ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ BBC พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยสานสามัคคี ร่วมสกัดกั้นการทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันของจีน
2023-06-06
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ BBC พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยสานสามัคคี ร่วมสกัดกั้นการทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่ BBC พร้อมเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยสานสามัคคี ร่วมสกัดกั้นการทำลายสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 5 มิ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Laura Kuenssberg พิธีกรรายการ Sunday with Laura Kuenssberg ของบรรษัทแพร่ภาพกระจายเสียงอังกฤษ (BBC) โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกแวดวงในอังกฤษและทั่วโลกเป็นอย่างมาก
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ว่า การที่สถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันและในภูมิภาค ทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น มีสาเหตุมาจากความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการจากจีน โดยรัฐบาลจีนได้จัดส่งเครื่องบินรบและเรือรบเข้ารุกล้ำช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ บ่อยครั้ง ส่งผลให้เกิดเป็นภัยคุกคามต่อไต้หวัน ญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยที่ตั้งอยู่รายรอบ นอกจากนี้ จีนยังต้องการทะลวงผ่านระยะห่วงโซ่ที่ 1 เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่พื้นที่ในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างลัทธิอำนาจนิยมและประชาธิปไตย ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า สถานการณ์ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อไต้หวันแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อทั่วโลกอีกด้วย เนื่องจากปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวันครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก อีกทั้งแผ่นชิปในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยไต้หวัน ยังครองส่วนแบ่งตลาดทั่วโลกกว่าร้อยละ 60 โดยความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน จะส่งผลให้ระบบห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเกิดภาวะขาดช่วง อันจะนำไปสู่ผลกระทบที่รุนแรงต่อทุกพื้นที่ทั่วโลก 
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ประชาชนชาวไต้หวันเผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากจีนมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ภาคประชาชนของเราเปี่ยมด้วยความกล้าหาญ ไม่หวาดหวั่นต่อภัยคุกคามและดำรงชีวิตประจำวันได้ตามปกติด้วยความทรหด อีกทั้งพวกเรายังตระหนักถึงหน้าที่ในการปกป้องไต้หวันเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของพวกเรา ที่ผ่านมา เราประจักษ์ถึงความกล้าหาญของประชาชนชาวยูเครนที่พร้อมปกป้องดินแดน อำนาจอธิปไตยและเสรีภาพ ซึ่งนับเป็นการปลุกพลังความฮึกเหิมให้แก่ประชาชนชาวไต้หวันไปในตัว อีกทั้งยังเป็นการให้แง่คิด 3 ประการแก่พวกเรา ได้แก่ พวกเราจำเป็นต้องมีความแน่วแน่ในการเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศ เร่งพัฒนาแสนยานุภาพทางการทหารที่ขาดความสมดุล และแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จีนตระหนักว่า มิใช่เรื่องง่ายที่จะเข้ายึดครองไต้หวัน
 
ในด้านการสนับสนุนจากประชาคมโลก รมว.อู๋ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อสหรัฐฯ ที่อนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อการป้องกันประเทศ และช่วยฝึกอบรมให้แก่ทหารในกองทัพของไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ รวมไปถึงการประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) เมื่อช่วงที่ผ่านมา ที่ได้มีการแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันและในภูมิภาค พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่าด้วยการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันด้วยกำลังทหารหรือการบีบบังคับขู่เข็ญ ตลอดจนเรียกร้องให้ขจัดปัญหาความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันด้วยสันติวิธี
 
ต่อกรณีที่ผู้สื่อข่าวซักถามถึงประเด็นการก่อสงครามไซเบอร์ต่อไต้หวันของรัฐบาลจีน รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีนได้ทำการแทรกซึมไต้หวันผ่านทุกช่องทาง ทั้งสงครามไซเบอร์ สงครามจิตวิทยาและสงครามลูกผสม เพื่อต้องการที่จะสร้างความหวั่นวิตกให้แก่ประชาชน ตลอดจนเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในรูปแบบประชาธิปไตยของไต้หวัน โดยรัฐบาลไต้หวันจะเร่งผนึกกำลังกับองค์การนอกภาครัฐ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ภาคประชาชนในการรับมือกับความท้าทายนานาประการ โดยไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางการรับมือกับข่าวปลอมและสงครามจิตวิทยา เพื่อเป็นประโยชน์แก่กลุ่มประเทศในทวีปยุโรปต่อไป
 
เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ รมว.อู๋ฯ ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อ Mr. James Cleverly รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ ที่ได้ประกาศจุดยืนต่อต้านการที่รัฐบาลจีนกำหนดให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน เป็นประเด็นการเมืองภายในประเทศของจีน นอกจากนี้ พวกเรายังประจักษ์ถึงจุดยืนในแถลงการณ์ หลังจากที่อังกฤษเข้าร่วมกลุ่มประเทศ G7 อย่างเป็นทางการ รวมไปถึงการส่งมอบพลังเสียงสนับสนุนไต้หวันให้เข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ อย่าง “องค์การอนามัยโลก” (WHO)  ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว  Ms. Liz Truss อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษได้เดินทางเยือนไต้หวัน สำแดงให้เห็นถึงพลังสนับสนุนที่แข็งแกร่งที่รัฐบาลอังกฤษมีต่อไต้หวัน ซึ่งได้รับการยกย่องจากรัฐบาลและภาคประชาชนชาวไต้หวัน โดยพวกเราคาดหวังที่จะให้การต้อนรับบุคคลสำคัญทางการเมืองของอังกฤษ ในภายภาคหน้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ในเชิงลึกต่อไป