
กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 26 มิ.ย. 66
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Will Glasgow ผู้สื่อข่าวของหนังสือพิมพ์ The Australian ที่ประจำการอยู่ในไต้หวัน โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของนสพ.The Australian เมื่อวันที่ 25 มิ.ย. และได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “ไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลีย ร่วมรับมือกับภัยคุกคามจากจีน ด้วยการส่งทูตทหารมาประจำการในไต้หวัน” (Taiwan calls on Australia to send military attache to Taipei over China threats) ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกแวดวงในออสเตรเลียและกลุ่มประเทศในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกเป็นอย่างมาก
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า การจัดส่งทูตทหารมาประจำการในไต้หวันจะมีส่วนช่วยในการสร้างปฏิสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างสองฝ่าย อย่างมีระบบและระเบียบ พร้อมร่วมแบ่งปันข้อมูลการสอดแนมและรายงานการประเมินสถานการณ์ระหว่างประเทศระหว่างกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องหารือกันอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม ไต้หวันจะเคารพต่อการตัดสินใจของรัฐบาลออสเตรเลีย โดยรมว.อู๋ฯ ยังชี้ว่า ในระยะที่ผ่านมา สำนักงานตัวแทนรัฐบาลออสเตรเลียในไต้หวัน (Australian Office) ได้เริ่มทำการแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่จากสภาความมั่นคงของไต้หวันแล้ว แสดงให้เห็นถึงการที่ออสเตรเลียให้ความสำคัญต่อมุมมองของไต้หวัน วึ่งไต้หวันยินดีที่จะเห็นทั้งสองฝ่าย ร่วมแลกเปลี่ยนกันในประเด็นความมั่นคงในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง
ต่อกรณีที่ Mr. Anthony Albanese นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ได้แสดงปาฐกถาให้การสนับสนุนการจัดตั้ง “การ์ดเรล” (guardrails) ในกลไกการเสวนาระหว่างสหรัฐฯ - จีน ระหว่างการประชุม IISS Shangri-La Dialogue ที่จัดขึ้นในสิงคโปร์เมื่อช่วงที่ผ่านมา รมว.อู๋ฯ ร่วมรู้สึกยินดี พร้อมทั้งระบุว่า รัฐบาลออสเตรเลียให้ความสำคัญกับสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก เสมอมา พร้อมทั้งต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันอย่างฉาบฉวย ตลอดจนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ และนโยบายด้านความสัมพันธ์ระหว่างออสเตรเลีย – ไต้หวันของนรม. Albanese ได้รับความชื่นชมจากประชาชนชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลออสเตรเลีย ที่เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ได้ร่วมประกาศแถลงการณ์ร่วมกับหน่วยงานของ 7 ประเทศที่ประจำการอยู่ในไต้หวันซึ่งมีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ประกอบด้วย สหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา เช็ก ลิทัวเนีย เยอรมนีและญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ไต้หวันเข้าร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) และการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) อีกทั้งในเดือนเดียวกันนี้ รัฐบาลออสเตรเลีย ยังได้แสดงจุดยืนว่าด้วยความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ในระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ตลอดจนส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันด้วยสันติวิธี
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันเห็นด้วยกับการคาดการณ์ของ Mr. Lloyd Austin รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ ที่ระบุไว้ว่า การบุกรุกรานไต้หวันของจีน มิได้เป็นเรื่องที่เร่งด่วนในชั่วขณะนี้ แต่ก็ใช่ว่าจะมิสามารถเลี่ยงได้ โดยไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง เพื่อสกัดกั้นการรุกรานทางทหารของจีนที่อาจเปิดศึกต่อไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ระบุว่า สงครามรัสเซีย - ยูเครน นอกจากจะส่งผลกระทบต่อประเทศยุโรปแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อทั่วโลก อย่างที่ทราบกันดีว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวันครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก และอุปทานของแผ่นชิปจากอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตในไต้หวัน กว่าร้อยละ 90 จะถูกป้อนเข้าสู่ตลาดโลก หากเมื่อใดที่จีนรุกรานไต้หวัน คาดว่าจะส่งผลกระทบที่เป็นหายนะต่อระบบเศรษฐกิจของโลกอย่างแน่นอน
รมว.อู๋ฯ คาดหวังที่จะเห็นไต้หวัน - ออสเตรเลีย เร่งยกระดับความสัมพันธ์แบบทวิภาคีในทุกด้าน เพื่อสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านพลังงานหมุนเวียน รมว.อู๋ฯ ได้หยิบยกกรณีตัวอย่างของ “Macquarie” ที่เป็นนักลงทุนหลักของฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง “Formosa 2” โดยรมว.อู๋ฯ ได้ชี้แจงว่า นอกจากทั้งสองประเทศจะตั้งเป้าหมาย “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ภายในปี 2050” แล้ว ยังส่งเสริมให้ประชาคมโลกเห็นว่า ภายใต้แรงกดดันจากจีน ออสเตรเลียกลับมีการลงทุนในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น โดยมิได้ลดน้อยลงแต่อย่างใด แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของออสเตรเลีย และเสถียรภาพความมั่นคงในไต้หวัน ซึ่งรัฐบาลไต้หวันรู้สึกขอบคุณและยินดีเป็นอย่างยิ่ง
รมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า ไต้หวัน – ออสเตรเลียต่างยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน จึงสามารถร่วมธำรงรักษาความสงบเรียบร้อยบนพื้นฐานของกฎกติกาสากล นอกจากนี้ จีนยังเข้ารุกรานไต้หวันและออสเตรเลีย รวมถึงกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ด้วยรูปแบบสงครามลูกผสม อย่างการโจมตีทางไซเบอร์ ข่าวปลอมและสงครามจิตวิทยา โดยไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์การรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐและภาคประชาชนชาวออสเตรเลีย เพื่อร่วมสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของลัทธิอำนาจนิยม มิให้แผ่ขยายมากไปกว่านี้
ในช่วงท้าย รมว.อู๋ฯ เรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลีย เร่งเปิดการเจรจาความตกลงทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับไต้หวัน ไต้หวันนับเป็นหุ้นส่วนทางการค้าสำคัญของออสเตรเลียเพียงหนึ่งเดียวที่ยังไม่ความตกลงแบบเดียวกันนี้ โดย “ข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจไต้หวัน-นิวซีแลนด์ (ANZTEC) ได้สร้างมูลค่าการค้าและเศรษฐกิจอย่างมหาศาลให้แก่ทั้งสองฝ่าย โดยเมื่อช่วงที่ผ่านมา ไต้หวัน - สหรัฐฯ เพิ่งร่วมลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าในศตวรรษที่ 21” จึงคาดหวังที่จะเห็นไต้หวัน – ออสเตรเลีย เร่งเปิดการเจรจาในความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจร่วมกัน เพื่อยกระดับความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ให้เป็นไปในเชิงลึกยิ่งขึ้น