ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่นสพ. The Philippine Star เรียกร้องให้ไต้หวัน – ฟิลิปปินส์สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
2023-06-30
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่นสพ. The Philippine Star เรียกร้องให้ไต้หวัน – ฟิลิปปินส์สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่นสพ. The Philippine Star เรียกร้องให้ไต้หวัน – ฟิลิปปินส์สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน เพื่อธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 29 มิ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Ms. Ana Marie Pamintuan หัวหน้ากองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ The Philippine Star ของฟิลิปปินส์ โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกตีพิมพ์ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “ไต้หวันแสวงหาโอกาสสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงกับฟิลิปปินส์” (Taiwan seeks security cooperation with Philippines) และได้ถูกอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ทางการของนสพ. ซึ่งได้รับความสนใจอย่างแพร่หลายจากทุกแวดวงในฟิลิปปินส์
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การข่มขู่ด้วยกำลังทหารของจีนที่มีต่อไต้หวัน นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากยิ่งขึ้น ความทะเยอทะยานของจีนมิได้จำกัดเพียงเฉพาะในไต้หวันเท่านั้น หากแต่ยังแผ่อิทธิพลไปสู่พื้นที่รายรอบ อย่างทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ โดยฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับไต้หวันมากที่สุด และประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับไต้หวัน รมว.อู๋ฯ จึงขอเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศ สร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงระหว่างกัน นอกจากนี้ การลาดตระเวณในพื้นที่ชายฝั่ง การรับมือกับภัยพิบัติ การท่องเที่ยว การค้าและอุตสาหกรรมการเกษตร ก็เป็นส่วนที่ทั้งสองฝ่ายสามารถสร้างการแลกเปลี่ยนในเชิงลึกได้ด้วยเช่นกัน
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า การวางหมากทางการทหารของจีนในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออก ส่งผลให้รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจอัดฉีดงบประมาณทางกลาโหมในภายภาคหน้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 5 เท่าจากเดิม คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2 ของ GDP เพื่อใช้ในการรับมือ โดยระยะที่ผ่านมา เรือรบจีนได้ทำการลาดตระเวนในพื้นที่รอบน่านน้ำของฟิลิปปินส์ ซึ่งเชื่อว่าฟิลิปปินส์ก็อาจได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามในครั้งนี้เช่นเดียวกัน สหรัฐฯ จึงตัดสินใจจัดส่งยุทโธปกรณ์ทางกลาโหมเข้าประจำการในฟิลิปปินส์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการป้องกันประเทศของฟิลิปปินส์ พร้อมสร้างความร่วมมือทางความมั่นคงระหว่างสองประเทศในเชิงลึก ทั้งนี้ เพื่อถ่วงดุลต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมยินดีจากชาวฟิลิปปินส์อย่างถ้วนหน้า
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า กลุ่มประเทศในภูมิภาคไม่ควรเข้าแทรกแซงความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ระหว่างสหรัฐฯ - จีน เนื่องจากจีนได้อาศัยการก่อสงครามจิตวิทยา เพื่อยุยงให้ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ หรือสหรัฐฯ - ฟิลิปปินส์ เกิดความแตกแยก แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนได้ก่อภัยคุกคามต่อไต้หวันและฟิลิปปินส์อย่างไม่สิ้นสุด ยังดีที่ได้สหรัฐฯ ยื่นมือเข้าให้ความช่วยเหลือทั้งไต้หวันและฟิลิปปินส์ เห็นได้ชัดว่า ความท้าทายที่แท้จริงเกิดจากการแผ่ขยายอำนาจเผด็จการของจีนในพื้นที่ภูมิภาค มิใช่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตยแต่อย่างใด
 
