สมุนไพรรอบ ๆ ตัวเรา มีสรรพคุณและวิธีใช้ในตัวของตัวเอง เป็นมรดกภูมิปัญญาและประสบการณ์สืบทอดจากบรรพบุรุษ
เมื่อมาท่องเที่ยวไต้หวัน ท่ามกลางอากาศร้อนระอุในฤดูร้อน คุณเคยได้รับการเชื้อเชิญจากมิตรชาวไต้หวันให้ดื่มน้ำสมุนไพรดับร้อนแก้กระหายสักแก้วหรือไม่? ลองเดินสำรวจตลาดสมุนไพรที่ว่านหัว ไทเป ร้านเล็ก ๆ ที่หัวถนนมีสมุนไพรหลากชนิดวางโชว์อยู่ คล้ายกับตรอกไดแอกอนในฮอกวอตส์ ตามนิยายชื่อดัง แฮร์รี่ พอตเตอร์ หากปวดหัวเพราะอาการลมแดด ผู้คนจะแนะนำให้ไปอาบน้ำเฮียเฮียะ (艾草浴) หรือรมด้วยสมุนไพร สัก 15 นาที จะทำให้เลือดลมบริเวณไหล่ไหลเวียนคล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ ท่านทราบไหมว่า ยาสมุนไพรไต้หวัน NRICM101 ที่ใช้ในการรักษา Covid-19 ก็มีส่วนผสมจากสุดยอดสมุนไพร คือผักคาวทอง (魚腥草)
ไม่มีพืชชนิดใดที่ไม่ใช่สมุนไพร พืชเกือบทุกชนิดมีสรรพคุณในการรักษาโรคทั้งสิ้น สิ่งที่แตกต่างมากที่สุดระหว่างสมุนไพรที่วางขายอยู่ในร้านขายสมุนไพรกับยาจีนก็คือ ยาจีนต้องผ่านกรรมวิธีการผลิตแบบยาจีน และส่วนใหญ่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ส่วนในร้านขายสมุนไพรท้องถิ่นจะเห็นสมุนไพรสด ๆ วางจำหน่ายอยู่ เนื่องจาก 90% ขึ้นไปเป็นสมุนไพรที่เติบโตโดยธรรมชาติหรือปลูกในสวนเพาะปลูกสมุนไพรในไต้หวันทั้งสิ้น
ท่านพร้อมแล้วหรือยังที่จะกระโจนลงไปในโพรงกระต่ายอันซับซ้อนแห่งสมุนไพรจีนพร้อมกับ “ไต้หวันพาโนรามา” ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่โลกแห่งสมุนไพรไต้หวัน
เราสามารถทำความรู้จักกับสมุนไพรนานาชนิดได้ตามข้างทางหรือในสวนสาธารณะ
โลกที่ค้นพบด้วยการคลานอยู่บนพื้น
หากต้องการทำความรู้จักกับสมุนไพรไต้หวัน ไม่จำเป็นต้องลุยป่าปีนเขากันหรอก เพียงแค่ไปที่สถานีรถไฟฟ้าเซี่ยงซาน เมื่อเดินออกมาทางประตูสวนสาธารณะเซี่ยงซาน เราก็จะตื่นตาตื่นใจกับภาพที่เห็น หลี่เจียเหมย ผู้เชี่ยวชาญวิชาสมุนไพร แห่งมหาวิทยาลัยชุมชนซิ่นอี้ ไทเป ซึ่งได้รับสมญานามว่าเป็น “ปรมาจารย์” นำพวกเขาเดินชมสวนสาธารณะหนึ่งรอบ และให้พวกเราจดบันทึกชื่อสมุนไพรกว่า 100 ชนิด
หลี่เจียเหมยเล่าว่า “ในโลกสมุนไพร เราต้องก้มตัวลงเพื่อสังเกตด้วยความนอบน้อม หากยืนมองในที่สูง เราจะเห็นว่ามันก็เหมือน ๆ กันหมด” พวกเราจึงนั่งยอง ๆ ลงไปเข้าใกล้พื้น ตอนแรกเราก็เห็นแต่ใบไม้เขียวขจีเท่านั้น แต่เมื่อก้าวตามหลี่เจียเหมยไป เธอชี้นิ้วออกไปพร้อมกับเรียกชื่อสมุนไพรนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น คำยอด, Ixeris chinensis, สตรอว์เบอร์รีป่า, ขอบชะนาง, หญ้าเกล็ดหอย, Soliva anthemifolia, หญ้าเอ็นยืด, หญ้าไข่แมงดา, บัวบก, ส้มกบ, หญ้าคออ่อน และผักกาดนกดอกขาว เป็นต้น พืชแต่ละชนิดเหล่านี้ ล้วนมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป
