ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
“การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2023” ปิดฉากลงด้วยความสำเร็จและราบรื่น
2023-07-24
New Southbound Policy。“การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2023” ปิดฉากลงด้วยความสำเร็จและราบรื่น (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
“การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2023” ปิดฉากลงด้วยความสำเร็จและราบรื่น (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 21 ก.ค. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 19 ก.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และมูลนิธิวิจัยพลังงานยั่งยืนไต้หวัน (Taiwan Institute for Sustainable Energy, TAISE) ได้ร่วมกันจัด “การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2023” ขึ้น ณ โรงแรม Court Yard Taipei โดยได้เชิญรัฐมนตรีในกลุ่มประเทศพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก และเจ้าหน้าที่ภาครัฐในกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน มาร่วมหารือแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นระหว่างกัน
 
การประชุมสัมมนารอบแรกจัดขึ้นในหัวข้อ “การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก” โดยมีนายหลี่เจาเฉิง เลขาธิการกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (International Cooperation and Development Fund, Taiwan ICDF) เป็นประธานในพิธีเปิด พร้อมทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายหลักร่วมกับ H.E. Tofiga Falani ผู้สำเร็จราชการตูวาลู Mr. Gustav N. Aitaro รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐปาเลา Mr. John Silk รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและพาณิชย์ สาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์ และ Mr. Rennier Gadabu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สาธารณรัฐนาอูรู ที่ร่วมลงนามใน “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” กับนายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ส่วน Mr. Seve Paeniu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ฝ่ายกิจการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศแห่งตูวาลู ก็ได้เข้าร่วมผ่านการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้า โดยผู้เข้าร่วมบรรยายต่างทยอยกล่าวถึงภัยคุกคามและความท้าทายที่ทั่วโลกต้องประสบจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเป็นกระบอกเสียงแสดงจุดยืนในการต่อต้านวิกฤตนี้ แต่เนื่องจากไต้หวันถูกกีดกันมิให้เข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ จึงให้คำมั่นอย่างหนักแน่นว่า จะช่วยสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (UNFCCC COP 28)
 
ส่วนการประชุมรอบที่ 2 จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “ประชาคมโลกร่วมจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนว่าด้วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก” โดยมีนายเจี่ยนยิ่วซิน เอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษประจำทำเนียบรัฐบาลด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทำหน้าที่เป็นประธาน โดยมี Ms. Betty Chung รองหัวหน้าคณะตัวแทนองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development, USAID) ที่ประจำการในกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก Mr. Watanabe Yuta ที่ปรึกษาฝ่ายเทคโนโลยีขององค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) Mr. Eric Molay เจ้าหน้าที่ฝ่ายกิจการเทคโนโลยีของสมาคมฝรั่งเศสในไต้หวัน Ms. Angeline Sanzay เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายของสำนักงานเศรษฐกิจและการค้ายุโรป (European Economic and Trade Office, EETO) ประจำไต้หวัน และนายสื่อลี่จวิน รองเลขาธิการกองทุน Taiwan ICDF เข้าร่วมการเสวนา โดยนอกจากรองหัวหน้า Chang จะชี้แจงถึงทิศทางของนโยบายในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิกแล้ว ยังได้หยิบยกโครงการความร่วมมือระหว่าง USAID และ Taiwan ICDF มาเป็นกรณีตัวอย่างในการเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงอย่างเป็นรูปธรรม ส่วน Mr. Yuta ก็ได้ชี้แจงถึงการที่รัฐบาลญี่ปุ่นยึดมั่นในมาตรา 6 ที่ระบุไว้ในความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ส่วน Mr. Molay และ Ms. Sanzay ต่างทยอยแบ่งปันสถานการณ์ล่าสุด รวมถึงความคาดหวังของแผนปฏิบัติการว่าด้วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ตามแนวทางปฏิบัติของฝรั่งเศสและสหภาพยุโรป (EU) ในปัจจุบัน ส่วนรองเลขาธิการสื่อฯ ก็ได้ชี้แจงแนวทางการรับมือกับความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่กลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญของกองทุน Taiwan ICDF ให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาประเทศพันธมิตร
 
หลังเสร็จสิ้นการประชุมในครั้งนี้ นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ก็ได้จัดเลี้ยงอาหารเพื่อให้การต้อนรับประธานและผู้เข้าร่วมบรรยายทุกท่าน โดยรมช.เถียนฯ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเข้าร่วมกิจกรรมมาราธอนในปาเลากับผู้เข้าแข่งขันในกลุ่มประเทศพันธมิตร โดยชี้แจงให้เห็นถึงนิยามของคำว่า “Stronger Together” ระหว่างไต้หวันและประเทศพันธมิตร พร้อมแสดงความคาดหวังที่จะเห็น ไต้หวันและกลุ่มประเทศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ประสานความร่วมมือกันในเชิงลึกอย่างเหนียวแน่น ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ รวมถึงวิกฤตและความท้าทายระหว่างประเทศ เพื่อร่วมสร้างสรรค์อนาคตที่ดีร่วมกันในภายภาคหน้าสืบไป