กระทรวงแรงงาน วันที่ 30 พ.ค. 66
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการร่วมหารือปัญหาด้านแรงงานไต้หวัน - ไทย ครั้งที่ 22 ได้เปิดฉากขึ้น ณ โรงแรม Grand Mayfull Taipei โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐฝ่ายไต้หวัน - ไทย เข้าร่วมหารือกันในประเด็นความร่วมมือด้านแรงงานที่มีความสำคัญและบรรลุฉันทามติร่วมกันหลายรายการ
การประชุมคณะกรรมการร่วมหารือปัญหาด้านแรงงานไต้หวัน - ไทย ครั้งที่ 22 ไต้หวันรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพ โดยมีนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงานของไทย นำคณะตัวแทนเข้าร่วม โดยการประชุมในครั้งนี้มีนายไช่ม่งเหลียง อธิบดีกรมพัฒนากำลังแรงงาน กระทรวงแรงงาน สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ร่วมทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุม อธิบดีไช่ฯ กล่าวในระหว่างพิธีเปิดการประชุมว่า แรงงานไทยในไต้หวันส่วนมากจะเข้าประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมการผลิตหรืออุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งทักษะฝีมือและทัศนคติในการทำงาน ล้วนได้รับการยอมรับจากนายจ้างชาวไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ นายจ้างจึงได้ยื่นขอยกระดับแรงงานไทยจำนวนมากให้เป็นแรงงานกึ่งฝีมือ จากข้อมูลสถิติ ณ ปลายเดือนเมษายน ปี 2023 แรงงานไทยที่ได้รับการยกระดับเป็นแรงงานกึ่งฝีมือเพิ่มเป็น 696 คน จาก 127 คน ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2022 ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นเกือบ 5 เท่า อธิบดีไช่ฯ จึงได้ใช้โอกาสนี้ขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความร่วมมือต่อการผลักดันนโยบายของไต้หวัน ในขณะที่อธิบดีไพโรจน์ กล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศที่ได้รับความนิยมและมีแรงงานไทยเดินทางมาทำงานมากที่สุด ซึ่งนอกจากจะเป็นตัวเลือกอันดับหนึ่งของแรงงานไทยแล้ว ยังเป็นประเทศที่มีกลไกการบริหารแรงงานต่างชาติที่ดีที่สุดอีกด้วย ปัญหาแรงงานจึงมีไม่มาก อธิบดีไพโรจน์จึงขอแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลไต้หวันที่มุ่งมั่นสร้างหลักประกันด้านสิทธิประโยชน์ให้แก่กลุ่มแรงงานไทย ด้านนายทวีเกียรติ เจนประจักษ์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย ก็ได้กล่าวขอบคุณเจ้าหน้าที่ป้องกันโรคระบาดที่ให้บริการดูแลแรงงานไทยในไต้หวัน ภายใต้สถานการณ์โควิด – 19 ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 พร้อมกล่าวว่า หลังยุคโควิด – 19 ทั้งไทย – ไต้หวัน ต่างได้ทำการฟื้นฟูการแลกเปลี่ยน ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การศึกษาและการลงทุน ตลอดจนทำการเสริมสร้างความร่วมมือด้านแรงงาน ให้เกิดความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น
การประชุมคณะกรรมการร่วมหารือปัญหาด้านแรงงานไต้หวัน - ไทยในครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมอภิปรายในประเด็นการบริหารแรงงานไทยที่เข้ามาทำงานในไต้หวัน รวมถึงหลักประกันทางสิทธิประโยชน์ของแรงงาน ซึ่งสามารถสรุปใจความสำคัญโดยสังเขป ดังนี้ :