หลี่เจียเหมยได้อธิบายอย่างละเอียด เดิมหญ้าเกล็ดหอยเป็นสมุนไพรสำคัญชนิดหนึ่ง ใช้รักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิด และยังสามารถนำมาใช้ในการขับปัสสาวะด้วย ส่วน Soliva anthemifolia มีลักษณะคล้ายใบของแคร์รอต สามารถนำมาใช้ทำสลัด โดยใช้เหมือนกับขึ้นฉ่ายฝรั่ง ส่วนที่ออกดอกเป็นสีม่วงคือหญ้าดอกขาว ใช้รักษาโรคหวัด ส่วนบัวบกหรืออีกชื่อในภาษาจีนเรียกว่าเหลยกงเกิน เนื่องจากเมื่อเกิดฝนตกและฟ้าผ่า หัวและรากของมันก็จะแตกหน่อแตกหัวออกไปอีกเป็นจำนวนมาก ผักกาดนกดอกขาวหรือที่เรียกว่าฮ่านไช่ (Cardamine) มีฝักยาว ๆ ใช้ทำอาหารป่ามีรสชาติอร่อยมาก
ในช่วงเริ่มต้นของฤดูใบไม้ผลิ จะเป็นช่วงที่คำยอดมีใบอ่อนที่สุด หลี่เจียเหมยบอกว่าเด็ดมารับประทานกับบะหมี่สำเร็จรูปอร่อยมาก ส่วนหญ้า Ixeris chinensis ที่มีดอกสีเหลืองเหมือนกับคำยอด เป็นหญ้าในตระกูลเดียวกัน รูปร่างคล้ายกัน วิธีแยกแยะก็คือคำยอดเป็นพืชประเภทหัวและราก และเมื่อสังเกตที่ใบอย่างละเอียดก็จะพบว่าบริเวณกิ่งใบของมันจะงอกออกมาจากบริเวณรากในดิน ส่วนหญ้า Ixeris chinensis จะเป็นพืชประเภทก้านที่แตกออกจากกิ่งหรือลำต้น
อย่ามัวแต่ก้มมองที่พื้น สมุนไพรไต้หวันยังรวมถึงในส่วนของไม้ยืนต้นและไม้พุ่มด้วย เธอบอกให้พวกเราเงยหน้าขึ้นมอง ทำความรู้จักกับต้นจิ่วฉุง (Lagerstroemia subcostata) มีก้านเป็นเงามัน และยังถูกเรียกว่า “โหวปู้ผา” ซึ่งแปลว่า “ลิงยังไม่ปีน” เป็นสมุนไพรที่บรรพบุรุษนำมาใช้บำรุงเอ็นและกระดูก ส่วนคำพูดที่ว่า “โสมเหนือ ลำไยใต้” กุ้ยหยวนก็คือลำไย เอารากของมันมาตุ๋น ผู้คนรู้ดีว่าลำไยมีสรรพคุณบำรุงเลือด
ใช้สายตาแยกแยะ ใช้มือลูบคลำหัวและใบ รู้สึกได้ถึงความมันเงาหรือเส้นใยของมัน เด็ดมาลองดูสักใบก็ได้ พอขยี้หรือขยำใบให้ละเอียด ดมกลิ่นของมันดู หลี่เจียเหมยบอกอีกว่า “เมื่อคุณรู้จักกับมันแล้ว คุณก็จะมองเห็นมัน”
สั่งสมจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ
เมื่อฟังคำบรรยายของหลี่เจียเหมยมาตลอดเส้นทาง เธอมักจะกล่าวถึงสมุนไพรเป็นจำนวนมากที่มีสรรพคุณขับน้ำและความชื้น ซึ่งสามารถขับน้ำและความชื้นที่มีมากเกินไปในร่างกายออกมาได้ และมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะภูมิอากาศที่เป็นเกาะของไต้หวัน
