ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 10 ส.ค. 66
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 10 ส.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนของประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศจากรัฐสภาของกลุ่ม 3 ประเทศที่ตั้งอยู่ในแถบทะลบอลติก โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลและรัฐสภาของกลุ่มประเทศบอลติก 3 ประเทศที่ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันในเวทีนานาชาติเสมอมา
การเดินทางมาเยือนไต้หวันของ 3 ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศในครั้งนี้ มีนัยยะสำคัญต่อความมั่นคงในภูมิภาคและการสร้างความสามัคคีระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก ปธน.ไช่ฯ ยังจำได้ว่า Mr. Žygimantas Pavilionis ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของลิทัวเนีย และกลุ่มพันธมิตรไต้หวันในรัฐสภายูเครน ต่างร่วมเดินทางมาเยือนไต้หวันเมื่อปีที่แล้ว ปธน.ไช่ฯ จึงขอใช้โอกาสนี้ในการเชิญชวนเหล่ามิตรสหายให้กลับมาเยือนไต้หวันอีกครั้งในเร็ววันนี้
ปธน.ไช่ฯ เห็นว่า ทั้งไต้หวันและกลุ่มประเทศบอลติก ต่างเคยตกอยู่ในอำนาจการปกครองด้วยระบอบเผด็จการ พร้อมมุ่งแสวงหาประชาธิปไตยอย่างกระตือรือร้น โดยในปัจจุบัน พวกเราก็ยังคงต้องเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการและภัยคุกคามต่อความมั่นคงที่เกิดจากการโจมตีทางไซเบอร์ ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีความเข้าใจต่อสถานการณ์ที่ต่างฝ่ายต่างเผชิญอยู่อย่างลึกซึ้ง
ปธน.ไช่ฯ ระบุบว่า นับตั้งแต่ที่เกิดสงครามรัสเซีย - ยูเครน นอกจากกลุ่มประเทศบอลติกทั้ง 3 ประเทศ จะให้การสนับสนุนยูเครนอย่างเต็มที่ ยังให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง ด้วยจิตวิญญาณและแนวทางในการปกป้องค่านิยมประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ซึ่งสร้างความซาบซึ้งใจให้แก่ประชาคมโลกเป็นอย่างมาก
ประชาชนไต้หวันต่างก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่อจุดยืนในการธำรงรักษาเสรีภาพของยูเครน โดยเมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลและประชาชนไต้หวันได้ร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือ จำนวน 58 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ และสิ่งของจำเป็นรวมน้ำหนักกว่า 700 ตัน ให้แก่ประชาชนชาวยูเครนที่ประสบทุกข์จากภัยสงคราม ในอนาคต ไต้หวันจะมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศบอลติกและนานาประเทศ เพื่อช่วยฟื้นฟูบูรณะโครงสร้างพื้นฐานในยูเครนต่อไป
ปธน.ไช่ฯ ยังย้ำว่า หลายปีมานี้ ไต้หวันและกลุ่มประเทศบอลติกได้ร่วมแลกเปลี่ยนกันในด้านต่างๆ อย่างใกล้ชิดและมีความเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้นทุกที โดยปธน.ไช่ฯ หวังที่จะเห็นคณะตัวแทนให้ความช่วยเหลือในการส่งเสริมให้ไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมใน “ศูนย์เพื่อความเป็นเลิศ” ที่ตั้งอยู่ในกลุ่มประเทศบอลติก 3 ประเทศ ประกอบด้วย “CCD-COE” แห่งเอสโตเนีย “StratCom COE” แห่งลัตเวีย และ “EnSec COE” แห่งลิทัวเนีย ทั้งนี้ เพื่อเปิดศักราชใหม่ให้กับการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศบอลติก ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างมิตรภาพระหว่างกัน ให้ดำเนินไปในเชิงลึกยิ่งขึ้น อันจะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึกในด้านกลาโหม ความมั่นคงทางไซเบอร์และการป้องกันประเทศโดยภาคประชาชน ระหว่างไต้หวันและกลุ่ม 3 ประเทศบอลติกในอนาคตต่อไป
