ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 7 ก.ย. 66
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมโรงพยาบาล Mbabane Government Hospital (MGH) พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า โครงการบูรณะก่อสร้างสถานพยาบาลแห่งนี้ นอกจากจะเป็นผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – เอสวาตินีแล้ว ยังเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างสองประเทศ โดยหวังว่า ทั้งสองประเทศจะมุ่งสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชน ผ่านการประสานความร่วมมือทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ประชาคมโลกได้รับรู้ถึงสิ่งดีๆ ที่ประเทศพันธมิตรได้รับจากไต้หวัน รวมถึงความมุ่งมั่นของไต้หวันที่พร้อมสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลก ตามหลักการ “ไต้หวันช่วยได้” (Taiwan can help)
ปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไทเป (Taipei Medical University Hospital, TMUH) ได้เล็งเห็นว่าเอสวาตินีขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง จึงจัดส่งแพทย์เฉพาะทางหลายสาขามาประจำการในพื้นที่เป็นประจำทุกปี เพื่อช่วยรักษาคนไข้ที่ได้รับความทุกข์ยากเนื่องจากความเจ็บป่วย เช่น ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคปากแหว่งเพดานโหว่ ได้รับการชุบชีวิตใหม่ให้กลายเป็นเด็กที่สดใสเหมือนคนอื่นๆ หลังจากที่เข้ารับการผ่าตัดรักษาจากศัลยแพทย์ของรพ.TMUH
Ms. Lizzie Nkosi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการของเอสวาตินี ได้ใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อเจ้าหน้าที่กองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (Taiwan ICDF) และรพ. TMUH ที่ให้ความสนับสนุนทางการแพทย์และสาธารณสุขในเอสวาตินี โดยกระทรวงสาธารณสุขเอสวาตินีและคณะผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีของไต้หวันที่ประจำการในพื้นที่ ได้สานสัมพันธ์ทางความร่วมมือมาเป็นระยะเวลานาน หลายปีมานี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมผลักดันโครงการความร่วมมือด้านการดูแลสตรีมีครรภ์และคุณแม่หลังการคลอด พร้อมทั้งให้การสนับสนุนกลไกการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพโดยถ้วนหน้า ซึ่งเป็นเป้าหมายของเอสวาตินี โดยในอนาคต ทั้งสองหน่วยงานจะมุ่งสร้างความร่วมมือด้านระบบเวชระเบียนทางการแพทย์และกลไกการรักษาโรคเรื้อรัง อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
รมว. Nkosi แสดงความขอบคุณต่อไต้หวัน สำหรับการส่งมอบความช่วยเหลือ ท่ามกลางสถานการณ์โรคโควิด – 19 โดยเอสวาตินีจะให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การอนามัยโลก (WHO) บนเวทีนานาชาติอย่างเต็มที่ต่อไป รมว. Nkosi ยังเห็นว่า ไต้หวันเพียบพร้อมด้วยประสบการณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุขอันสมบูรณ์และมีคุณภาพยอดเยี่ยม การที่ไต้หวันไม่สามารถเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ ถือเป็นเรื่องที่ขัดต่อหลักการทุกประการอย่างไม่เหมาะสม โดยรัฐบาลเอสวาตินียินดีให้ความช่วยเหลือไต้หวันในการปกป้องสิทธิที่ไต้หวันพึงได้รับ เชื่อว่า ไต้หวันจะสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ประชาคมโลกได้อย่างแน่นอน
ในช่วงเช้าของวันที่ 7 ก.ย. ตามเวลาท้องถิ่นในเอสวาตินี ปธน.ไช่ฯ ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงน้ำชาร่วมกับกลุ่มผู้สื่อข่าวที่ติดตามการเดินทางเยือนเอสวาตินีในครั้งนี้ ณ โรงแรมที่พัก เพื่อชี้แจงผลสัมฤทธิ์ของการเดินทางตามแผน “ร่วมฉลองมิตรภาพและส่งเสริมความร่วมมือที่ยั่งยืน” พร้อมทั้งตอบข้อซักถามจากสื่อ เกี่ยวกับประเด็นความสัมพันธ์ทางการทูต โครงการแอฟริกา สถานการณ์ในภูมิภาคและการเมืองภายในประเทศ เป็นต้น