หลี่เจียเหมยเล่าให้ฟังว่า ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรเริ่มมีการบันทึกและรวบรวมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1924 ซึ่งเป็นยุคที่ญี่ปุ่นยังปกครองไต้หวัน ชุนอิจิ ซาซากิ นักวิชาการด้านพฤกษศาสตร์ ชาวญี่ปุ่นได้เก็บรวบรวมพืชจำนวน 579 ชนิด ไว้ใน “บันทึกพืชที่ชาวไต้หวันใช้เป็นสมุนไพร” นับเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาวิจัยอย่างเป็นระบบต่อพืชที่นำมาใช้เป็นสมุนไพรของไต้หวัน
กลุ่มคนรักพฤกษชาติในไต้หวันได้จัดทำ “หนังสือภาพของป่าที่ใช้ทำอาหารในไต้หวัน” ในปี ค.ศ. 1945 โดยเก็บรวบรวมสมุนไพรไต้หวันไว้กว่า 100 ชนิด และแนะนำวิธีการปรุงเพื่อนำมาเป็นอาหารด้วย หลี่เจียเหมยได้ยกตัวอย่าง “โลกสมุนไพร” ที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยสำนักพิมพ์จงติ้งฉวนในปี ค.ศ. 1977 หนังสือ “สมุนไพรที่พบบ่อย” ที่เขียนโดยคุณเจิ้งหลินจือ ในปี ค.ศ. 1996 และ “การใช้ประโยชน์จากสมุนไพรพื้นบ้านไต้หวัน” ที่เขียนโดยคุณองหยี้เฉิง ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเก็บสมุนไพรในป่า ก็ออกตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2010 เหล่าผู้รักในสมุนไพรถ่ายทอดความรู้สืบต่อมารุ่นต่อรุ่น สะสมเป็นโลกสมุนไพรทีละต้นทีละดอก ส่วนหนังสือ “สมุนไพร 4 ฤดูไต้หวัน” ของเธอตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2021 โดยศึกษาสมุนไพรจากคนและผืนดิน เพื่อนำมาถ่ายทอดความรู้สืบทอดต่อไป
ร้านขายสมุนไพรเล็ก ๆ แต่เต็มไปด้วยสมุนไพรนับร้อยชนิด
สมุนไพรในชีวิตประจำวัน
เมื่อเดินเล่นในสวนสาธารณะเซี่ยงซาน เราได้พบกับชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งได้แบ่งปันเรื่องราวของเนียมหูเสือ อันเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ปลูกอยู่หน้าบ้าน เขาเล่าว่า ถ้ามีความรู้สึกว่าร่างกายมีอาการอักเสบ ร้อนใน ก็จะให้ใช้น้ำเกลือล้างให้สะอาดแล้วกิน อาการก็จะดีขึ้นอย่างปาฏิหาริย์ และระหว่างทางยังพบต้นไม้ที่มีกลิ่นแปลก ๆ หลี่เจียเหมยบอกว่า “คุณลองดมอีพาโซเต้หรือโช่วชวนฉุง ตระกูลเดียวกับสตรอว์เบอร์รีป่า เมื่อก่อนเราจะปลูกไว้ใกล้ ๆ บ้าน เพื่อป้องกันงูเลื้อยเข้าบ้าน และยังเอาไปอาบน้ำรักษาโรคผิวหนังอักเสบได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีข่าใบด่าง ซึ่งเป็นพืชในตระกูลขิง มักถูกนำมาห่อบ๊ะจ่าง แต่หลี่เจียเหมยบอกว่าทำแบบนี้รู้สึกเสียดายมาก เพราะข่าใบด่างจะมีสรรพคุณแก้ไข้และขับเหงื่อได้ดีมาก ซึ่งใช้ได้ทั้งแบบสด ๆ หรือแบบตากแห้งมาทำเป็นหมอนหรือห่อเป็นสมุนไพรที่ใช้แช่อาบน้ำ มีสรรพคุณกล่อมประสาทช่วยให้หลับง่ายได้เป็นอย่างดี
