กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 31 พ.ค. 66
เมื่อวันที่ 30 พ.ค. นายหลี่ฉุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมกรุงบราติสลาวา” (Bratislava Forum) ครั้งที่ 18 ที่จัดขึ้นในกรุงบราติสลาวา เมืองหลวงของสาธารณรัฐสโลวัก ซึ่งจัดโดย “การประชุมความมั่นคงโลก” (GLOBSEC) คลังสมองที่มีชื่อเสียงในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก โดยหัวข้อการประชุมหลักคือ “การสนับสนุนยูเครนอย่างต่อเนื่อง” (Continuing Support for Ukraine) โดยมีบุคคลสำคัญทางการเมืองจากกว่า 60 ประเทศเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วย H.E. Emmanuel Macron ประธานาธิบดีสาธารณรัฐฝรั่งเศส H.E. Zuzana Čaputová ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสโลวัก Mr. Petr Fiala นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก Ms. Ingrida Šimonytė นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐลิทัวเนีย Ms. Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป และ Ms. Roberta Metsola ประธานรัฐสภายุโรป
รมช.หลี่ฯ ได้แสดงปาฐกถาและร่วมการประชุมเสวนา ภายใต้หัวข้อ “ยูเครนและไต้หวัน : เหตุใดความสามัคคีกันของโลกจึงมีความสำคัญ” (Ukraine and Taiwan: Why Global Unity Matters) โดยรมช.หลี่ฯ ได้ชี้แจงจุดยืนในประเด็นสงครามรัสเซีย – ยูเครน รวมถึงประเด็นช่องแคบไต้หวัน รมช.หลี่ฯ แถลงว่า ประชาชนชาวไต้หวันรู้สึกนับถือความกล้าหาญของยูเครน ยูเครนนอกจากจะต่อสู้เพื่อประเทศชาติแล้ว ยังต่อสู้เพื่อไต้หวันและประชาธิปไตยโลกด้วยเช่นกัน หลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน ประชาคมโลกต่างตระหนักถึงความเสี่ยงที่ไต้หวันต้องเผชิญ โดยเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) ได้มีการประกาศแถลงการณ์ ซึ่งระบุอย่างชัดเจนถึงการต่อต้านพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันด้วยกำลังอาวุธ ที่เกิดจากความเห็นชอบเพียงฝ่ายเดียว การที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยยิ่งสามัคคีกันก็จะยิ่งทำให้การสกัดกั้นการรุกรานของจีนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
รมช.หลี่ฯ ชี้แจงว่า มิตรสหายนานาชาติส่วนมากต่างคิดเห็นว่า การรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นผลอันเนื่องมาจากการการมองข้ามหรือการปล่อยปละละเลยของประชาคมโลกมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งควรค่าแก่การจดจำไว้เป็นบทเรียน การสำแดงให้เห็นถึงความสามัคคีของประชาคมโลก เป็นหนทางเดียวในการสกัดกั้นการรุกรานไต้หวันด้วยกำลังอาวุธของอำนาจเผด็จการจากจีน นอกจากนี้ ไต้หวันตระหนักดีว่า การธำรงรักษารูปแบบวิถีชีวิตแห่งประชาธิปไตยและเสรีภาพ เป็นพันธกิจที่สำคัญของพวกเรา โดยพวกเราได้เร่งตระเตรียมความพร้อมทางกลาโหมอย่างกระตือรือร้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ศักยภาพและความตั้งใจจริงของไต้หวัน
ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐลิทัวเนีย กล่าวว่า การประสานความร่วมมือในการสกัดกั้นลัทธิอำนาจนิยมของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย มีความสำคัญยิ่ง จึงขอเรียกร้องให้กลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ เร่งเสริมสร้างจุดยืนว่าด้วยการต่อต้านการรุกรานของรัสเซียที่เป็นประเทศเผด็จการ
ประธานสมาคมกิจการระดับโลกของนครชิคาโก ( The Chicago Council on Global Affairs) คลังสมองของสหรัฐฯ ระบุว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนไต้หวันและยูเครนในการต่อกรกับการแผ่ขยายอำนาจเผด็จการของจีนและรัสเซีย โดยสหรัฐฯ จะให้ความช่วยเหลือไต้หวันในการเสริมสร้างเกราะความมั่นคงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น การที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลกให้การสนับสนุนไต้หวัน เป็นแนวทางการสกัดกั้นการรุกรานของจีนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
นอกจากนี้ ประธานคณะกรรมาธิการกลาโหมแห่งรัฐสภาอังกฤษ ก็ได้ให้การยอมรับและตอบสนองว่า เมื่อมองย้อนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ รัสเซียบุกโจมตีดินแดนจอร์เจีย และผนวกแคว้นไครเมียเป็นของตนเอง อีกทั้งยังได้ประกาศสงครามรัสเซีย – ยูเครนเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่แล้ว จากเหตุการณ์เหล่านี้ ยิ่งทำให้เห็นว่า กลุ่มประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ควรร่วมมือกันให้การสนับสนุนไต้หวัน เพื่อมิให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกครั้ง
รมช.หลี่ฯ กล่าวว่า รัฐบาลจีนได้ขัดขวางไต้หวันเข้าร่วมองค์กรที่เกี่ยวข้องของสหประชาชาติ ทุกวิถีทางอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังก่อสงครามจิตวิทยากับไต้หวัน และยังตั้งใจแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวัน อย่างไรก็ตาม จีนก็คงไม่สามารถส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไต้หวันได้ รมช.หลี่ฯ ขอเรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ร่วมต่อต้าน “นโยบายจีนเดียว” ที่กำหนดขึ้นโดยรัฐบาลปักกิ่ง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับไต้หวัน เพื่อจัดตั้งเครือข่ายประชาธิปไตยที่มีความทรหดระดับโลกต่อไป