กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 26 ก.ค. 66
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Alexander Grawe ผู้กำกับรายการสารคดี “ประธานาธิบดีปูตินและประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ร่วมจับมือต่อกรกลุ่มประเทศตะวันตก” (Putin und Xi - Pakt gegen den Westen) ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 2 แห่งเยอรมนี (Zweites Deutsches Fernsehen, ZDF) โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้เผยแพร่ออกอากาศเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมา และอัปโหลดลงบนเว็บไซต์ทางการของสารคดีแล้ว โดยได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทุกแวดวงในเยอรมนี และหมู่ปัญญาชนในพื้นที่ที่ใช้ภาษาเยอรมันเป็นหลักในประเทศยุโรป
สารคดีดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ภัยคุกคามรุนแรงต่อโลกประชาธิปไตยในกลุ่มประเทศตะวันตก ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างรัสเซีย - จีน โดยการตัดสินใจของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีน อาจทำให้ทั่วโลกประสบกับหายนะครั้งใหญ่ ซึ่งในสารคดีได้รวบรวมมุมมองและทรรศนะของรมว.อู๋ฯ รวมถึงนักการเมือง ผู้นำทางความคิด ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการนานาชาติ หลายท่าน มารายงานให้ได้รับชมกันถ้วนหน้า
รมว.อู๋ฯ กล่าวขณะให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่ปธน.สีจิ้นผิง ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำจีน ก็ได้รวบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างกระตือรือร้น ส่งผลให้ระบบการเมืองของจีน นับวันยิ่งเป็นไปในทิศทางที่เป็นเผด็จการมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจ การควบคุมโรคระบาด การละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเจียงและทิเบต หรือจะเป็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตบริหารพิเศษฮ่องกง จีนต่างก็ใช้วิธีการสร้างแรงกดดันและบีบบังคับ ซึ่งขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ประเทศจีนที่อยู่ภายใต้การปกครองของสีฯ มีเป้าหมายที่จะขยายอิทธิพลทางภูมิรัฐศาสตร์ ด้วยการขยายขอบเขตของกองทัพไปสู่ช่องแคบไต้หวัน ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ และทะลวงผ่านพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 เข้าสู่พื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก ไปจนถึงมหาสมุทรอินเดียและภูมิภาคแอฟริกา ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานในการครอบครองประชาคมโลกของผู้กุมอำนาจเผด็จการ
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า จีนได้ข่มขู่ไต้หวันด้วยกำลังทหารมาเป็นระยะเวลานาน ควบคู่ไปกับการทำสงครามไซเบอร์ สงครามลูกผสมและสงครามจิตวิทยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความวิตกกังวลให้แก่ประชาชนชาวไต้หวัน อันจะนำไปสู่การพิชิตเป้าหมายตามกลยุทธ์ “บีบให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน แทนการทำสงคราม” ดังที่ระบุไว้ในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (The Art of War by Sunzi) หลังจากที่เกิดเหตุสงครามรัสเซีย - ยูเครนขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ไต้หวันได้รับแรงบันดาลใจจากพลังอันฮึกเหิมของประชาชนชาวยูเครน ทำให้พวกเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจในการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างแน่วแน่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังได้เรียนรู้จากยูเครนที่อาศัยการขาดความสมดุลทางทหาร มาเสริมสร้างแสนยานุภาพของตนเอง ควบคู่ไปกับการแสวงหาพลังสนับสนุนจากประชาคมโลก เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงครามด้วยการเตรียมตัวล่วงหน้าให้มีความพร้อม
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า หากเมื่อใดที่ช่องแคบไต้หวันเกิดสงคราม จะส่งผลให้กลไกทางเศรษฐกิจโลกประสบกับหายนะครั้งยิ่งใหญ่ โดยบรรดาผู้นำของประเทศต่างๆ ในประชาคมโลก ต่างทยอยแสดงจุดยืนว่าด้วยการให้ความสำคัญต่อการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันในระหว่างการประชุมนานาชาติที่สำคัญ เช่น การประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) พร้อมทั้งแสดงจุดยืนว่าด้วยการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพในปัจจุบันอย่างฉาบฉวย รมว.อู๋ฯ เห็นว่า หากประชาคมโลกร่วมเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวัน ประกอบกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ประสานความร่วมมือกับไต้หวันเพื่อสกัดกั้นความขัดแย้ง เชื่อว่าจะสามารถเลี่ยงมิให้เกิดสงครามขึ้นในช่องแคบไต้หวันได้อย่างแน่นอน