้าเฉิง จึงกลายเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่มีความสำคัญของไทเปตั้งแต่ยุคปลายศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้งและของชำจากทุกพื้นที่ตั้งแต่เหนือจรดใต้ รวมถึงใบชา สมุนไพรจีนและผ้า เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1853 ชาวเมืองถงอาน มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน ที่อพยพมาอาศัยอยู่ในไต้หวันได้หนีภัยจากย่านว่านหัวมายังย่านต้าเต้าเฉิง ต่อมาในปี ค.ศ. 1860 มีการเปิดใช้ท่าเรือต้าเต้าเฉิง และในปี ค.ศ. 1865 จอห์น ดอดด์ (John Dodd) นักธุรกิจชาวอังกฤษได้นำเข้าต้นกล้าชาจากเมืองอานซี มณฑลฝูเจี้ยนของจีนมาปลูกในพื้นที่ทางภาคเหนือของไต้หวัน นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเพาะปลูกชาในไต้หวันและธุรกิจอบใบชาในย่านต้าเต้าเฉิง ชาอูหลงไต้หวัน (Formosan Oolong Tea) ถูกจำหน่ายออกสู่ตลาดโลกนับแต่นั้นเป็นต้นมา และด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ไต้หวันสามารถก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก
ในหนังสือชื่อ “100 ปีแห่งความรุ่งเรืองของตี๋ฮั่ว” ที่เขียนโดยสวี่ลี่หลิง (許麗芩) ได้พรรณนาถึงเรื่องราวของนักธุรกิจที่ก่อร่างสร้างตัวจากย่านตี๋ฮั่วเจีย อย่างกลุ่มนักธุรกิจที่ได้รับขนานนามว่า กลุ่มไถหนาน ซึ่งประกอบด้วย คุณโหวอวี่ลี่ (侯雨利) และคุณอู๋ซิวฉี (吳修齊) เป็นต้น ต่างก็เริ่มต้นจากธุรกิจค้าผ้า เมื่อสั่งสมเงินทุนได้มากพอแล้วจึงก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิต โดยได้ก่อตั้งอุตสาหกรรมสิ่งทอไถหนาน จากนั้นสร้างอาณาจักรธุรกิจด้วยการขยายไปสู่ธุรกิจอื่นที่มีความหลากหลายมากขึ้น
คุณเกาชิงย่วน (高清愿) เจ้าของกลุ่มทุน Uni-President Enterprises ก็เช่นเดียวกัน เขาก้าวขึ้นมาจากอุตสาหกรรมสิ่งทอซึ่งเป็นธุรกิจเดิมของครอบครัว ต่อมาหันไปเปิดโรงงานแป้งสาลีและสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจอาหารขึ้นมา ร้านสะดวกซื้อในไต้หวันซึ่งเป็นธุรกิจแห่งศตวรรษใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นโดยกลุ่มทุน Uni-President Enterprises ที่ได้รับลิขสิทธิ์จากบริษัท 7-Eleven สำนักงานใหญ่ ได้ริเริ่มการให้บริการในรูปแบบใหม่ที่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่รูปแบบการบริโภคในชีวิตประจำวันของชาวไต้หวัน อีกทั้งยังกลายเป็นความรู้สึกประทับใจเมื่อแรกพบของชาวต่างชาติที่มีต่อวิถีชีวิตที่สะดวกสบายในไต้หวันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่ม Lian-Hwa Foods ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจอาหารเก่าแก่ที่เป็นเจ้าของแบรนด์ขนมขบเคี้ยวที่ชาวไต้หวันรับประทานกันมาตั้งแต่เล็กจนโต อาทิ “Pea Crackers” และ “Cadina” เป็นต้น สิ่งละอันพันละน้อยที่พบเห็นรอบตัวในชีวิตประจำวันเหล่านี้ ล้วนมีต้นกำเนิดมาจากตลาดตี๋ฮั่วเจีย จึงกล่าวได้ว่า ตี๋ฮั่วเจียคือย่านการค้ายุคบุกเบิกของไทเป
