ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและวิชาการ ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค ปี 2023 มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นว่าด้วยการยอมรับบุคลากรทางดิจิทัลซึ่งกันและกัน และการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างยั่งยืน
2023-09-01
New Southbound Policy。การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและวิชาการ ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค ปี 2023 มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นว่าด้วยการยอมรับบุคลากรทางดิจิทัลซึ่งกันและกัน และการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างยั่งยืน (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)
การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยต้นแบบความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและวิชาการ ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค ปี 2023 มุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นว่าด้วยการยอมรับบุคลากรทางดิจิทัลซึ่งกันและกัน และการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างยั่งยืน (ภาพจากกระทรวงศึกษาธิการ)

กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 31 ส.ค. 66
 
เพื่อขานรับต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความร่วมมือด้านการศึกษาในภูมิภาค ที่กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) (Asia-Pacific Economic Cooperation, APEC) ให้ความสำคัญมาอย่างยาวนาน กระทรวงศึกษาธิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้จัด “การประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยต้นแบบความร่วมมือ ระหว่างภาคอุตสาหกรรมและวิชาการ ภายใต้กรอบความร่วมมือเอเปค ปี 2023” ในช่วงระหว่างวันที่ 31 ส.ค. – 1 ก.ย. นี้ โดยได้เชิญตัวแทนเจ้าหน้าที่จำนวน 21 คนจาก 11 เขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปค และตัวแทนสถาบันระดับอุดมศึกษาในประเทศ จำนวน 102 คน เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อร่วมแบ่งปันประสบการณ์การบ่มเพาะบุคลากรในสถาบันอาชีวศึกษา ที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในชีวิตจริงได้อย่างเป็นรูปธรรม และค่านิยมว่าด้วยการลดระดับความเหลื่อมล้ำทางทักษะวิชาชีพ พร้อมทั้งชี้แจงรูปแบบการบ่มเพาะบุคลากรทางความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและวิชาการ ในสถาบันอาชีวศึกษาภายในประเทศ เพื่อขยายขอบเขตการอุทิศคุณประโยชน์ด้านการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในระดับภูมิภาค และการพัฒนาเทคโนโลยี AI อย่างยั่งยืน
 
นายหลิวม่งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการไต้หวัน กล่าวว่า จากการที่เทคโนโลยีดิจิทัลได้ถูกผสมผสานเข้าสู่วิถีชีวิตผู้คนในทุกแง่มุม และแผ่ขยายกิ่งก้านสาขาไปสู่มิติที่ยังไม่เป็นที่กระจ่างแจ้ง อุปสงค์และความท้าทายรูปแบบใหม่ ต่างก็ส่งผลกระตุ้นให้เขตเศรษฐกิจเอเปคทุกประเทศ ต่างหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI รูปแบบใหม่ ในการส่งเสริมการบ่มเพาะบุคลากรที่เปี่ยมด้วยศักยภาพทางการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ วัตถุประสงค์ของการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ จึงมุ่งเน้นการอภิปรายในประเด็นความต้องการด้านบุคลากรดิจิทัลในเขตเศรษฐกิจเอเปคและพื้นที่ต่างๆ รวมไปถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนผ่าน และผลักดันการพัฒนาบุคลากรที่ยึดมั่นในหลักการที่ยอมรับซึ่งกันและกัน
 
การประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ สมาชิกทุกฝ่ายต่างร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็น “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในด้านการศึกษา” “การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืนและการบ่มเพาะบุคลากร” และ “การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ด้วยเทคโนโลยี AI” นอกจากนี้ ยังมีการร่วมแบ่งปันกรณีตัวอย่างที่เป็นต้นแบบของการประสานความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมและวิชาการในประเทศ อาทิ หลักสูตรร่วมว่าด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและหุ่นยนต์อัจฉริยะของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลงหัว (LHU) การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI ในเชิงอุตสาหกรรมและวิชาการของมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผิงตง (NPUST) รวมไปถึงการบ่มเพาะบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และ AI ในสถาบันการศึกษาขั้นสูงของมาเลเซีย ตลอดจนส่งเสริมให้ตัวแทนของนานาประเทศ และหน่วยงานภาครัฐ ตัวแทนผู้ประกอบการและหน่วยงานวิชาการ ในเขตเศรษฐกิจต่างๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน โดยในวันถัดไปของกิจกรรมก็จะจัดให้เข้าเยี่ยมชมห้องทดลองเชิงเทคโนโลยีในตัวเมือง (City Science Lab) ที่ร่วมจัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทเป (Taipei Tech) และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ความแม่นยำสูง และผลสัมฤทธิ์ด้านการวิจัยพัฒนาและบูรณาการซอฟต์แวร์ด้าน AI แบบข้ามแวดวง