กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 22 ก.ย. 66
เมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา นายหลี่ฉุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. David Common ผู้สื่อข่าวบรรษัทกระจายเสียงแห่งแคนาดา (CBC) โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกตีพิมพ์ในหัวข้อ “ไต้หวันจะสกัดกั้นการรุกรานจากจีน องค์การรักษาความปลอดภัยฝ่ายพลเรือนพร้อมรับมือแล้ว” (Meet Taiwan's resistance. If China invades, civil defence groups stand ready) ผ่านรายการข่าวของ CBC เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางจากทุกแวดวงในสหรัฐฯ แคนาดาและประชาคมโลก
รมช.หลี่ฯ กล่าวว่า จีนได้คุกคามไต้หวันมาอย่างยาวนาน และต้องการสร้างความตื่นตระหนกให้เกิดขึ้นแก่ชาวไต้หวัน เพื่อบั่นทอนความฮึกเหิมในการปกป้องประเทศของเหล่าประชาชน และเพื่อหยุดยั้งความประสงค์ของนานาประเทศ ที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์เชิงลึกกับไต้หวัน ตลอดที่ผ่านมา จีนได้ใช้ยุทธศาสตร์สงครามในพื้นที่สีเทาต่อไต้หวัน ด้วยการจัดส่งเรือรบเข้ารุกรานไต้หวัน และทำการซ้อมรบ นอกจากนี้ ยังอาศัยการโจมตีทางไซเบอร์ และการเผยแพร่ข่าวปลอม เพื่อเป้าหมายในการบั่นทอนความมุ่งมั่นในการป้องกันประเทศของประชาชนไต้หวัน โดยไต้หวันและแคนาดาต่างก็เป็นประเทศเป้าหมายของจีน ที่ต้องการเข้าแทรกซึมทางการเมือง รมช.หลี่ฯ จึงเรียกร้องให้ทั้ง 2 ฝ่ายประสานความร่วมมือในการรับมือภัยคุกคามด้วยความสามัคคี
นอกจากนี้ รมช.หลี่ฯ กล่าวอีกว่า จีนมักสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจต่อนานาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์และลิทัวเนีย ต่างเคยประสบกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจจากจีน หลายปีมานี้ จีนประกาศใช้มาตรการระงับการนำเข้าสินค้าเกษตรของไต้หวัน อีกทั้งยังก้าวก่ายการเลือกตั้งในไต้หวันอย่างโจ่งแจ้ง อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรครองสัดส่วนตลาดเพียง 1% ของสินค้าทั้งหมดที่ไต้หวันส่งออกไปจีน จึงเห็นได้ว่าเป็นผลกระทบที่ไม่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของไต้หวัน ซึ่งขณะนี้จีนยังคงต้องพึ่งพาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ด้วยเหตุนี้จีนจึงไม่กล้าเสี่ยงที่จะนำแผ่นชิปวงจรรวมมาใช้เป็นอาวุธสงคราม มิเช่นนั้นระบบเศรษฐกิจของจีนจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
ต่อประเด็นที่เรือลาดตระเวณของแคนาดาแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน เมื่อช่วงที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันของรัฐบาลแคนาดา และการให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ความเจริญรุ่งเรืองและเสรีภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรมช.หลี่ฯ รู้สึกขอบคุณรัฐบาลแคนาดาด้วยใจจริง พร้อมนี้ รมช.หลี่ฯ ยังย้ำว่า รัฐบาลปักกิ่งมักกล่าวอ้างว่า ช่องแคบไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งในน่านน้ำทะเลของจีน ในระหว่างที่เรือลาดตระเวณของแคนาดาแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน เรือรบจีนก็ได้เฝ้าขนาบข้างโดยมีพฤติกรรมยั่วยุท้าทาย ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน รวมไปถึงความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 7 ประเทศ (G7) ต่างแสดงจุดยืนต่อต้านความทะเยอทะยานของจีนในการใช้กำลังทหารและการข่มขู่ เพื่อเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน โดยกลุ่มประเทศ G7 คาดหวังที่จะเห็นปัญหาช่องแคบไต้หวันได้รับการแก้ไขด้วยสันติวิธี ทำให้ไต้หวันรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง โดยหลังจากนี้ ไต้หวันจะแสวงหาจุดยืนการแสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันจากมิตรประเทศให้มากยิ่งขึ้น
รมช.หลี่ฯ กล่าวด้วยว่า สงครามรัสเซีย – ยูเครน สะท้อนให้เห็นว่า ความเข้มแข็งของกำลังทหารและศักยภาพทางเศรษฐกิจมิได้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเองของประชาชนชาวยูเครน รวมถึงการประสานความร่วมมือทางความมั่นคงของประเทศร่วมกับนานาประเทศ และกลไกการสกัดกั้นแบบพหุภาคี สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ถือเป็นปัจจัยสำคัญของการแพ้ - ชนะในสงคราม ซึ่งประชาชนชาวไต้หวันได้รับข้อคิดดีๆ มากมาย ทำให้ความเห็นพ้องในการป้องกันประเทศของภาคประชาชน นับวันยิ่งทวีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ประกอบกับช่วงที่ผ่านมา ไต้หวันได้จัดตั้ง “สำนักระดมพลเพื่อการป้องกันประเทศ” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินภารกิจเตรียมความพร้อมทั้งในด้านอุปกรณ์เครื่องมือ และปลุกพลังความฮึกเหิมของภาคประชาชน เนื่องจากเล็งเห็นว่า การเตรียมการรับมือกับสงคราม เป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการสกัดกั้นการรุกรานจากภายนอก โดยรมช.หลี่ฯ หวังว่า แคนาดาและกลุ่มประเทศประชาธิปไตยจะเฝ้าจับตาต่อสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันอย่างใกล้ชิด เพื่อร่วมกันสกัดกั้นการรุกรานของจีนด้วยความสามัคคีสืบไป