1. ฝ่ายไต้หวัน – ไทยจะเร่งเพิ่มการประชาสัมพันธ์ต่อกลุ่มแรงงานไทย ให้เคารพกฎหมายเกี่ยวกับรถจักรยานไฟฟ้า การตรวจกักกันโรคพืชและสัตว์ การป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และการขับขี่ยานพาหนะหลังดื่มสุรา พร้อมทั้งประยุกต์ใช้สื่อโซเชียลในการส่งมอบข้อมูลด้านกฎหมายล่าสุดให้แก่กลุ่มแรงงาน โดยฝ่ายไทยจะทำการประชาสัมพันธ์ระเบียบกฎหมายของไต้หวัน ด้วยการนำเสนอผ่านการ์ตูนแอนิเมชันและหยิบยกกรณีตัวอย่างเพื่อประกอบความเข้าใจ ในระหว่างการฝึกอบรมก่อนเดินทาง ส่วนฝ่ายไต้หวันก็จะเรียกร้องให้นายจ้างและบริษัทจัดหางาน เร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้แรงงานได้รับทราบถึงผลจากการละเมิดกฎหมายในไต้หวัน
2. ฝ่ายไต้หวันจะมอบ “คู่มือการป้องกันและปราบปรามการใช้ยาเสพติด” ฉบับภาษาไทยให้แก่ฝ่ายไทยเพื่อให้ฝ่ายไทยเพิ่มการชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับกัญชา ซึ่งในไต้หวันยังคงจัดเป็นยาเสพติดประเภท 2 ไม่อนุญาตให้มีการเพาะปลูก จัดซื้อ จำหน่ายและเสพกัญชา จึงขอให้ฝ่ายไทยช่วยประชาสัมพันธ์ให้แรงงานไทยได้รับทราบระหว่างการฝึกอบรมก่อนการเดินทาง โดยทั้งสองฝ่ายจะประยุกต์ใช้สื่อโซเชียล เสริมสร้างการประชาสัมพันธ์ข้อมูลที่เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด นอกจากนี้ ฝ่ายไทยจะแจ้งและจัดส่งข้อมูลผลิตภัณฑ์ยาที่ต้องสงสัย ที่รวบรวมได้จากแรงงานไทยที่นำมาส่งมอบเพื่อเป็นประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจเมืองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไต้หวัน ในการตรวจสอบแหล่งที่มาต่อไป
3. ทั้งสองฝ่ายจะประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อป้องกันการหลบหนีของแรงงานไทย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างกลไกป้องกันปราบปราม รวมถึงการตรวจสอบพฤติกรรมการชักชวนและจัดหางานแบบผิดกฎหมาย ผ่านสื่อโซเชียล โดยฝ่ายไต้หวันจะให้ความช่วยเหลือแก่นายจ้างและบริษัทจัดหางาน ในการเสริมสร้างการบริหารดูแลภายในหอพักและจัดเตรียมล่ามแปลภาษา เพื่อสกัดกั้นพฤติกรรมการจัดหางานที่ผิดกฎหมาย
4. ฝ่ายไต้หวัน – ไทยจะเร่งเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผลจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ในปริมาณที่มากเกินควร พร้อมแจ้งเตือนให้กลุ่มแรงงาน ปฏิเสธการซื้อเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ที่มีราคาไม่เหมาะสมหรือระบุแหล่งที่มาไม่ชัดเจน เพื่อปกป้องสุขภาพและส่งเสริมแนวคิดที่ถูกต้องในการดื่มแอลกฮอลล์ โดยฝ่ายไต้หวันจะทำการสุ่มตรวจสอบเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
หลังเสร็จสิ้นการประชุมฯ กระทรวงแรงงานไต้หวันยังได้นำคณะตัวแทนไทย เดินทางเข้าเยี่ยมชม “ศูนย์บริการแรงงานแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว” โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยต่างให้การชื่นชมว่า หลังจากที่เดินทางเข้าไต้หวันและรับการฝึกอบรมแล้ว เหล่าแรงงานก็จะได้รับใบอนุญาตทำงาน บัตรถิ่นที่อยู่ เข้าระบบประกันอุบัติเหตุจากการทำงานและระบบประกันสุขภาพ รวมถึงการรายงานตัวหลังเดินทางเข้าไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นายจ้างและแรงงาน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมให้แรงงานเกิดความเข้าใจต่อสิทธิประโยชน์ของตนอย่างครอบคลุมหลังจากที่เดินทางเข้าสู่ไต้หวัน แม้ว่าในปัจจุบันเป็นการให้บริการเฉพาะผู้อนุบาลก่อน แต่ฝ่ายไทยก็ได้แสดงความชื่นชมต่อการจัดตั้งศูนย์บริการแรงงานแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว เป็นอย่างยิ่ง