ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวันเชิญหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศสเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนภารกิจการตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามบทลงโทษที่ทารุณ อย่างเป็นรูปธรรม
2023-07-11
New Southbound Policy。คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวันเชิญหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศสเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนภารกิจการตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามบทลงโทษที่ทารุณ อย่างเป็นรูปธรรม (ภาพจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน)
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไต้หวันเชิญหน่วยงานสิทธิมนุษยชนของฝรั่งเศสเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อแลกเปลี่ยนภารกิจการตรวจสอบ ป้องกันและปราบปรามบทลงโทษที่ทารุณ อย่างเป็นรูปธรรม (ภาพจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน)

สภาตรวจสอบ วันที่ 7 ก.ค. 66
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (National Human Rights Commission, NHRC) สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้จัด “หลักสูตรฝึกอบรมเชิงวิชาการด้านการป้องกันและปราบปรามการทำทารุณกรรม” ขึ้นในระหว่างวันที่ 3 – 6 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเชิญเจ้าหน้าที่จากองค์การป้องกันและปราบปรามการลิดรอนเสรีภาพแห่งมนุษยชาติของฝรั่งเศส (Contrôleur général des lieux de privation de liberté, CGLPL) มาร่วมแลกเปลี่ยนและหารือในประเด็นการตรวจสอบและต่อต้านการทำทารุณกรรม และการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
 
กิจกรรมในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากนายโจวเจี๋ย ที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กร Expertise France ซึ่งได้ให้ความช่วยเหลือในการเชิญ Ms. Anne-Sophie Bonnet เจ้าหน้าที่สภาตรวจสอบและผู้ดูแลฝ่ายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ Ms. Maria de Castro Cavalli เจ้าหน้าที่สภาตรวจสอบและรองผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ร่วมเดินทางมาเยือนไต้หวัน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับกลไกการป้องกันการทารุณกรรมระดับชาติ (National Preventive Mechanism, NPM) ทั้งในทางทฤษฏีและปฏิบัติ โดยมีเนื้อหาการฝึกอบรมที่ประกอบด้วย กลไก NPM และข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ CGLPL ของฝรั่งเศส รวมไปถึงการบริหารจัดการหลังได้รับเรื่องร้องเรียน ขั้นตอนการตรวจสอบ กลยุทธ์การดำเนินงานและการเตรียมความพร้อมของ NPM อีกทั้งยังครอบคลุมในประเด็นเทคนิคการสัมภาษณ์และหลักจรรยาบรรณ รวมถึงโครงสร้างรายงาน NPM และการติดตามผลการแลกเปลี่ยน เป็นต้น
 
นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ชี้ว่า แม้ว่าในปัจจุบัน อนุสัญญาต่อต้านการทารุณกรรม จะยังมิได้ถูกบัญญัติเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ภายในประเทศ แต่การป้องกันและปราบปรามบทลงโทษที่มีความทารุณ นับเป็นหนึ่งในภารกิจหน้าที่ที่สำคัญของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดย NHRC ได้เปิดทดลองปฏิบัติภารกิจตาม NPM ตั้งแต่ปี 2021 ด้วยการเข้าเยี่ยมเยือนกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานดูแลและควบคุมพฤติกรรมเด็กและเยาวชน 8 แห่ง นอกจากนี้ สภาบริหารไต้หวันยังได้มีการยื่นเสนอ “ร่างอนุสัญญาต่อต้านการทารุณกรรม และการปฏิบัติที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือละเมิดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ รวมถึงพิธีสารเลือกรับ (Optional Protocol) ว่าด้วยแนวทางการบังคับใช้ตามแผนแม่บท” โดยกำหนดให้ NHRC จัดตั้งกลไกการป้องกันและปราบปรามบทลงโทษอันทารุณให้หมดไปจากสังคม
 
Ms. Bonnet กล่าวว่า เราล้วนยึดมั่นในค่านิยมและเป้าหมายเดียวกัน จึงทำให้สามารถมารวมตัวแลกเปลี่ยน ณ ที่แห่งนี้ได้ ในปัจจุบัน บทลงโทษที่ทารุณยังคงปรากฎให้เห็นอยู่ในทุกพื้นที่ทั่วโลก การบรรเทาความรุนแรงที่เกิดจากบทลงโทษอันทารุณ ถือเป็นเป้าหมายที่เรามุ่งมั่นผลักดันมาโดยตลอด ซึ่งเราได้ทดลองจัดตั้งแนวทางที่เป็นระบบ เพื่อป้องกันการใช้บทลงโทษที่ทารุณ ตลอดจนสร้างหลักประกันให้แก่ผู้ที่ต้องประสบกับบทลงโทษที่โหดร้ายทารุณด้วย
 
NHRC ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการตามหลักสูตรข้างต้นติดต่อกันเป็นเวลา 4 วัน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนและแสวงหาแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะเสริมสร้างความรู้ความชำนาญให้แก่เจ้าหน้าที่ซึ่งปฏิบัติภารกิจที่เกี่ยวข้องแล้ว ไต้หวันยังใช้โอกาสนี้ผลักดันมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไต้หวันเร่งบรรลุอย่างกระตือรือร้น เพื่อเชื่อมโยงสู่เครือข่ายสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติต่อไป