คุณหวงซิ่วเจิน (ซ้าย) กับคุณแม่คือคุณเลี่ยวถิงเหยียน (ขวา) สองแม่ลูกทุ่มเทความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อให้ยาจีนกลับมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คน
ร้านยาจีนกลายเป็นทัศนียภาพในชีวิตประจำวันของชาวเมือง
ร้านยาจีนเป็นอีกหนึ่งในทัศนียภาพของตลาดตี๋ฮั่วเจีย คุณหวงซิ่วเจิน (黃秀蓁) ทายาทรุ่นที่ 2 ของร้านยาจีนหวงฉางเซิง (黃長生) ชี้แจงความเป็นมาของร้านยาจีนและตลาดตี๋ฮั่วเจียว่า “สมุนไพรจีนที่นำเข้าจากต่างประเทศจะส่งมาขึ้นบกที่ท่าเรือ ทำให้ย่านตี๋ฮั่วเจียกลายเป็นศูนย์รวมร้านยาจีน”
สำหรับคนรุ่นใหม่แล้ว วิถีการดำเนินชีวิตของพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับยาจีนเลย แต่ในความเป็นจริงแล้วยาจีนไม่ได้อยู่ห่างจากพวกเราเท่าไหร่นัก คุณหวงซิ่วเจินเล่าว่า “ในยุคที่ร้านสะดวกซื้อไม่ได้มีอยู่ทั่วไปเหมือนในปัจจุบัน ร้านยาจีนเปรียบเสมือนร้าน 7-11 ที่จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วย” อย่างเช่น น้ำลูกเดือยที่มักจะดื่มกันสักแก้วในตอนเช้า พริกไทยขาวที่ใช้ในการปรุงอาหาร ถุงเครื่องเทศที่จำเป็นต้องใช้ในการทําพะโล้หรือไข่ต้มใบชา วัตถุดิบที่ใช้ในการทำซุปสมุนไพร 4 ชนิด (四神湯) ได้แก่ ไหว่ซัวหรือหวยซาน (淮山) เม็ดบัว เขี่ยมซิกหรือฉือสือ (茨實) และโป่งรากสนหรือฝูหลิง (茯苓) หรือแม้กระทั่งน้ำบ๊วยที่ผู้คนนิยมดื่มแก้ร้อนในและแก้เลี่ยนในช่วงฤดูร้อนก็ล้วนแล้วแต่เป็นสมุนไพรจีนอย่างหนึ่งทั้งนั้น
ตราบจนถึงปัจจุบันในร้านยาจีนหวงฉางเซิง บ่อยครั้งที่ยังคงพบเห็นกระดาษห่อยาจำนวนมากวางเรียงอยู่บนโต๊ะยาว เถ้าแก่หยิบสมุนไพรจีนจากตู้ที่อยู่ข้างหลังออกมาวางอย่างเป็นระเบียบ จากนั้นทำการห่อยาจีนเป็นชุด ๆ อย่างเรียบร้อย ภายในร้านอบอวลไปด้วยกลิ่นสมุนไพรจีน
กระดาษห่อยาสีชมพู นอกจากมีภาพและคำเตือนเกี่ยวกับสมุนไพรจีนที่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายของความเก่าแก่แล้ว ยังมีคำชี้แจงเกี่ยวกับวิธีการตุ๋นยาจีนซึ่งมี 5 ขั้นตอนสำคัญ โดยเริ่มจากการเทสมุนไพรลงไปในหม้อไฟฟ้า ใส่น้ำ 2 แก้วลงไปในหม้อด้านนอก จากนั้นเพียงกดสวิตซ์ก็เรียบร้อยแล้ว
เพื่อให้การตุ๋นยาจีนกลายเป็นเรื่องง่ายเหมือนกับการใช้กล้องถ่ายรูปอัตโนมัติ และเพื่อให้ลูกค้าชาวต่างชาติได้ใกล้ชิดกับสมุนไพรจีนมากขึ้น ร้านยาจีนหวงฉางเซิงจึงคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ ถุงไวน์เครื่องเทศ (Mulled wine spice mix) ถุงสมุนไพรจีนสำหรับแช่เท้า ถุงสมุนไพรจีนสำหรับแช่ในอ่างอาบน้ำ และยังคิดค้นถุงสมุนไพรจีนแช่ในอ่างอาบน้ำสำหรับสตรีที่เพิ่งคลอดบุตร และยาบำรุงสุขภาพสำหรับสตรีที่กำลังอยู่เดือน รวมถึงถุงสมุนไพรจีนแช่ในอ่างอาบน้ำสำหรับทารกที่แรกเกิด ทำจากสมุนไพรโกฐจุฬาลัมพา
