กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 21 ก.ย. 66
เพื่อขานรับการประชุมระดับสูงว่าด้วย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่จัดขึ้นในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 78 (UNGA 78) นายเซวียรุ่ยหยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงได้เดินทางเยือนนครนิวยอร์ก ตามการจัดเตรียมแผนการเดินทางโดยกระทรวงการต่างประเทศของไต้หวัน เพื่อเข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมว่าด้วย “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งจัดขึ้นโดยองค์การ Concordia ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐของสหรัฐฯ เพื่อชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับระบบประกันสุขภาพแห่งชาติของไต้หวันให้เป็นที่ประจักษ์แก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐของนานาประเทศ พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า ไต้หวันสามารถอุทิศคุณประโยชน์ตามบทบัญญัติในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ข้อที่ 3 ที่ระบุเกี่ยวกับ “สุขภาพและสวัสดิการ” ทั้งนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมวิสัยทัศน์ด้าน “สุขภาพดีถ้วนหน้าของประชาชน” ให้บรรลุผลสัมฤทธิ์โดยเร็ว
รมว.เซวียฯ กล่าวว่า ไต้หวันได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับ 1 ของโลกด้านดัชนีการดูแลทางการแพทย์ (Health Care Index) ติดต่อกันเป็นเวลา 8 ปีซ้อน โดยประชาชนในไต้หวันเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพอย่างครอบคลุมเต็ม 100% ประกอบกับมีหลายองค์การที่ให้บริการทางการแพทย์นอกเหนือจากภาครัฐ ประชาชนจึงสามารถเข้ารับการบริการทางการแพทย์ได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องถูกจำกัด นอกจากนี้ รมว.เซวียฯ กล่าวว่า ความท้าทายของสังคมไต้หวันในปัจจุบันคือ การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การคิดค้นยาใหม่ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ รวมถึงการแสวงหาแนวทางเพื่อทำให้ยาใหม่ อุปกรณ์การแพทย์แบบใหม่และแนวทางการรักษารูปแบบใหม่ สามารถถูกบรรจุเข้าสู่ระบบการเบิกจ่ายของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ภายใต้ระบบการให้บริการทางการแพทย์รูปแบบเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชนที่มีความต้องการ โดยที่ไม่เบียดเบียนการบริการทางการแพทย์ในส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นความท้าทายที่ดูเป็นบททดสอบอันใหญ่หลวงในปัจจุบัน
โดยสมาชิกที่เข้าร่วมการประชุม ต่างให้การยอมรับต่อระบบประกันสุขภาพของไต้หวัน ว่า สมควรยกย่องให้เป็นต้นแบบที่ประชาคมโลกควรนำไปใช้อ้างอิง พร้อมทั้งให้การชื่นชมว่า ข้อคิดที่ได้รับจากการแบ่งปันประสบการณ์ของรมว.เซวียฯ ในครั้งนี้ จะสามารถช่วยกระตุ้นให้กลุ่มประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ตระหนักถึงแผนผลักดันเข้าร่วมระบบ UN ของไต้หวัน รวมไปถึงความเหมาะสมและความเร่งด่วนในการเข้าร่วมของไต้หวันได้อย่างชัดเจนมากขึ้น