ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 23 ส.ค. 66
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 23 ส.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ “คณะตัวแทนสมาคมสมาชิกรัฐสภาไต้หวัน - สวีเดน” (Swedish - Taiwanese Parliamentarian Association, STPA) โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลและบรรดาสมาชิกรัฐสภาสวีเดน สำหรับการสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นเสมอมา โดยหวังว่าทั้งสองประเทศจะเร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างกันเชิงลึก ในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงในระบบห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น พร้อมทั้งคาดหวังที่จะเห็นเหล่าสมาชิกคณะให้การสนับสนุนการลงนาม “ความตกลงด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน - EU” นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังระบุว่า ไต้หวัน – สวีเดนต่างเป็นหุ้นส่วนที่ยึดมั่นในค่านิยมด้านประชาธิปไตยและเสรีภาพ เชื่อว่าจะสามารถประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในประชาคมโลก เพื่อผนึกกำลังของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า เหล่าสมาชิกสภาต่างให้ความสำคัญต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันเป็นอย่างมาก นอกจากรัฐสภาสวีเดนจะยื่นเสนอข้อซักถามและญัตติที่เป็นมิตรต่อไต้หวันแล้ว ยังได้ร่วมลงนามให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ โดย Mr. Joar Forssell สมาชิกสภาของพรรคเสรีนิยม (Liberals Sweden) ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกคณะ ก็ได้ให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศภายใต้สหประชาชาติ อย่าง “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ผ่านนโยบายหลักของพรรค
ปธน.ไช่ฯ แถลงเพิ่มเติมว่า “สมาคมสมาชิกรัฐสภาไต้หวัน - สวีเดน” ได้มีการประกาศแถลงการณ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน โดย Mr. Ulf Kristersson นายกรัฐมนตรีสวีเดน ก็ได้จับตาให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ความมั่นคงในช่องแคบไต้หวัน พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความคาดหวังในการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกกับไต้หวัน ในระหว่างการเข้าร่วม “การประชุมสัมมนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นจีนในกรุงสต็อกโฮล์ม” ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
ในด้านเศรษฐกิจการค้า ระหว่างไต้หวัน – สวีเดนของเมื่อปีที่แล้ว มูลค่าทางการค้าแบบทวิภาคีสูงแตะ 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 12.6 โดยหวังว่า สมาชิกตัวแทนจะร่วมให้การสนับสนุนการลงนาม “ความตกลงด้านการลงทุน (BIA) ระหว่างไต้หวัน - EU” ซึ่งนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างการลงทุนแบบทวิภาคีแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของกลุ่มผู้ประกอบการไต้หวัน – ยุโรปอีกด้วย
ในลำดับต่อมา เป็นการกล่าวปราศรัยของ Mr. Mathias Tegnér หัวหน้าคณะและรองประธานสมาคม STPA โดย Mr. Mathias ในฐานะตัวแทนคณะขอแสดงความขอบคุณรัฐบาลไต้หวันและปธน.ไช่ฯ สำหรับการต้อนรับอย่างอบอุ่นในครั้งนี้ ด้วยใจจริง
Mr. Mathias กล่าวว่า การเดินทางมาเยือนและสัมผัสไต้หวันด้วยตนเอง ถือเป็นเกียรติยศของพวกเราชาวคณะ เนื่องจากไต้หวันอุดมไปด้วยความหลากหลายทางธรรมชาติ ตั้งแต่การพัฒนาที่เปี่ยมด้วยความเจริญรุ่งเรืองในกรุงไทเป ป่าเขาลำเนาไพรที่เขียวชอุ่ม ไปจนถึงผืนนาที่อุดมสมบูรณ์ในพื้นที่อี๋หลาน ต่างก็ทำให้พวกเราสัมผัสถึงการเป็นสถานที่ที่เปี่ยมด้วยไมตรีจิต โดยเฉพาะเสรีภาพของไต้หวัน ความใจกว้างและความมุมานะของประชาชนชาวไต้หวัน ต่างเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่เชื่อมโยงกับค่านิยมของไต้หวัน อย่างเสรีภาพ การเปิดกว้างและการพัฒนาไปสู่จุดมุ่งหมายอย่างกระตือรือร้น
Mr. Mathias กล่าวว่า สวีเดน – ไต้หวันต่างยึดมั่นในค่านิยมร่วมกันมากมาย ในวันที่เดินทางมาถึงไต้หวัน หนึ่งในสมาชิกตัวแทนพูดขึ้นมาว่า การเดินทางมาถึงกรุงไทเป ให้ความรู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน มิใช่เป็นเพราะเราเคยเดินทางมาที่นี่ แต่เนื่องจากพวกเราล้วนยึดมั่นในค่านิยมด้านเสรีภาพและการเปิดกว้าง และยังร่วมธำรงรักษาการค้าเสรีและสิทธิมนุษยชน