ชาวยุโรปและชาวอเมริกันมักสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเครื่องเทศของโลกตะวันออก พวกเขายังสนใจเครื่องเทศที่ใช้ในการทำพะโล้สไตล์ไต้หวันเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ ชาแบบซองอย่างชาดอกไม้ทั่วไปที่มีความใกล้เคียงกับวัฒนธรรมและความเคยชินของพวกเขา ก็ได้รับการยอมรับในระดับสูงเช่นกัน
ซึมซับประเพณีรับประทานอาหารมื้อค่ำ ในคืนส่งท้ายปีเก่าจากสินค้าตรุษจีนที่ตี๋ฮั่วเจีย
ในอดีต ชาวเมืองถงอานอพยพมาอยู่ที่ย่านต้าเต้าเฉิง ก็เพราะเล็งเห็นว่าที่นี่เป็นท่าเรือ สามารถทำการค้าระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันได้ นับแต่นั้นเป็นต้นมา ที่นี่ได้กลายเป็นแหล่งรวมบริษัทและห้างร้านต่าง ๆ จากทั่วทุกสารทิศ ผู้ที่ต้องการค้าขายของชำและอาหารแห้งต้องมาที่ตลาดตี๋ฮั่วเจียเท่านั้น ตระกูลของคุณหลี่รื่อเซิ่ง (李日勝) ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น
อากงของคุณหลี่รื่อเซิ่งทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในย่านตี๋ฮั่วเจียตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี และคนในตระกูลของเขาต่างลงหลักปักฐานอยู่ที่นี่ มารดาของคุณหลี่รื่อเซิ่งคือคุณหวังลี่ผิง (王麗蘋) ได้สมรสกับคุณหลี่เจียโห้ว (李家後) และเรียนรู้การทำธุรกิจค้าขายของชำและอาหารแห้งกับพ่อแม่สามี ต่อมาในปี ค.ศ. 1986 ยังได้จัดตั้ง “บริษัทหลี่รื่อเซิ่งจำกัด” และได้นำเอาชื่อลูกชายคือ หลี่รื่อเซิ่ง มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์สินค้าอีกด้วย
คุณหลี่รื่อเซิ่งซึ่งกลับมารับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัวเล่าถึงความทรงจำที่มีต่อตลาดตี๋ฮั่วเจียว่า “ตอนที่ผมเป็นเด็กมีความรู้สึกว่าย่านนี้เหมือนไม่ใช่ไทเปที่ศิวิไลซ์ ความจริงย่านนี้เก่าแก่มาก” “คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในย่านนี้จะรู้จักเพื่อนบ้านทุกครัวเรือนและจะทักทายกันเสมอ ในไทเปยากจะหาสถานที่ใดที่เป็นแบบนี้ รูปแบบการดำรงชีวิตก็เหมือนกัน ที่นี่หลัง 6 โมงเย็นไปแล้วท้องถนนจะว่างเปล่า เพราะผู้คนต่างพักผ่อนกันหมดแล้ว”
แต่หากเป็นช่วงตรุษจีนก็จะแตกต่างจากในช่วงปกติมาก คุณหลี่รื่อเซิ่งเล่าถึงอดีตว่า “3 เดือนก่อนที่จะถึงวันไหว้ ที่บ้านของเราก็เริ่มวุ่นวายกับการเตรียมการต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มวางแผนสั่งซื้อและสำรองสินค้า” ในยามปกติร้านค้าจะนำสินค้าหลากชนิดออกมาจัดวางไว้ที่ทางเดินหน้าร้าน เมื่อถึงช่วงที่ผู้คนมาซื้อของกินของใช้สำหรับเทศกาลตรุษจีน อาหารแห้งหลากชนิดจะถูกนำมากองเป็นภูเขาเลากา มากมายจนแทบจะล้นออกไปนอกร้าน
