สำนักข่าว Liberty Times วันที่ 16 ก.ย. 66
เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่บรรดามิตรประเทศในการพัฒนาประเทศด้วยแผนโซลูชันเมืองอัจฉริยะ (Smart City) เมื่อวันที่ 9 ก.ย. ที่ผ่านมา นายกงหมิงซิน ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติไต้หวัน (NDC) จึงได้นำคณะตัวแทนจากภาคอุตสาหกรรมและหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 50 คน เดินทางเยือนประเทศไทย พร้อมทั้งได้เชิญชวนนายหลินเจียหลง เลขาธิการทำเนียบประธานาธิบดี เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะด้วย ซึ่งนอกจากจะแสดงให้เห็นถึงประสบการณ์และศักยภาพการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ ที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้ประกอบการชาวไทยแล้ว ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมจัดตั้งแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนระหว่างกันในระยะยาว เชื่อว่าจะสามารถส่งเสริมให้เหล่าผู้ประกอบการไต้หวัน ขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างราบรื่นต่อไป
ในระหว่างการเยือนครั้งนี้ นายกงฯ กล่าวบ่อยครั้งว่า ที่ผ่านมาไต้หวันประสบความสำเร็จในการผลักดันแผนโซลูชันด้านต่างๆ มากมายกว่า 250 รายการ อาทิ การคมนาคมอัจฉริยะ การดูแลสุขภาพอัจฉริยะ การผลิตและการเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น โดยในจำนวนนี้ มีแผนโซลูชันจำนวน 88 รายการ ที่ถูกส่งออกไปยังต่างประเทศแล้ว โดยไต้หวัน - ไทย สามารถยึดหลักแนวคิดการเอื้อประโยชน์แบบทวิภาคี เร่งพัฒนารูปแบบความร่วมมือแบบวิน-วิน ด้วยการบูรณาการข้อได้เปรียบระหว่างกัน ควบคู่ไปกับการซึมซับประสบการณ์และแผนโซลูชันที่ประสบความสำเร็จของอีกฝ่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น
นายหลินฯ กล่าวว่า ไต้หวัน - ไทย ในภาษาอังกฤษ ต่างก็มีคำว่า “TAI” ประกอบอยู่พวกเราจึงหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายผูกสัมพันธ์ (Tie) เข้าไว้ด้วยกัน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความร่วมมือทางอุตสาหกรรมเทคโนโลยี AI โดยนายหลินฯ หวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายเปิดศักราชแห่งความร่วมมือในเชิงลึก ภายใต้มุมมองเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อแผ่ขยายขอบเขตจากนโยบายมุ่งใต้ใหม่ไปสู่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก หรือแม้กระทั่งสร้างสรรค์รูปแบบการเอื้อประโยชน์แบบวิน-วินในตลาดโลกร่วมกัน
NDC แถลงว่า ในการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ คณะตัวแทนไต้หวันและเหล่าผู้ประกอบการไทย มีความตั้งใจเป็นอย่างมากที่จะประสานความร่วมมือระหว่างกัน โดยในระหว่างนี้ บริษัท DIGITIMES ของไต้หวันและบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัดของไทย ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกัน เพื่อร่วมวิจัยความเป็นไปได้ในการผลักดันเมืองอัจฉริยะของไต้หวันในประเทศไทย
กรุงเทพฯ เป็นเมืองหลวงและเป็นพื้นที่สำคัญในการผลักดันเมืองอัจฉริยะของไทย โดยในระหว่างนี้ นายกงฯ และนายหลินฯ ยังได้ร่วมหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในประเด็นเมืองอัจฉริยะแบบทวิภาคี โดยนายกงฯ ได้เชื้อเชิญให้นายชัชชาติฯ นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวันในปี 2024 เพื่อเข้าร่วมนิทรรศการเมืองอัจฉริยะที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ที่ร่วมจัดขึ้นโดย NDC และสมาคมคอมพิวเตอร์กรุงไทเป ทั้งนี้ เพื่อเข้าเยี่ยมชมแผนโซลูชันเมืองอัจฉริยะกว่า 2,000 รายการที่รวบรวมมาจากทั่วโลก นอกจากนี้ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ไต้หวันยังมีกำหนดการจัดนิทรรศการเมืองอัจฉริยะ ที่มุ่งเน้นไปที่หลักการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ด้วย
เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการเมืองอัจฉริยะและเทคโนโลยี 5G ของไต้หวัน รุกขยายตลาดไทย ในครั้งนี้ คณะตัวแทนแลกเปลี่ยนยังได้เข้าพบปะหารือกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ของไทย เพื่อทำความเข้าใจกับมาตรการนโยบาย “โครงสร้างยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน 5 ปี” พร้อมระบุว่า ผู้ประกอบการ 5G ของไต้หวันเพรียบพร้อมด้วยประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องมากมาย การสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือแบบทวิภาคีในเชิงลึก จะสามารถช่วยส่งเสริมการจัดตั้งโมเดลเมืองอัจฉริยะและศูนย์สาธิตในนิคมอุตสาหกรรมให้แก่ฝ่ายไทย โดยในระหว่างการประชุม ยังมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นความต้องการของผู้ประกอบการไต้หวัน ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ประเทศเป้าหมายด้วย
นอกจากนี้ คณะตัวแทนไต้หวันยังได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรม ระหว่างไต้หวัน - ไทย ปี 2023 ที่จัดขึ้นโดยสมาคมอุตสาหกรรมแห่งไต้หวัน และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาล เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ระหว่างภาคอุตสาหกรรมของไต้หวัน - ไทย รวม 7 ฉบับ โดยในจำนวนนี้ มี 3 ฉบับที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเมืองอัจฉริยะ อาทิ ความร่วมมือด้านการแพทย์อัจฉริยะและการให้บริการทางการแพทย์จากระยะไกล (Telemedicine) ในประเทศไทย ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างบริษัทจงหัว เทเลคอม สำนักงานในประเทศไทย โรงพยาบาลคริสเตียนจางฮั่วและโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค (Overbrook Hospital) ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย อีกทั้งยังมีความร่วมมือด้านโรงงานอัจฉริยะในรูปแบบคลาวด์ ที่ร่วมลงนามระหว่างบริษัท WEYU Technology Co.,LTD. ของไต้หวัน และบริษัท JUMPWAY Co.,LTD. ของไทย รวมไปถึงความร่วมมือด้านการเกษตรอัจฉริยะ ที่ร่วมลงนามระหว่างบริษัท Hitspectra Intelligent Technology Co., Ltd. และบริษัทหงต้า จำกัด (Hongda Company Limited)