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ในการเดินทางเยือนเอสวาตินีครั้งนี้ ตนสังเกตเห็นการพัฒนาในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 6 ก.ย. ปธน.ไช่ฯ ได้เข้าเยี่ยมชมแผนกผู้ป่วยนอกและอาคารศูนย์การแพทย์ฉุกเฉินของรพ. MGH ซึ่งนับเป็นผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือระหว่างสองประเทศที่ร่วมบูรณะฟื้นฟูอาคารที่มีประวัติศาสตร์นับร้อยปีแห่งนี้ ให้กลายเป็นสถานพยาบาลที่มีความทันสมัย โดยไต้หวันได้จัดส่งบุคลากรทางการแพทย์เข้าประจำการในสถานพยาบาลแห่งนี้ เพื่อให้บริการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยีของไต้หวัน ต่างก็เข้าร่วมดำเนินการผลักดันโครงการความร่วมมือทางการเกษตรในพื้นที่หลากหลายโครงการด้วยเช่นกัน
ปธน.ไช่ฯ ย้ำว่า ตลอดระยะเวลา 2 ปีมานี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงและผู้นำประเทศของประเทศพันธมิตรที่ขึ้นดำรงตำแหน่งในวาระล่าสุด ต่างทยอยเดินทางเยือนไต้หวัน โดยอารยธรรมการเปิดกว้างและเสรีภาพในไต้หวัน ประกอบกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ ล้วนแล้วแต่สร้างความประทับใจให้แก่กลุ่มประเทศพันธมิตรเป็นอย่างมาก
ต่อกรณีที่สื่อซักถามว่า ปธน.ไช่ฯ รู้สึกเป็นกังวลต่อการที่จีนจะแผ่ขยายอิทธิพลต่อประเทศพันธมิตรของไต้หวันหรือไม่ และปธน.ไช่ฯ จะมีโอกาสเดินทางเยือนกลุ่มประเทศทวีปยุโรปหรือไม่นั้น ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ประเทศพันธมิตรที่ยังคงรักษาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันในปัจจุบัน ล้วนให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างหนักแน่นและมีเสถียรภาพ โดยเฉพาะเอสวาตินี
หลายปีมานี้ ไต้หวันได้รับความสนใจจากประชาคมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ และพลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลก ก็เพิ่มมากขึ้นเป็นอย่างมาก ประกอบกับนานาประเทศทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันในการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นอกจากนี้ ไต้หวันยังได้รับการยอมรับจากประชาคมโลกว่าเป็นหุ้นส่วนที่สามารถพึ่งพาและไว้วางใจได้ นอกจากพลังแห่งความดีของไต้หวันจะได้รับการยอมรับจากเหล่านักการเมืองในหลายพื้นที่ทั่วโลกแล้ว ยังเป็นที่ประทับใจของประชาชนทั่วโลกอีกด้วย สิ่งเหล่านี้เกิดจากความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกคน สำหรับคำถามที่ว่า ในวาระการดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศของปธน.ไช่ฯ นั้น ยังมีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศใดอีกหรือไม่นั้น ปธน.ไช่ฯ เห็นว่า หากมีความจำเป็น และเป็นไปในทิศทางที่ดีต่อการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองในไต้หวัน และมีโอกาสที่ดีก็จะไป แต่ไม่ดึงดันที่จะไปโดยไม่มีสาเหตุ
สื่อยังซักถามถึงประเด็นที่ว่า ปธน.ไช่ฯ มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปคประจำปีนี้ด้วยตนเอง เพื่อก้าวข้ามกรอบจำกัดการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศของไต้หวันหรือไม่ ปธน.ไช่ฯ ตอบว่า ผู้นำไต้หวันทุกสมัยต่างก็ต้องการที่จะก้าวข้ามกรอบจำกัดนี้ ที่ถูกกำหนดขึ้นนับตั้งแต่ที่มีการจัดตั้งกรอบเอเปคเป็นต้นมา โดยพวกเราจะยังคงมุ่งมั่นบรรลุภารกิจนี้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความท้าทายมากสักเพียงใด โดยในปีนี้ก็จะปฏิบัติตามธรรมเนียมเดิมที่มีมา ด้วยการมอบหมายให้ตัวแทนผู้นำประเทศเข้าร่วม และจะรายงานให้ประชาชนร่วมรับทราบ หลังจากที่การจัดเตรียมมีความลงตัวมากขึ้น
