กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 3 มิ.ย. 66
เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Ms. Susanna Bastaroli หัวหน้าบรรณาธิการ ฝ่ายข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์ Die Presse ของออสเตรีย โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ ภายใต้หัวข้อ “อู๋เจาเซี่ย รมว.กต.ไต้หวัน : วิกฤตความขัดแย้งทางทหารในพื้นที่สองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง” (Taiwans Außenminister Joseph Wu: "Die Gefahr einer Militär-Eskalation wächst stetig") ซึ่งได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายจากทุกแวดวงในออสเตรียและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปที่ใช้ภาษาเยอรมัน
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า จีนยังคงทำการซ้อมรบในพื้นที่รอบน่านน้ำไต้หวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมกล่าวอ้างว่า พื้นที่ช่องแคบไต้หวันมิใช่น่านน้ำสากล อีกทั้งยังได้จัดส่งเครื่องบินรบและเรือรบเข้ารุกล้ำเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวัน เป็นจำนวนบ่อยครั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายสถานภาพเดิมของความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันในปัจจุบัน ส่งผลให้ความเสี่ยงทางการทหารในระดับภูมิภาค ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สงครามช่องแคบไต้หวันยังมิใช่ประเด็นเร่งด่วนในช่วงเวลานี้ แต่ไต้หวันได้มุ่งมั่นป้องกันมิให้เกิดการก่อสงคราม เร่งธำรงรักษาสถานภาพในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะหลีกเลี่ยงการยั่วยุแล้ว ยังมุ่งมั่นเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองควบคู่ไปด้วย อาทิ การเร่งปฏิรูปอุตสาหกรรมกลาโหม การขยายเวลารับใช้ประเทศชาติของทหารเกณฑ์ การเสริมสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหมที่ขาดความสมดุล และการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์กับสหรัฐฯ เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้จีนตระหนักว่า มิใช่เรื่องง่ายที่จะเข้ายึดครองไต้หวัน นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้รับข้อคิดจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน ว่า พลังการสนับสนุนจากประชาคมโลก นับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการสกัดกั้นการรุกรานจากจีน
รมว.อู๋ฯ วิเคราะห์ว่า หากช่องแคบไต้หวันเกิดสงคราม จะนำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรงต่อประชาคมโลกอย่างแน่นอน เนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวันครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก อีกทั้งแผ่นชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยไต้หวัน ยังครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกเกินครึ่งของโลก ด้วยเหตุนี้ ทั่วโลกจึงควรกระตุ้นให้จีนตระหนักด้วยว่า ผลกระทบที่อาจเกิดจากการรุกรานไต้หวัน มีความรุนแรงอย่างยิ่งยวด ทั้งยังไม่เป็นผลดีต่อจีนอีกด้วย ในระยะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของสหภาพยุโรป (EU) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ รวมไปถึงแถลงการณ์ร่วมของการประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) และการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงอื่นๆ ต่างได้ให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันเป็นอย่างมาก ควบคู่ไปกับการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวันอย่างฉาบฉวย
รมว.อู๋ฯ ได้เตือนประชาคมโลกว่า จีนได้ทำการโจมตีไต้หวันผ่านช่องทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการเผยแพร่ข่าวปลอมและสงครามจิตวิทยา อีกทั้งยังต้องการเข้าแทรกซึมในสังคมไต้หวัน เพื่อสร้างความหวาดระแวงให้เกิดขึ้นภายในสังคมไต้หวัน อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความพยายามของรัฐบาลและองค์การนอกภาครัฐของไต้หวัน ทำให้ไต้หวันสามารถสกัดกั้นการโจมตีด้วยสงครามลูกผสมจากจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การโจมตีด้วยข่าวปลอมจากจีนยังได้ลุกลามไปสู่ทุกพื้นที่ทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายความเชื่อมั่นของมวลมนุษยชาติที่มีต่อประชาธิปไตย โดยประสบการณ์การสกัดกั้นการโจมตีทางไซเบอร์และการรับมือกับข่าวปลอมของไต้หวัน ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป โดยพวกเรายินดีที่จะร่วมแบ่งปันเพื่อเป็นประโยชน์แก่ทั่วโลก เพื่อร่วมสกัดกั้นความทะเยอทะยานจากจีนไปพร้อมกัน
รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะตอบข้อซักถามว่า การปกป้องไต้หวันเป็นภาระหน้าที่ความรับผิดชอบของพวกเรา โดยจิตวิญญาณในการต่อสู้กับการรุกรานจากรัสเซียของยูเครน ได้สร้างแง่คิดสำคัญให้แก่ประชาชนชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก พวกเราขอขอบคุณพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกที่ส่งมอบให้ไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์หรือการฝึกอบรมทางทหารจากสหรัฐฯ หรือจะเป็นการสนับสนุนเชิงมนุษยธรรมจากนานาประเทศทั่วโลก
เมื่อกล่าวถึงการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวัน รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันถูกกีดกันมิให้เข้าร่วม “การประชุมสมัชชาอนามัยโลก” (WHA) ที่จัดขึ้นในกรุงเจนีวา ถือเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม ซึ่งนอกจากจะขัดต่อกฎบัตรของ “องค์การอนามัยโลก” (WHO) แล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในภารกิจสาธารณสุขโลกอีกด้วย โดยประชาชนชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคน สมควรที่จะได้รับการปกป้องและความช่วยเหลือจาก WHO เฉกเช่นเดียวกับประชาชนของประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ประกอบกับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์ของไต้หวันที่มีความชำนาญการและมีประสบการณ์ด้านการป้องกันโรคระบาด ยังสามารถอุทิศคุณประโยชน์สำคัญเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างถ้วนหน้าให้แก่ประชาคมโลกได้อีกด้วย
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า การประชุมสมัชชาใหญ่ของ “องค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ” (INTERPOL) ในปีนี้มีกำหนดการจัดขึ้นในกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย โดยการเข้าร่วมของไต้หวันจะมีส่วนช่วยในการอุดรอยรั่วของเครือข่ายการปราบปรามการทุจริตและอาชญากรรมข้ามชาติ นอกจากนี้ เที่ยวบินที่บินผ่านอาณาเขตแถลงข่าวการบินไต้หวันในแต่ละปี มีจำนวนนับล้านเที่ยวบิน การติดต่อเชิญให้ไต้หวันเข้าร่วม “องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ” (ICAO) จะสามารถนำมาซึ่งผลสัมฤทธิ์ด้านความมั่นคงทางการบินทั่วโลกได้เช่นเดียวกัน รมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า พวกเราให้ความเคารพต่อนโยบายการทูตแบบยึดมั่นในหลักการความเป็นกลางของออสเตรีย แต่ก็คาดหวังที่จะเห็นรัฐบาลออสเตรีย ให้การสนับสนุนสิทธิการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศของประชาชนชาวไต้หวัน บนค่านิยมด้านประชาธิปไตยที่พวกเรายึดมั่นร่วมกัน และพื้นฐานของความเข้าใจว่าด้วยบทบาทสำคัญของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก เพื่อมิให้ความไม่เห็นพ้องแต่เพียงฝ่ายเดียวของจีน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ความปลอดภัยและความมั่นคงทางการบินของทั่วโลก