กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 9 มิ.ย. 66
สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างประเทศได้มุ่งมั่นเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า กับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน พร้อมสรรค์สร้างระบบห่วงโซ่อุปทานทางประชาธิปไตยที่เปี่ยมด้วยความทรหด ตลอดจนเร่งคว้าโอกาสการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มผู้ประกอบการไต้หวันในการวางรากฐานธุรกิจในเวทีนานาชาติ อย่างกระตือรือร้น โดยผลสัมฤทธิ์ทางการทูต เศรษฐกิจและการค้าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 สามารถสรุปโดยสังเขป ได้ดังนี้ :
1. ขยายโอกาสทางธุรกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างแดน ส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่มีข้อได้เปรียบและอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของไต้หวัน รวมกลุ่มกันเดินทางไปสำรวจและจัดตั้งคูหานิทรรศการในต่างประเทศ เป็นจำนวนกว่า 160 ครั้ง โดยในระหว่างนี้ ได้มีการจัดนิทรรศการ การประชุมชี้แจงด้านการลงทุนและการประชุมทางเศรษฐกิจและการค้า รวมกว่า 250 รอบ อีกทั้งยังได้มีการจัดกิจกรรมจับคู่ผู้ซื้อ – ขาย จำนวน 500 กว่ารายการ ตลอดจนดึงดูดให้ผู้ประกอบการต่างชาติ พิจารณาการลงทุนในไต้หวัน อีก 75 รายการ นอกจากนี้ เพื่อประชาสัมพันธ์แผนโซลูชันรูปแบบอัจฉริยะของไต้หวัน สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างแดน ยังได้เชิญเจ้าหน้าที่ภาครัฐทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงตัวแทนในแวดวงต่างๆ จำนวน 320 คนจาก 111 เมือง / นคร ใน 41 ประเทศทั่วโลก เดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อเข้าร่วม “นิทรรศการเมืองอัจฉิรยะและเมืองปลอดคาร์บอน ปี 2023” ครั้งที่ 10 ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย สำแดงให้เห็นถึงผลสัมฤทธิ์ด้านการพัฒนาเมืองนวัตกรรมรูปแบบอัจฉิรยะของไต้หวัน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการไต้หวันแสวงหาโอกาสทางธุรกิจในเวทีโลก
2. เสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างภาครัฐ เศรษฐกิจและการค้า
สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างประเทศมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับหุ้นส่วนที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประสบความสำเร็จในการกระตุ้นการเจรจาแบบทวิภาคระหว่างไต้หวัน - แคนาดา ภายใต้ “ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและหลักประกันด้านการลงทุน” นอกจากนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Mr. Karolis Žemaitis รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและนวัตกรรมของสาธารณรัฐลิทัวเนีย ได้เดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อเข้าร่วม “การประชุมเสวนาทางเศรษฐกิจระดับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ระหว่างไต้หวัน - ลิทัวเนีย ครั้งที่ 2” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงทางความร่วมมือของภาคอุตสาหกรรมดิจิทัล เซมิคอนดักเตอร์และอุตสาหกรรมเลเซอร์ ระหว่างสองประเทศ นอกจากนี้ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Ms. Markéta Pekarová Adamová ประธานสภาผู้แทนราษฎรสาธารณรัฐเช็ก ได้นำคณะตัวแทนจำนวน 113 คนเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อเข้าร่วม “การประชุมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน - เช็ก ครั้งที่ 18” พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการคุณภาพเยี่ยมของไต้หวัน อาทิ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีนวัตกรรม อากาศยานไร้คนขับและอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างกันให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
3. เสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตร
เจ้าหน้าที่กต.ไต้หวันและผู้ประกอบการไต้หวันด้านพลังงานสะอาด เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โครงสร้างพื้นฐาน การแปรรูปผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ได้รวมกลุ่มกันเดินทางเยือนตูวาลู ประเทศพันธมิตรของไต้หวัน เพื่อทำการสำรวจโอกาสทางธุรกิจ พร้อมทั้งจับคู่ความร่วมมือทางอุตสาหกรรมแบบทวิภาคี โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา H.E. Mario Abdo Benítez ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปารากวัย ได้เดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมชี้แจงโอกาสธุรกิจและการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ของปารากวัย ซึ่งตราบจนเดือนมี.ค. ไต้หวันได้ก้าวสู่การเป็นตลาดส่งออกเนื้อหมูอันดับ 1 ของปารากวัย และเป็นตลาดส่งออกเนื้อวัวอันดับ 2 ของปารากวัย นอกจากนี้ สนง.ตัวแทนรัฐบาลไต้หวันยังได้จัด “โครงการพลังงานสะอาด” ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้ตูวาลูและหมู่เกาะมาร์แชลล์ ร่วมลงนามจัดซื้ออุปกรณ์พลังงานโซลาร์เซลล์คุณภาพสูงกับไต้หวันจนประสบความสำเร็จ
4. ผลักดันการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและการค้าของภาคเอกชน
สนง.ตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างแดนยังได้กระตุ้นให้แวดวงภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการ เร่งลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าในด้านต่างๆ อาทิ การลงนามในญัตติฉบับที่ 3 ของ “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างไต้หวัน - เอสวาตินี” เพื่อเพิ่มรายการสินค้าปลอดภาษี จากแหล่งนำเข้าอย่างเอสวาตินีมาสู่ไต้หวัน อีกทั้งยังร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MoU) ด้านการจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเลเซอร์ความเร็วสูงกับสมาคมอุตสาหกรรมของลิทัวเนีย และความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 14 ล้านเหรียญยูโร เพื่อช่วยจัดตั้งสายการผลิตในพื้นที่
โดยกต.ไต้หวันและสนง.ตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในต่างประเทศ จะยึดมั่นในหลักการการประยุกต์ใช้ศักยภาพที่ได้เปรียบของไต้หวัน จัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยเสถียรภาพ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวัน แผ่ขยายรากฐานไปสู่ต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อขยายประสิทธิภาพด้านเศรษฐกิจ การค้าและการทูต ควบคู่กันไป