ปธน.ไช่ฯ ยังชี้ว่า ในทวีปแอฟริกา นอกจากเอสวาตินีแล้ว ไต้หวันยังได้จัดตั้งสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลขึ้นในหลายประเทศ ซึ่งการเดินทางเยือนเอสวาตินีในครั้งนี้ มีสมาชิกสภาจากพรรคฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจำนวน 80 คนจาก 11 ประเทศในทวีปแอฟริกา ประกาศแถลงการณ์ร่วมเพื่อให้การต้อนรับปธน.ไช่ฯ อันเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เกิดจากความมุ่งมั่นของไต้หวัน ในการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่นานาประเทศ ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
ปธน.ไช่ฯ เผยอีกว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 (H.M. King Mswati Ⅲ) ทรงกล่าวระหว่างการมีปฏิสันถารกับปธน.ไช่ฯ ว่า นักการเมืองสำคัญของหลายประเทศในทวีปแอฟริกา ต่างก็สอบถามและแสดงห่วงใยต่อของไต้หวันผ่านสมเด็จฯ จึงเห็นได้ว่า มีหลายประเทศในแอฟริกาที่รู้สึกสนใจต่อประเด็นที่เกี่ยวกับไต้หวันและเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ในไต้หวันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งพวกเราชาวไต้หวันรู้สึกยินดีที่จะสร้างปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเหล่านั้น เพื่อสร้างความเข้าใจอันดีที่มีต่อไต้หวันให้พวกเขาได้ประจักษ์ พร้อมทั้งจะแสวงหาโอกาสความร่วมมือที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์อย่างเป็นรูปธรรมร่วมกันสืบต่อไป
ต่อกรณีที่สื่อซักถามว่า การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ G20 ที่มีกำหนดการจัดขึ้นในอินเดียช่วงเดือนกันยายนปีนี้ ปธน.ไช่ฯ คิดเห็นว่า จะเป็นเหมือนการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) ที่มีการกำหนดให้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน บรรจุเข้าสู่ประเด็นการอภิปรายที่สำคัญหรือไม่ และนี่เป็นความคาดหวังที่ปธน.ไช่ฯ ต้องการถ่ายทอดสู่ประชาคมโลกเสมอมา ใช่หรือไม่ พรรครัฐบาลใช้แนวทางใดในการหว่านล้อมประชาชนให้ยอมรับต่อแนวคิดนี้ ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ การประชุม G20 ยังอยู่ระหว่างการเตรียมการ จึงไม่สามารถพูดถึงรายละเอียดใดๆ ได้ อย่างไรก็ตาม หลายปีมานี้ ประเด็นสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน ได้รับการจับตามองจากประชาคมโลกอย่างใกล้ชิด ถือเป็นการก้าวเข้าสู่การเป็นประเด็นอภิปรายในระดับภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก จากเดิมที่เป็นประเด็นระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นประเด็นสำคัญในระดับนานาชาติอีกด้วย
หลายปีมานี้ ไต้หวันได้รับความสนใจและมีสำคัญเพิ่มมากขึ้นในมิติต่างๆ ดังนี้ :
ประการที่ 1 บทบาททางยุทธศาสตร์เชิงภูมิรัฐศาสตร์ของไต้หวัน นับวันยิ่งมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกในภาพรวมที่มีความผกผันเป็นอย่างมาก
ประการที่ 2 ไต้หวันมีบทบาทสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานนานาชาติ หากไต้หวันเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ก็จะส่งผลต่อเสถียรภาพในระบบห่วงโซ่อุปทานของโลก
ประการที่ 3 ผลสัมฤทธิ์ด้านประชาธิปไตยของไต้หวัน ได้ก้าวสู่การเป็นต้นแบบการพัฒนาประชาธิปไตยทั่วโลก และการที่ประชาชนชาวไต้หวัน ร่วมแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ ทำให้ประชาคมโลกได้ประจักษ์ถึงความสำคัญในการร่วมธำรงรักษาประชาธิปไตยด้วยความสามัคคี
