ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่อิงเหวินให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงแห่งภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2023”
2023-08-10
New Southbound Policy。ปธน.ไช่อิงเหวินให้การต้อนรับ  “คณะตัวแทนการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงแห่งภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2023” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่อิงเหวินให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงแห่งภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2023” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 9 ส.ค. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 9 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนการประชุม Ketagalan-ความมั่นคงแห่งภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2023” โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันเป็นประเทศในแนวหน้าของการปกป้องประชาธิปไตย หลายปีมานี้ พวกเราได้มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU) ออสเตรเลียและแคนาดา อย่างต่อเนื่อง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสกัดกั้นข่าวปลอม และการธำรงรักษาเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยปธน.ไช่ฯ หวังที่จะเห็นการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างกันที่เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปกป้องค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ ปธน.ไช่ฯ เชื่อมั่นว่า แม้ว่าความท้าทายจะยังคงอยู่ แต่พวกเราจะประสานความสามัคคีเป็นหนึ่งในการธำรงรักษาค่านิยมที่ยึดมั่นร่วมกันอย่างเต็มกำลัง เพื่ออุทิศคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกสืบไป
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวอีกว่า การประชุม Ketagalan-ความมั่นคงแห่งภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ประจำปี 2023 ปิดฉากลงเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 8 ส.ค. อย่างราบรื่น ปธน.ไช่ฯ ขอใช้โอกาสนี้ แสดงความขอบคุณต่อแขกผู้มีเกียรติที่มารวมตัวกันจากทั่วทุกสารทิศ เพื่อแสดงความสนับสนุนต่อเสรีภาพ เสถียรภาพ การเปิดกว้างและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก อย่างเป็นรูปธรรม
 
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า การประชุมในครั้งนี้มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นด้านสถานการณ์ช่องแคบไต้หวัน ความสงบเรียบร้อยด้านความมั่นคงระดับโลก ความท้าทายและผลกระทบต่อประชาธิปไตย ที่เกิดจาก “ยุทธศาสตร์สงครามในพื้นที่สีเทา” เช่น สงครามไซเบอร์และสงครามจิตวิทยา รวมไปถึงความเกี่ยวเนื่องระหว่างการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานโลกและบทบาทของไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเด็นล้วนเป็นความท้าทายที่รุนแรง ต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ในการก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ โดยเฉพาะไต้หวันซึ่งเป็นประเทศที่ตั้งอยู่แนวหน้าในการปกป้องประชาธิปไตย ที่มักจะต้องเผชิญหน้ากับการโจมตีจากจีน ผ่านสงครามจิตวิทยา การเผยแพร่ข่าวปลอมและสงครามไซเบอร์ เป็นต้น
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวด้วยว่า การที่แขกผู้มีเกียรติซึ่งเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อไต้หวัน พวกเราขอบคุณมิตรสหายนานาชาติที่ร่วมประกาศจุดยืนอย่างเปิดเผยว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันเป็นปัจจัยที่มิสามารถขาดได้ ในความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลก ภูมิภาคที่พวกเราพำนักอาศัยอยู่ กำลังพบกับช่วงเวลาที่สำคัญ ปธน.ไช่ฯ จึงหวังที่จะเห็นบรรดาผู้เข้าร่วมการประชุมแสดงบทบาทที่สำคัญในเวทีนานาชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป เพื่อร่วมธำรงปกป้องสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ให้คงอยู่สืบไป
 
ปธน.ไช่ฯ เชื่อว่า แม้ว่าอุปสรรคความท้าทายจะยังคงอยู่ แต่ “ไม่สมควรที่จะมีกลุ่มประเทศประชาธิปไตยประเทศใดที่ต้องต่อสู้เพียงลำพัง” เหมือนดั่งที่ Mr. Andrus Ansip อดีตนายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย กล่าวไว้ในระหว่างการประชุม
 
ในลำดับต่อไป Mr. Ansip ได้ขึ้นกล่าวปราศรัย โดยชี้ว่า ความสำเร็จที่ไต้หวันได้รับในวันนี้ มาจากความมุ่งมั่นพยายามร่วมกันของภาคประชาชน Mr. Ansip รู้สึกยกย่องที่ประชาชนไต้หวันยึดมั่นในเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างเข้มแข็งและหนักแน่น  อีกทั้งยังรู้สึกชื่นชมต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจอันเจริญรุ่งเรืองของไต้หวันด้วยเช่นกัน
 
Mr. Ansip เผยว่า สิ่งที่ทำให้รู้สึกประทับใจมากที่สุดในการมาเยือนไต้หวันในครั้งนี้ คือ อุตสาหกรรมการผลิตแผ่นชิปที่ทันสมัยระดับสากล ในยุคสมัยที่พวกเราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เต็มไปด้วยวิกฤต สงครามและความสัมพันธ์ที่ไม่สมดุลกับจีน ทำให้หลายคนต้องทบทวนสถานการณ์ทั่วโลกใหม่ นับตั้งแต่สงครามที่ปะทุขึ้นจากรัสเซีย และวิกฤตพลังงานที่เกิดขึ้นในยุโรป พวกเราตระหนักทราบดีว่า การพึ่งพาอาศัยทรัพยากรจากประเทศใดประเทศหนึ่งมีความเสี่ยงมากเพียงใด ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องการที่จะมีอำนาจต่อรองในด้านเทคโนโลยีเฉพาะทาง
 
Mr. Ansip เผยอีกว่า การที่กลุ่มประเทศยุโรปแสวงหาอำนาจต่อรองในเชิงเทคโนโลยี มิได้หมายความว่าจะหันไปให้การสนับสนุนลัทธิโดดเดี่ยว หรือส่งเสริมการกีดกันทางการค้า หรือยุติข้อตกลงการค้าเสรี ในทางกลับกัน กลุ่มประเทศประชาธิปไตย ควรที่จะประสานความร่วมมือกันอย่างแนบแน่น เพื่อแสวงหาจุดสมดุลภายใต้แนวโน้มสถานการณ์เช่นนี้ ซึ่งไม่ว่าจะอยู่แห่งหนใดในโลก ไต้หวันและ EU รวมทั้งกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ก็ควรที่จะประสานความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น
 
Mr. Ansip กล่าวด้วยว่า ไต้หวัน – เอสโตเนียเป็นพันธมิตรด้านประชาธิปไตยที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน และยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตย เสรีภาพและสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกัน โดย Mr. Ansip จะมุ่งมั่นส่งเสริมการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับไต้หวันในเชิงลึก พร้อมเชื่อมั่นว่าไต้หวัน - เอสโตเนีย และไต้หวัน – EU จะมุ่งสามารถสร้างความร่วมมือในเชิงลึกระหว่างกันได้ต่อไป