วัฒนธรรมเครื่องดื่มมือเขย่าของไต้หวันมักจะมีส่วนประกอบของว่านหางจระเข้ ซึ่งมีสรรพคุณเสริมความงามของผิวพรรณ นำมาพอกผิวหนังที่ถูกแดดเผาได้ และยังมีสรรพคุณกระตุ้นการงอกของเส้นผมได้อีกด้วย
ส่วนเฮียเฮียะ หรือ อ้ายเฉ่าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็มีสรรพคุณอย่างหลากหลายและได้ผลเป็นอย่างดี โดยมีการนำมาใช้ขจัดปัดเป่าเสนียดจัญไรและโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ตามประเพณีพื้นบ้านด้วย อีกทั้งยังเป็นส่วนประกอบในการรักษาอาการอักเสบ และไล่ยุงได้เป็นอย่างดี ในชุมชนชาวฮากกานิยมใช้กอมก้อห้วย หรืออีกชื่อหนึ่งว่า “หญ้าบดฮากกา” ทารกแรกเกิดจะใช้กอมก้อห้วยมาอาบน้ำ และยังเอามาเช็ดหน้าเช็ดตาหรือเช็ดตัวให้เด็ก ๆ ที่ร้องไห้ทั้งคืนหรือร่างกายอ่อนแอ เพื่อให้เติบโตด้วยสุขภาพแข็งแรง พอถึงเทศกาลขนมจ้างหรือตวนอู่เจี๋ย ก็จะนำมาแขวนไว้ที่หน้าประตูบ้าน เพื่อปัดรังควานให้หมดเคราะห์หมดโศก พืชชนิดนี้มีความแนบแน่นกับชีวิตประจำวันของชาวฮากกาเป็นอย่างยิ่ง
ร้อยรวงพืชพันธุ์ สมุนไพรไร้พรมแดน
ชนพื้นเมืองที่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เป็นผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรขั้นเทพ
ยูฟอร์เบีย ฟอร์โมซา ที่ออกดอกเป็นสีเหลือง เป็นสมุนไพรที่ชนพื้นเมืองมักจะนำมาใช้เมื่อถูกงูพิษกัด โดยนำหญ้าทั้งต้นมาตำให้แหลกหรือต้มดื่มหรือนำมาพอกที่บริเวณบาดแผลโดยตรง จะได้ผลชะงัดทีเดียว ชื่อชง ซึ่งมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zanthoxylum ailanthoides มีหนามเต็มลำต้น ดังนั้น จึงมีอีกชื่อหนึ่งที่น่าสนใจคือ “เหนี่ยวปู้ท่า” แปลว่า “นกไม่เหยียบ” ใช้เป็นเครื่องเทศหรือผักสดที่ขาดไม่ได้บนโต๊ะอาหารของชนพื้นเมือง เอามาทำเป็นยำ ทอดไข่ ต้มน้ำซุป ก็อร่อยถูกปาก และยังมีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรอีกมากมายสุดจะพรรณนา ซึ่งซ่อนอยู่ในชีวิตประจำวัน กลายเป็นภูมิปัญญาของชนพื้นเมืองในไต้หวัน
นอกจากสมุนไพรพื้นบ้านเหล่านี้แล้ว ยังมีสมุนไพรที่ถูกนำพาเข้าสู่ไต้หวัน ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสมุนไพรนานาชนิดจากต่างประเทศก็ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเกาะแห่งนี้ไปแล้ว