พวกเรานึกว่านักท่องเที่ยวชาวยุโรปและอเมริกันจะไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารแห้งและไข่ปลากระบอก คุณหลี่รื่อเซิ่งกลับกล่าวว่า การตากแห้งเป็นหนึ่งในวิธีการถนอมอาหารที่ทำกันทั่วโลก ไข่ปลากระบอกไม่ถือว่าเป็นของแปลกสำหรับโลกตะวันตก อาหารฝรั่งเศสและอาหารอิตาลีล้วนมีการใช้ไข่ปลากระบอกมาปรุงเป็นอาหาร เพียงแต่เป็นการนำเอาไข่ปลากระบอกมาบดเป็นผงเพื่อใช้เป็นเครื่องปรุงรสและเพิ่มกลิ่นของอาหารให้หอมหวนมากขึ้น สินค้าหลักของคุณหลี่รื่อเซิ่งคือไข่ปลากระบอกแฮนด์เมดที่ผลิตในไต้หวันและเป็นไข่ของปลากระบอกที่เติบโตตามธรรมชาติ โดยเน้นถึงกรรมวิธีการผลิตในแบบฉบับของไต้หวันเท่านั้น จึงจะได้รสชาติที่เป็นหนึ่งไม่มีสอง
การนำเอาบริบทของไต้หวันมาสื่อสารกับทั่วโลก อาหารเป็นสะพานที่ช่วยเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้ง่ายที่สุด ในความคิดของคุณหลี่รื่อเซิ่ง การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างโลกตะวันตกกับตะวันออกเริ่มต้นขึ้นจากไข่ปลากระบอกนี่เอง
เมนูอาหารมื้อค่ำในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับตรุษจีน มักจะใช้อาหารแห้งเป็นวัตถุดิบ แต่สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้เข้าครัวทำอาหาร จะมีความรู้สึกว่าอาหารแห้งเป็นอะไรที่ไกลตัว คุณหลี่รื่อเซิ่งจะสอนวิธีใช้อาหารแห้งมาประกอบอาหารแบบง่าย ๆ และกลายเป็นหนึ่งในเมนูอาหารมื้อค่ำในคืนวันส่งท้ายปีเก่าก่อนวันตรุษจีน คุณหลี่รื่อเซิ่งกล่าวติดตลกว่า “อาหารมื้อค่ำในคืนวันส่งท้ายปีเก่าของหลายครอบครัวมาจากเตาไมโครเวฟ เมื่อเสียงดัง “ปิ๊ด” จากเตาไมโคเวฟดังขึ้น ทุกคนก็นั่งประจำที่ได้” แต่ในอดีตไม่ใช่แบบนี้ ในอดีตหลังเที่ยงไปแล้ว สมาชิกในครอบครัวจะทยอยมารวมกลุ่มกันเพื่อเตรียมทำอาหารพลางพูดคุยไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของกันและกัน บรรยากาศและสภาพการณ์แบบนั้นนั่นเองคือ “ความดั้งเดิม” ที่คุณหลี่รื่อเซิ่งต้องการจะอนุรักษ์เอาไว้
คุณหลี่รื่อเซิ่งคาดหวังว่า อาหารแห้งจะช่วยดึงความดั้งเดิมของอาหารมื้อค่ำในคืนส่งท้ายปีเก่าต้อนรับตรุษจีนกลับคืนมา
พานพบสี่ฤดูกาลของไต้หวัน
ตีสี่เริ่มการประมูลขายดอกไม้ ตีห้าและหกโมงเช้า เจ้าของร้านดอกไม้ นักจัดดอกไม้และโรงเรียนสอนจัดดอกไม้จะทยอยเข้ามาซื้อดอกไม้ที่ต้องการ ประชาชนทั่วไปก็จะเข้ามาเลือกหาซื้อดอกไม้เพื่อนำไปใช้ประดับตกแต่งที่บ้าน เพิ่มสีสันให้กับชีวิตประจำวัน เที่ยงตรง พ่อค้าดอกไม้จะเตรียมเก็บแผง ใครที่ต้องการซื้อดอกไม้ ขอเชิญมาใหม่ในเช้าวันรุ่งขึ้น
คุณหวงลี่เจวียน (黃麗娟) ผู้จัดการทั่วไป สมาคมพัฒนาการปลูกพืชไม้ดอกไต้หวัน (Taiwan Floriculture Development Association) ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์นำชมตลาดดอกไม้ไทเปพลางเล่าว่า “ตลาดดอกไม้ไทเปเป็นตลาดค้าปลีกและค้าส่งดอกไม้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในไต้หวัน มีแผงขายดอกไม้ทั้งหมด 200 กว่าแผง โดยภาพรวม กล่าวได้ว่าร้อยละ 80 เป็นดอกไม้ที่ผลิตในไต้หวัน ร้อยละ 20 