กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 10 มิ.ย. 66
การประชุมหารือว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระหว่างไต้หวัน – EU ครั้งที่ 6 มีกำหนดการเปิดฉากขึ้น ณ กรุงบรัสเซลส์ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมี Ms. Luisa RAGHER ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิมนุษยชนของกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป (European External Action Service, EEAS) และ Mr. Dominic Porter ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการความสัมพันธ์จีน ไต้หวันและมองโกเลียของกระทรวงการต่างประเทศสหภาพยุโรป ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในครั้งนี้ ส่วนผู้แทนเจรจาฝ่ายไต้หวัน มีนายหลัวปิ่งเฉิง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ร่วมเป็นประธาน
บรรยากาศการประชุมในครั้งนี้เป็นไปอย่างจริงใจและมีความสร้างสรรค์ โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมพิจารณาทบทวนสถานการณ์ล่าสุดด้านการพัฒนาสิทธิมนุษยชน นโยบายสิทธิมนุษยชนและแผนปฏิบัติการที่เรียงลำดับความสำคัญก่อน - หลัง ทั้งเจ้าหน้าที่ฝ่าย EU - ไต้หวัน ต่างยืนยันคำมั่นว่าด้วยการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตยและหลักนิติธรรม อย่างหนักแน่น โดย EU ได้ชี้แจงให้ไต้หวันรับทราบว่า ขณะนี้ EU กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา “แผนปฏิบัติการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ระหว่างปี 2020 – 2024” อีกทั้งเมื่อช่วงที่ผ่านมา ยังได้มีการลงมติเห็นชอบให้ผ่านญัตติว่าด้วยนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชันและนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม โดยผู้แทนฝ่ายไต้หวันก็ได้ร่วมแบ่งปัน “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระหว่างปี 2022-2024” ฉบับแรก รวมถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ “แผนปฏิบัติการว่าด้วยอุตสาหกรรมการประมงและสิทธิมนุษยชน ระหว่างปี 2022-2025”
EU แสดงจุดยืนว่าด้วยการต่อต้านโทษประหารชีวิตอย่างหนักแน่น พร้อมเรียกร้องให้ไต้หวันมุ่งมั่นบรรลุเป้าหมายการยกเลิกโทษประหารชีวิตโดยเร็ววัน นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ สิทธิแรงงานประมงและสิทธิการดูแลครอบครัวของแรงงานต่างชาติ ความเชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคทางเพศและสิทธิของกลุ่มบุคคล LGBTI การประเมินผลกระทบจากสิทธิมนุษยชน และการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน เป็นต้น
การประชุมหารือว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ระหว่างไต้หวัน – EU ในครั้งนี้ เป็นการเน้นย้ำให้เห็นถึงค่านิยมและหลักการที่ไต้หวัน – EU ยึดมั่นร่วมกัน รวมถึงคำมั่นว่าด้วยการรักษากฎระเบียบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างหนักแน่น โดยไต้หวัน – EU ต่างยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง ในด้านการแลกเปลี่ยนทางสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ได้มีการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นหารือกันในระหว่างการประชุมครั้งนี้