“หานซิวเฉ่า” หือที่คนไทยเรียกว่า “ไมยราบ” มาจากทวีปอเมริกาเข้าสู่ไต้หวันเมื่อศตวรรษที่ 17 บรรพบุรุษใช้รากที่อยู่ใต้ดินของมันมาเป็นสมุนไพร ไมยราบมีสรรพคุณในการรักษาโรคค่อนข้างกว้างขวาง ทั้งกล่อมประสาท ช่วยให้หลับสบาย แก้ร้อนใน ลดน้ำตาลในเลือด ลดความเป็นกรดในปัสสาวะ ส่วนปืนนกไส้ (Bidens alba) สมุนไพรที่มาจากโอกินาวา เป็นส่วนประกอบสำคัญที่นำมาชงเป็นน้ำชาเพื่อดับกระหายและแก้ร้อนใน
“เซียงหลาน” หรือเตย ที่ชาวอาเซียนนำเข้ามายังไต้หวัน มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือด ราคาก็แพงขึ้นเป็นลำดับจัดเป็นพืชประเภทเดียวกับขี้ไก่ย่าน หรือ Mikania micrantha ซึ่งเป็นพืชต่างถิ่น ทนต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดี ทางภาคตะวันออกมีคนนำมันมาศึกษาทำเป็นยาไล่ยุง ป้องกันริ้นกัด
ในหลักสูตรของหลี่เจียเหมย (ซ้าย) สอนนักเรียนใช้ความรู้แยกแยะสมุนไพร ชิมอาหารที่ทำจากสมุนไพร ทำให้สมุนไพรกลับสู่ชีวิตประจำวันอีกครั้ง
จัดงานเลี้ยงด้วยอาหารสมุนไพร
หลี่เจียเหมยเปิดคอร์สสอนทำอาหารจากสมุนไพร “สมุนไพรตามฤดูกาล ห้องครัวเพื่อสุขภาพ” สอนทำอาหารจากพืช หญ้าชนิดต่าง ๆ ที่เป็นสมุนไพร วันที่เราไปสัมภาษณ์ เธอกำลังสอนทำอาหารจากสมุนไพรหลายเมนูทีเดียว
เมนูสมุนไพรเต็มโต๊ะ มีน้ำสลัดมิโซะครีมงาสมุนไพร เทมปุระสมุนไพร วัตถุดิบก็คือคำยอดที่งอกงามตามฤดูกาล หลี่เจียเหมยอธิบายเป็นพิเศษว่า ผักป่าพวกนี้ปลูกเองไม่ได้ รสชาติก็ได้มาจากธรรมชาติล้วน ๆ พระเอกของโจ๊กสมุนไพรเพื่อสุขภาพก็คือมะแว้งนก เอาใบมาตุ๋นเป็นโจ๊ก มีสรรพคุณแก้ร้อนใน แก้อักเสบและขับพิษ แถมด้วยสรรพคุณบำรุงตับ ส่วนชาสมุนไพรเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่ทำขึ้นเป็นพิเศษนี้ จะใช้ผักคาวทองกับใบหม่อนผสมกัน โดยผักคาวทอง มีสรรพคุณในการขับพิษ ขับน้ำ บำรุงปอด เสริมความเข้มแข็งให้แก่ปอด ลดความดัน ส่วนใบหม่อนจะมีสรรพคุณลดอาการไอ ละลายเสมหะ ลดน้ำตาลในเลือดและฟอกเลือด
สมุนไพรที่เก็บมาจากรอบ ๆ ตัวเราเหล่านี้ มีอัตลักษณ์แตกต่างกันไป มีสรรพคุณที่ไม่เหมือนกัน เป็นภูมิปัญญาและประสบการณ์ของบรรพบุรุษที่สะสมและตกทอดมาช้านาน อยากทำความรู้จักกับสมุนไพรเหล่านี้บ้างหรือไม่? ไปเดินทอดน่องที่ตลาดสมุนไพรหรือดื่มชาสมุนไพรสักแก้วกันเถอะ
เพิ่มเติม
วันนี้คุณใช้สมุนไพรหรือยัง? ยินดีต้อนรับสู่โลกสมุนไพรของไต้หวัน