รมว.อู๋ฯ แถลงว่า ภายใต้การนำของ H.E. Ferdinand Marcos Jr ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ความมุ่งหวังในความสัมพันธ์แบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน – ฟิลิปปินส์ จึงควรค่าแก่การเฝ้าจับตาติดตามต่อไป H.E. Marcos เห็นด้วยต่อการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค พร้อมทั้งแสดงทรรศนะที่ไม่เห็นด้วยต่อการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบัน ซึ่งได้รับความชื่นชมยินดีจากชาวไต้หวันเป็นอย่างมาก รมว.อู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ประชาคมโลกไม่จำเป็นต้องเกรงกลัวต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่มาจากจีน คำมั่นที่รัฐบาลปักกิ่งให้ไว้ต่อฟิลิปปินส์ ไม่เคยมีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้นเลย รัฐบาลฟิลิปปินส์ควรพิจารณาผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก ด้วยการพัฒนาความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น สหรัฐฯ และไต้หวัน โดยไต้หวันยินดีสร้างความร่วมมือกับฟิลิปปินส์ในทุกด้าน
 
ต่อกรณีความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน รมว.อู๋ฯ ชี้แจงว่า ไต้หวันมิได้เป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีน เสียงประชามติหลักในไต้หวันคือ การรักษาสถานภาพเดิมในปัจจุบันให้คงอยู่ต่อไป ตลอดที่ผ่านมา รัฐบาลไต้หวันไม่เคยปิดกั้นการเจรจาอย่างเท่าเทียมกับรัฐบาลจีนเลย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวัน แต่จีนกลับกล่าวอ้างว่า ตัวเองมีอำนาจอธิปไตยเหนือไต้หวัน และยัดเยียด “หลักการจีนเดียว” หรือ “หลักการ 1 ประเทศ 2 ระบบ” ต่อไต้หวัน โดยไม่แยแสความสมัครใจของชาวไต้หวันเลย ซึ่งตราบจนขณะนี้ จีนยังคงไม่ล้มเลิกความคิดที่จะครอบครองไต้หวันด้วยกำลังทหาร อันเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไต้หวันมิสามารถรับได้ รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำจุดยืนว่า ช่องแคบไต้หวันควรเปิดการเจรจาอย่างเท่าเทียม โดยปราศจากเงื่อนไขทางการเมือง จึงจะเป็นหนทางสู่การแสวงหาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันอย่างแท้จริง
 
สำหรับประเด็นอำนาจเหนือทะเลจีนใต้ รมว.อู๋ฯ เผยว่า หมู่เกาะในทะเลจีนใต้ อยู่ภายใต้ดินแดนเขตอาณาของไต้หวัน ซึ่งจุดยืนของไต้หวันคือการธำรงรักษาเสรีภาพในการเดินเรือ และเส้นทางการบินอย่างเสรีในพื้นที่ทะเลจีนใต้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้กลุ่มที่มีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ แก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีด้วยการเจรจาบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายทางทะเล โดยในขณะนี้ แนวทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการที่ไต้หวันและประเทศที่ประกาศอ้างสิทธิอธิปไตยเหนือดินแดนพื้นที่ทะเลจีนใต้ ร่วมดำเนินการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ด้วยการสำรวจทรัพยากรทางธรรมชาติในพื้นที่ทางทะเลจีนใต้ แต่ในทางกลับกัน จีนกลับสร้างเกาะเทียมและฐานทัพทหารในพื้นที่แนวประการังในทะเลจีนใต้ ซึ่งได้สร้างความวิตกกังวลให้แก่กลุ่มประเทศรายรอบเป็นอย่างมาก
 
รมว.อู๋ฯ ได้ให้การยอมรับต่อกลุ่มแรงงานชาวฟิลิปปินส์ ที่ได้ร่วมสร้างคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจและครัวเรือนในไต้หวัน พร้อมชี้ว่า แรงงานต่างชาติและประชาชนชาวไต้หวัน ต่างได้รับหลักประกันด้านค่าตอบแทนขั้นพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน รมว.อู๋ฯ ระบุด้วยว่า ขณะนี้ รัฐบาลไต้หวันกำลังเร่งพิจารณาความเป็นไปได้ในการขยายเวลาการพำนักในไต้หวัน สำหรับกลุ่มแรงงานชาวฟิลิปปินส์ แต่ยังไม่ได้บทสรุป นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเรียกร้องให้ฟิลิปปินส์ใช้มาตรการยกเว้นการตรวจลงตราหรือ สามารถขอวีซ่าแบบ Visa on Arrival สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนไปมาหาสู่ซึ่งกันและกันในภายหน้าต่อไป