เป็นดอกไม้ที่นำเข้าจากต่างประเทศ” ดอกไม้ที่ผลิตในไต้หวันถูกส่งมาจากแหล่งผลิตทั่วประเทศ โดยแหล่งผลิตสำคัญอยู่ที่นครไทจง จางฮั่ว หนานโถว หยุนหลิน เจียอี้และไถหนาน ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวจัดเป็นช่วงที่มีดอกไม้ออกสู่ตลาดมากที่สุด ส่วนฤดูร้อนเนื่องจากอากาศร้อนไม่เป็นผลดีต่อการผลิตดอกไม้ ดังนั้นเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดจึงมักจะได้เห็นมีการนำเข้าดอกไม้จากต่างประเทศ เช่น เนเธอร์แลนด์ เอกวาดอร์ เวียดนาม ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เป็นต้น
จากประสบการณ์ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการอุตสาหกรรมดอกไม้เป็นเวลานานกว่า 30 ปี คุณหวงลี่เจวียนแสดงความเห็นว่า “ดอกไม้ในไต้หวันใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาในวัดและศาลเจ้ามากที่สุด ครองสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ 30 โดยทั่วไปคนไต้หวันจะทำพิธีเซ่นไหว้ในวันขึ้น 1 ค่ำและ 15 ค่ำ ส่วนบริษัทห้างร้านที่ประกอบธุรกิจจะทำพิธีเซ่นไหว้ในวันขึ้น 2 ค่ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องใช้ดอกไม้ทั้งสิ้น” คุณหวงลี่เจวียนแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้จากการสังเกตของเธอเองว่า “ในอดีตตามแนวคิดแบบดั้งเดิม ดอกไม้จะหมายถึง ดอกเบญจมาศ ดอกกุหลาบและดอกแกลดิโอลัสหรือดอกซ่อนกลิ่นฝรั่ง เป็นต้น ส่วนสีของดอกไม้ก็จะเป็นโทนสีแบบดั้งเดิม เช่น สีแดง ขาว เหลืองและม่วง แต่ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาจะเป็นดอกไม้ชนิดใหม่ เช่น ดอกไลเซนทัส กล้วยไม้สกุลออนซิเดียม ดอกบานชื่นและดอกเดซีแอฟริกา เป็นต้น ทั้งชนิดและสายพันธุ์ของดอกไม้ล้วนมีความหลากหลายมากขึ้น”
นอกจากนี้ ดอกไม้และใบไม้ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการจัดช่อดอกไม้ก็ทำให้ผู้คนรู้สึกตื่นตาตื่นใจ ในอดีตส่วนใหญ่มักจะเป็นเฟิร์นโปร่งฟ้าและยิปโซฟิลล่า แต่ในปัจจุบันบนแผงขายดอกไม้มีมากมายหลายชนิด อาทิ ยูคาลิปตัส มอนสเตอร่า ปริก ธิสเซิล เอคไคนอพซ์ สนแผง เฟิร์นข้าหลวงและเฟิร์นชนิดต่าง ๆ บนแผงยังมีใบไม้ที่ไม่รู้ชื่อ รูปทรงแปลก ๆ และแตกต่างกันอีกหลายชนิด
คุณหวงลี่เจวียนมีโอกาสได้ให้การต้อนรับคณะผู้เชี่ยวชาญด้านดอกไม้จากต่างประเทศที่เดินทางมาเยี่ยมชมบ่อยครั้ง เธอเล่าว่า ที่พบบ่อยที่สุดคือผู้มาเยือนจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจและชื่นชมความหลากหลายในตลาดดอกไม้ไทเป ประเทศเล็ก ๆ แต่มีชนิดของพรรณพืชและสายพันธุ์มากมาย คุณหวงลี่เจวียนสรุปในตอนท้ายว่า “แค่แผงขายดอกไม้เพียงแผงเดียวก็รวบรวมสายพันธุ์ต่าง ๆ ไว้มากมายขนาดนี้ ทำให้สามารถคาดเดาได้ว่าอุตสาหกรรมที่อยู่เบื้องหลังจะมีความสมบูรณ์และความหลากหลายเพียงใด”
เพิ่มเติม
ตลาดที่มีเอกลักษณ์ ในแบบฉบับของไต้หวัน ตลาดตี๋ฮั่วเจียและตลาดดอกไม้ไทเป