คณะกรรมการกิจการการเกษตร วันที่ 12 มิ.ย. 66
คณะกรรมการการเกษตร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ส่งคำเชิญไปยังเจ้าหน้าที่ภาครัฐของประเทศสมาชิกองค์การการพัฒนาชุมชนการเกษตรในเอเชีย - แอฟริกา (African- Asian Rural Development Organization, AARDO) ให้เดินทางเยือนไต้หวัน ในช่วงระหว่างวันที่ 12 – 16 มิ.ย. เพื่อทำความเข้าใจกับนโยบายการเกษตรอัจฉริยะ และร่วมสำรวจสถานการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในไต้หวัน โดยรองเลขาธิการ AARDO ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขาธิการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเกษตรและการพัฒนาพื้นที่ชนบทของกลุ่มประเทศสมาชิก รวม 16 คนจาก 10 ประเทศ เดินทางมาเข้าร่วม ซึ่งนอกจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐจากนานาประเทศจะใช้โอกาสนี้ เสริมสร้างความเข้าใจที่มีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเกษตรของไต้หวันแล้ว ยังมีกำหนดการที่จะเข้าเยี่ยมชมสถานประกอบการการเกษตรอัจฉริยะของไต้หวัน เพื่อสำรวจสถานการณ์การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการเกษตรที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนร่วมแสวงหาโอกาสการค้าและการลงทุนควบคู่ไปด้วย
คกก.การเกษตร แถลงว่า AARDO ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 1962 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการเกษตรและการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยีระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกในภูมิภาค พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันทรัพยากรทางการเกษตรร่วมกัน โดยไต้หวันได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกในปีค.ศ. 1968 ภายใต้ชื่อสาธารณรัฐจีน (Republic of China, ROC) และเคยรับหน้าที่เป็นคณะกรรมการบริหาร สมัยที่ 4 , 5 , 10 , 11 , 12 , 13 , 14 , 18 , 19 และ 20 หรือในสมัยปัจจุบัน ซึ่งตลอดที่ผ่านมา ไต้หวันได้เร่งประสานความร่วมมือกับ AARDO ผลักดันการฝึกอบรมทางวิชาการและโครงการการแลกเปลี่ยนทางเทคโนโลยี รวมถึงการจัดการประชุมในประเด็นด้านการเกษตรและการพัฒนาพื้นที่ชนบท ทั้งนี้ เพื่อต้องการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับกลุ่มประเทศสมาชิก อย่างต่อเนื่อง
คกก.การเกษตร ระบุว่า ไต้หวันได้ริเริ่มผลักดันโครงการการเกษตรอัจฉริยะ นับแต่ปี 2017 เป็นต้นมา ด้วยการอาศัยข้อได้เปรียบของไต้หวัน ในด้านอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และเทคโนโลยีบิ๊กดาต้า ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มเกษตรรายย่อยที่ต้องต่อสู้ฝ่าฝันอุปสรรคเพียงลำพัง ผ่านการคิดค้นและวิจัยทางเทคโนโลยี ด้วยเทคโนโลยีการผลิตและการบริหารรูปแบบอัจฉิรยะ ซึ่งตลอดระยะเวลา 6 ปีที่ได้มีการผลักดันโครงการข้างต้น ก็บังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เป็นไปตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ และมีการนำไปประยุกต์ใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นรูปธรรม โดยในอนาคต พวกเราจะเร่งเสริมสร้างการวิจัยและพัฒนาสินค้าที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนป้อนเข้าสู่ตลาดต่อไป