ปธน.ไช่ฯ ชี้ด้วยว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีมานี้ หลักการการบริหารประเทศของพวกเรา ก็คือการพัฒนาอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งประชาคมโลกได้เห็นแล้วว่า เรามีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุคำมั่น ควบคู่ไปกับการธำรงรักษาสถานภาพเดิมในปัจจุบัน จนยกย่องให้พวกเราเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้ เนื่องด้วยบทบาทที่สำคัญของไต้หวันในระบบห่วงโซ่อุปทานและบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ ทำให้ความมั่นคงของไต้หวันกลายเป็นสิ่งสำคัญของประชาคมโลก ด้วยเหตุนี้ การปกป้องประชาธิปไตยของไต้หวัน จึงเปรียบเสมือนการธำรงรักษาค่านิยมด้านประชาธิปไตยระดับโลก
หลายปีมานี้ จีนได้แผ่ขยายอิทธิพลเข้าสู่กลุ่มประเทศทวีปแอฟริกาอย่างเต็มที่ สื่อมวลชนจึงเกิดข้อสงสัยว่า ไต้หวันมีแนวทางใดในการสร้างความสัมพันธ์ในเชิงลึกกับกลุ่มประเทศแอฟริกา ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า สมเด็จพระราชาธิบดีอึมสวาตีที่ 3 ทรงบอกกับปธน.ไช่ฯ ว่า มีนักการเมืองหลายท่านในกลุ่มประเทศแอฟริกาที่ให้ความสนใจเรื่องราวที่เกี่ยวกับไต้หวันในเชิงลึก โดยในระหว่างที่พำนักอยู่ในเอสวาตินี ปธน.ไช่ฯ ได้มีโอกาสพูดคุยหารือกับนักการเมืองจากประเทศต่างๆ ในแอฟริกา ซึ่งทุกคนล้วนแล้วแต่ให้ความสนใจกันโดยถ้วนหน้า แม้ว่าอิทธิพลจากจีนจะยังคงครอบคลุมในพื้นที่แอฟริกาส่วนมาก แต่กลุ่มประเทศเป้าหมายก็ต้องการที่จะมองหาตัวเลือกอื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และต้องการเปิดพื้นที่ให้แก่ไต้หวันในการสานความสัมพันธ์ทางการทูต ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงมุ่งมั่นที่จะเจรจา และแสวงหาโอกาสความร่วมมือ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับกลุ่มประเทศเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
หลังเสร็จสิ้นการตอบข้อซักถามของสื่อมวลชน ปธน.ไช่ฯ จึงได้เดินทางเข้าเฝ้า H.M. Queen Mother Ntombi Tfwala สมเด็จพระบรมราชชนนี พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมชมนิทรรศการผลสัมฤทธิ์ภายใต้โครงการการเสริมสร้างศักยภาพกลุ่มสตรี ด้วยการจัดตั้งกองทุนสินเชื่อขนาดย่อม (micro credit) โดยกองทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของไต้หวัน (Taiwan ICDF) นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี โดยปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ทุกคนที่มุ่งมั่นในโครงการความร่วมมือระหว่างสองประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างรากฐานความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศ โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังที่จะเห็นเยาวชนรุ่นใหม่เข้าร่วมในภารกิจทางการทูตในอนาคตอย่างต่อเนื่อง
ปธน.ไช่ฯ ยังกล่าวอีกว่า จากนิทรรศการผลสัมฤทธิ์ทำให้เราได้ประจักษ์ว่า ภายใต้ความมุ่งมั่นพยายามของคณะผู้เชี่ยวชาญทางเทคโนโลยี ส่งผลให้กลุ่มสตรีในพื้นที่ชนบทจำนวนมากได้เข้ารับการฝึกอบรม จนมีศักยภาพในการประกอบอาชีพด้วยตนเอง ในการเดินทางเยือนเอสวาตินีครั้งนี้ กำหนดการแรกของพวกเราคือ การร่วมเป็นสักขีพยานในโครงการความร่วมมือระหว่างสองประเทศ โดยพวกเรายังร่วมประกาศจะจัดตั้งกองทุนหมุนเวียน เพื่อกระตุ้นความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - เอสวาตินีด้วย
นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณต่อบุคลากรทางการแพทย์ประจำการในพื้นที่ ซึ่งได้ร่วมปกป้องรักษาสุขภาพของประชาชนในกลุ่มประเทศพันธมิตร หลังจากที่รพ. MGH เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา พวกเราสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งทุกคนล้วนได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมและเท่าเทียม