กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 13 มิ.ย. 66
กระทรวงการต่างประเทศ องค์กรต่อต้านการคอร์รัปชันและกรมสอบสวน ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงยุติธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา สำนักงานตัวแทนรัฐบาลอังกฤษในไต้หวัน รวมถึงสถาบันประชาธิปไตยแห่งชาติของสหรัฐฯ (National Democratic Institute for International Affairs, NDI) ได้ประสานความร่วมมือกันจัดกิจกรรมค่ายฝึกอบรมนานาชาติ ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ในหัวข้อ “การประสานความร่วมมือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของกลุ่มผู้มีผลประโยชน์ร่วมกัน” ขึ้นที่ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 13 – 15 มิ.ย. ปี 2566 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันระดับนานาชาติ ผ่านการร่วมแบ่งบันความมุ่งมั่นและผลสัมฤทธิ์ของภารกิจการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มุ่งมั่นผลักดันโดยรัฐบาลไต้หวัน ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างกลไกศักยภาพการต่อต้านการคอร์รัปชันนานาชาติ ร่วมกันกับพันธมิตรทั่วโลก
กิจกรรมครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกในยุคหลังโควิด – 19 ที่ได้มีการเชิญอาจารย์ผู้บรรยายและผู้เรียนเดินทางมาเข้าร่วมกิจกรรม ภายใต้กรอบ GCTF โดยผู้เข้าร่วม ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ภาครัฐและองค์การนอกภาครัฐ (NGO) จาก 14 ประเทศในนานาทวีปทั่วโลก อย่างอเมริกาเหนือ ยุโรป ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกและลาตินอเมริกา สาระสำคัญของค่ายฝึกอบรมในครั้งนี้ มุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การประสานความร่วมมือแบบข้ามหน่วยงานระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและ NGO การบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตระหว่างประเทศและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันในเรื่องทางอาญา รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นต้น พร้อมทั้งผนวกแผนข้อเสนอว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตและการส่งเสริมความโปร่งใสของกลุ่มเยาวชน ที่สถาบัน NDI มุ่งมั่นผลักดันในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก กำหนดเพิ่มประเด็นการเปิดกว้างและความโปร่งใสของรัฐบาล รวมถึงการเข้ามีส่วนร่วมของภาคประชาชน เข้าสู่วาระการประชุม เพื่อขยายแง่มุมของประเด็นการต่อต้านการทุจริตในมุมมองที่หลากหลายเพิ่มมากขึ้น
โดยในกิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะมีผู้บรรยายและผู้เรียนจากนานาประเทศ เดินทางมาเข้าร่วมแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่สำนักงานตัวแทนรัฐบาลที่ประจำการในไต้หวัน จากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซียและฟิลิปปินส์ รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของหน่วยงานด้านการตรวจสอบทุกระดับของไต้หวัน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญและตัวแทน NGO เข้าร่วมเป็นจำนวนนับ 200 คน จึงทำให้บรรยากาศการแลกเปลี่ยนเป็นไปอย่างคึกคัก