ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวนสพ. Handelsblatt ของเยอรมนี เรียกร้องให้การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ร่วมสนับสนุนไต้หวันให้พ้นจากการรุกรานของจีน
2023-05-19
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวนสพ. Handelsblatt ของเยอรมนี เรียกร้องให้การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ร่วมสนับสนุนไต้หวันให้พ้นจากการรุกรานของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวนสพ. Handelsblatt ของเยอรมนี เรียกร้องให้การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ร่วมสนับสนุนไต้หวันให้พ้นจากการรุกรานของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 18 พ.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Martin Kölling ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ Handelsblatt ของเยอรมนี ที่ประจำอยู่ในกรุงโตเกียว โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกตีพิมพ์ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ภายใต้หัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวัน เผย จีนเตรียมพร้อมสำหรับการบุกไต้หวัน” (Taiwans Außenminister: “China bereitet sich auf Krieg vor”) ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกแวดวงในเยอรมนีเป็นอย่างมาก
 
ในระหว่างการให้สัมภาษณ์ รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า จีนได้ทวีความรุนแรงในการข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารในช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดว่าเป็นการเตรียมความพร้อมในการก่อสงคราม อย่างไรก็ตาม ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวัน ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 40 ของโลก ประกอบกับแผ่นชิปวงจรรวมทั่วโลก กว่าร้อยละ 90 มีแหล่งผลิตจากในไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ ปัจจัยด้านสันติภาพในช่องแคบไต้หวันจึงมีความเกี่ยวพันกับเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก ซึ่งสหภาพยุโรป (EU) และประชาคมโลกต่างให้ความสำคัญต่อประเด็นนี้เป็นอย่างมาก Ms. Annalena Baerbock รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนี ก็ได้ประกาศเน้นย้ำในเวทีนานาชาติอยู่บ่อยครั้งว่า การเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันด้วยกำลังทหารเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ โดยรมว.อู๋ฯ หวังว่าในการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (G7) ที่เตรียมจะเปิดฉากขึ้นที่ญี่ปุ่นในเร็ววันนี้ นานาประเทศทั่วโลกจะร่วมผนึกกำลังในการสนับสนุนไต้หวันอย่างเต็มที่อีกครั้ง
 
รมว.อู๋ฯ วิเคราะห์ว่า ผู้นำจีนได้ใช้กลยุทธ์ “บีบให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน แทนการทำสงคราม” ที่ระบุไว้ในสงครามพิชัยสงครามซุนจื่อ (The Art of War by Sunzi) ต่อไต้หวัน อันจะเห็นได้จากการเพิ่มแรงกดดันด้านกำลังทหารต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มความถี่ในการฝึกซ้อมรบ และการจัดส่งเครื่องบินรบและอากาศยานไร้คนขับ เข้าก่อกวนในน่านฟ้าโดยรอบของไต้หวัน รวมไปถึงการระงับการประชุมระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน การสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ และการเผยแพร่ข่าวปลอมจำนวนมหาศาล การแทรกซึมทางการเมืองและการก่อสงครามลูกผสมในพื้นที่สีเทา อีกทั้งจีนยังพยายามบีบพื้นที่บนเวทีนานาชาติ และเข้าขัดขวางไต้หวันมิให้เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อต้องการบรรลุวัตถุประสงค์ในการบ่อนทำลายไต้หวันโดยไม่ต้องใช้กำลังทหาร
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า นอกจากประชาชนชาวไต้หวันจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างหนักแน่นแล้ว รัฐบาลก็ยังเร่งเสริมสร้างความพร้อมในด้านกลาโหมอย่างกระตือรือร้น เพื่อทำการปฏิรูปด้านกลาโหม พร้อมทั้งแสวงหาพลังเสียงสนับสนุนจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสกัดกั้นการบุกรุกรานจากจีนอย่างมีประสิทธิภาพ
 
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า หลายปีมานี้จีนได้เร่งเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมอย่างกระตือรือร้น ซึ่งนอกจากการเตรียมเรือบรรทุกเครื่องบิน เครื่องบินรบรูปแบบใหม่ และขีปนาวุธจำนวนมหาศาลแล้ว จีนยังมีเรือรบลำใหญ่ที่สุดในโลกด้วย โดยความทะเยอทะยานและขอบเขตในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน มิได้จำกัดเพียงเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น  แต่ยังขยายไปสู่พื้นที่ทะเลจีนใต้ ทะเลจีนตะวันออก และทะลวงผ่านพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 ไปสู่พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ด้วยเหตุนี้ ประชาคมโลกจึงควรประสานความร่วมมือกันอย่างสามัคคี เพื่อร่วมสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีน
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า หลายประเทศในทวีปยุโรปต่างตระหนักเห็นแล้วว่า ไม่ควรอ่อนข้อให้กับแรงกดดันจากจีนและจำกัดการแลกเปลี่ยนกับไต้หวัน โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Ms. Bettina Stark-Watzinger รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและการวิจัยแห่งชาติเยอรมนี ได้นำคณะเดินทางเยือนไต้หวัน นับเป็นครั้งแรกในรอบ 26 ปีที่เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับรัฐมนตรีของเยอรมนีเดินทางเยือนไต้หวัน ถือเป็นบทพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นเด่นชัดอย่างเป็นรูปธรรม โดยรมว.อู๋ฯ ได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีสิทธิในการร่วมกำหนดนโยบายของเยอรมนี เดินทางมาเยือนไต้หวันให้มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นด้านเทคโนโลยี การศึกษา วัฒนธรรมและเศรษฐกิจแบบทวิภาคี ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในเชิงลึกต่อไป พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อย่างองค์การอนามัยโลก (WHO) อย่างต่อเนื่องต่อไป