Mr. Marko Mihkelson หัวหน้าคณะตัวแทนประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศจากรัฐสภาของกลุ่มประเทศบอลติก 3 ประเทศ กล่าวว่า การเดินทางเยือนไต้หวันในครั้งนี้ นอกจากต้องการที่จะทำความรู้จักกับไต้หวันในเชิงลึกให้มากขึ้นแล้ว ยังหวังจะแสวงหาความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือแบบทวิภาคีให้มากขึ้น ตลอดจนร่วมผลักดันความสามัคคีระหว่างพันธมิตรด้านประชาธิปไตยให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น
Mr. Marko เห็นว่า ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและเปี่ยมด้วยพลังความสดใส ภายใต้การนำของปธน.ไช่ฯ ไต้หวันได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้นจากประชาคมโลก ซึ่งนานาประเทศทั่วโลกต่างตระหนักดีว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่มีความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นให้ความช่วยเหลือต่อประชาคมโลกในการรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ อาทิ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ เป็นต้น ตลอดจนยังสวมบทบาทสำคัญที่ช่วยยกระดับความทรหดของพันธมิตรด้านประชาธิปไตย เพื่อร่วมเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากลัทธิอำนาจนิยม
Mr. Marko กล่าวว่า หลังจากที่คณะตัวแทนเดินทางมาถึงไต้หวัน พวกเราตระหนักเห็นว่า ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศบอลติก 3 ประเทศ มีโอกาสสร้างความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆ มากมาย อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัล ความมั่นคงทางไซเบอร์ เศรษฐกิจ การค้าและนวัตกรรมทางเทคโนโลยี เป็นต้น โดยไต้หวันและสหภาพยุโรป (EU) ก็มีแนวทางในการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือเชิงลึกหลากหลายรูปแบบเช่นเดียวกัน
Mr. Marko เผยว่า ในวันที่ 23 สิงหาคม 1989 ชาวเอสโตเนีย ลัตเวียและลิทัวเนีย จำนวนนับ 2 ล้านคน ได้ร่วมกันจับมือเรียงเป็นแถวยาวที่เรียกว่า “เส้นทางแห่งทะเลบอลติก” โดยทุกคนมีความมุ่งมั่นที่จะใช้สันติวิธี ในการต่อต้านการรุกรานและการเข้าครอบครองดินแดนของกลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยม ส่งผลให้ลัทธิจักรรวรรดินิยมล่มสลายไปในที่สุด แต่ถึงกระนั้น การมุ่งแสวงหาเสรีภาพของพวกเขา ก็มิได้หยุดลงเพียงเท่านี้
Mr. Marko กล่าวว่า เราได้รับบทเรียนจากเหตุโศกนาฏกรรมเมื่อครั้งในอดีต กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจึงไม่ควรที่จะต่อสู้เพียงลำพัง นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมพวกเราจึงได้จัดตั้งชุมชนประชาธิปไตยที่เข้มแข็งตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ควบคู่ไปกับการจัดตั้งความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่เปี่ยมด้วยเสถียรภาพ ทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะปกป้องค่านิยมด้านเสรีภาพให้คงอยู่ต่อไป
ต่อกรณีที่รัสเซียเข้ารุกรานยูเครนอย่างป่าเถื่อน Mr. Marko กล่าวว่า ด้วยแรงสนับสนุนจากการประสานความร่วมมืออย่างสามัคคีของกลุ่มประเทศบอลติก 3 ประเทศ จนถึงขณะนี้ ทั้ง 3 ประเทศต่างร่วมบริจาคเงินช่วยเหลือที่คิดเป็นอัตราส่วน 1% ของ GDP ในประเทศของตน เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังแก่ยูเครน โดยหวังที่จะเห็นกลุ่มวีรชนผู้กล้าคว้าชัยชนะมาครองในที่สุด เนื่องจากบรรดาประชาชนชาวยูเครนที่ร่วมปกป้องประเทศชาติอย่างกล้าหาญ นอกจากพวกเขาจะสู้เพื่อประเทศชาติของตนแล้ว ก็ยังร่วมสู้เพื่อปกป้องรักษาเสรีภาพและความสงบเรียบร้อยของโลกด้วยเช่นกัน
Mr. Marko กล่าวอีกว่า กลุ่มประเทศบอลติก 3 ประเทศและไต้หวัน ต่างเป็นประภาคารแห่งประชาธิปไตยในภูมิภาคที่ตั้งอยู่ และต่างก็ต้องเผชิญกับกลุ่มลัทธิอำนาจนิยมที่มีอิทธิพลแกร่งกล้า ซึ่งทวีความรุนแรงในการเข้ารุกรานมากขึ้นทุกที พวกเราตระหนักดีถึงความท้าทายในการธำรงรักษาเสรีภาพ แต่พวกเราจะเผชิญหน้าด้วยความกล้าหาญ อันถือเป็นวัตถุประสงค์ในการเดินทางเยือนไต้หวันของคณะตัวแทน ภายใต้สถานการณ์ที่เต็มไปด้วยความผกผันเช่นนี้