Mr. Mathias กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า สวีเดน – ไต้หวันต่างให้ความสำคัญกับสันติภาพ ความร่วมมือและความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล ทั้งสองประเทศต่างมีระบอบประชาธิปไตยที่ครอบคลุมสมบูรณ์ เป็นประเทศขนาดเล็กที่มีเนื้อที่ไม่มาก รักเสรีภาพ และอาศัยการส่งออกเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นว่า หากทั้งสองประเทศประสานความร่วมมือกันในเชิงลึก มุ่งส่งเสริมการค้า ก็จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย
Mr. Mathias กล่าวว่า หลายปีมานี้ ปริมาณการค้ามีการเติบโตขึ้น ประกอบกับการแลกเปลี่ยนก็เป็นไปอย่างใกล้ชิด นอกจากสินค้าในภาคอุตสาหกรรมเรือเดินทะเล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) การบริการในรูปแบบต่างๆ การแพทย์และเภสัช วิทยาศาสตร์ชีวิต สินค้าเทคโนโลยีขั้นสูงแล้ว หรือแม้แต่โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา พวกเราทั้งสองฝ่ายต่างก็คาดหวังที่จะมุ่งเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนให้เป็นไปในเชิงลึก Mr. Mathias เห็นว่า หากทั้งสองประเทศเปิดเส้นทางบินตรงระหว่างกัน จะสามารถกระตุ้นการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่เพิ่มพูนมากขึ้นได้
Mr. Mathias เผยว่า เมื่อช่วงที่ผ่านมา รัฐสภาสวีเดนได้กระตุ้นให้รัฐบาลจัดตั้ง “สภาสวีเดน” (House of Sweden) ขึ้นในกรุงไทเป เพื่อเสริมสร้างการแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศในเชิงลึก ซึ่งญัตติดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากหลายพรรคการเมือง และแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า สวีเดนคาดหวังที่จะยกระดับการมองเห็นของประเทศตนในไต้หวัน
Mr. Mathias แถลงว่า จากการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ คณะตัวแทนต่างก็ตระหนักนถึงประเด็นพลังงานสีเขียว เทคโนโลยีสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว โดยทั้งสองประเทศต่างมีจุดเด่นที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกันได้ Mr. Mathias รู้สึกยินดีที่เห็นว่า รัฐบาลไต้หวันมุ่งมั่นส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม และแสวงหาแนวทางการเปลี่ยนผ่านของสภาพภูมิอากาศ ซึ่ง Mr. Mathias เล็งเห็นว่า การแสวงหาความเท่าเทียมมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านของสภาพภูมิอากาศที่เป็นไปอย่างยุติธรรม
Mr. Mathias ระบุอีกว่า มาตรการรับมือกับโรคระบาดในช่วงสถานการณ์โรคโควิด – 19 ของไต้หวัน ก้าวสู่การเป็นต้นแบบที่ดีที่สุดของประชาคมโลก ในขณะที่หลายประเทศประกาศใช้มาตรการป้องกันประเทศอย่างแน่นหนา แต่ไต้หวันกลับสวมบทบาทการเป็นประเทศส่งออกเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่สำคัญในระดับสากล ด้วยเหตุนี้ Mr. Mathias จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดไต้หวันจึงถูกกีดกันมิให้เข้าร่วมในองค์การอนามัยโลกและการประชุมสมัชชาอนามัยโลก (WHA) ในฐานะผู้สังเกตการณ์
Mr. Mathias กล่าวว่า การเดินทางเยือนในครั้งนี้ ทำให้ข้าพเจ้าเกิดความประทับใจต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไต้หวันที่ประสบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ประกอบกับสังคมพลเมืองของไต้หวันมีความแข็งแกร่ง และอำนาจรัฐธรรมนูญที่ได้รับการปกป้องจากกลไกตุลาการที่ดี เมื่อมองย้อนกลับมาที่สวีเดน ที่ก้าวผ่านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่กระบวนการทางประชาธิปไตย ต้องใช้เวลานานหลายศตวรรษ แต่ไต้หวันกลับใช้เวลาเพียง 10 ปีในกระบวนการเปลี่ยนรูปแบบการปกครอง และมีการพัฒนาไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องในด้านเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น ความโปร่งใสและค่านิยมที่หลากหลาย ส่งผลให้ประชาธิปไตยของไต้หวันมีความเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ก้าวสู่การเป็นประภาคารแห่งความหวังบนโลกเสรีภาพที่เริ่มจะเลือนลาง ตลอดจนเป็นต้นแบบที่ดีของประชาคมโลก