ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
แผนผลักดันการเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวัน ได้รับพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างท่วมท้น กต.ไต้หวันขอขอบคุณด้วยใจจริง
2023-09-28
New Southbound Policy。แผนผลักดันการเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวัน ได้รับพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างท่วมท้น กต.ไต้หวันขอขอบคุณด้วยใจจริง (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
แผนผลักดันการเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวัน ได้รับพลังเสียงสนับสนุนจากประชาคมโลกอย่างท่วมท้น กต.ไต้หวันขอขอบคุณด้วยใจจริง (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 ก.ย. 66
 
ในปี 2023 ไต้หวันยังคงมุ่งผลักดันการเข้าร่วมระบบสหประชาชาติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับพลังเสียงสนับสนุนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าครั้งก่อนๆ กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จึงขอขอบคุณสำหรับเสียงสนับสนุนแผนผลักดันเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวันจากกลุ่มประเทศพันธมิตร ประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันและมิตรสหายจากนานาประเทศ ที่ส่งผ่านมาทางรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย
 
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกัวเตมาลา ปารากวัย ปาเลา เอสวาตินี หมู่เกาะมาร์แชลล์ นาอูรู เซนต์ลูเซีย ตูวาลู เฮติ เซนต์วินเซนต์ เซนต์คิตส์และเนวิส และเบลีซ ได้ทยอยเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน ทั้งทางตรงและทางอ้อมในการประชุมอภิปรายทั่วไปและการประชุมสุดยอดในระบบสหประชาชาติ โดย H.E. Petr Pavel ประธานาธิบดีสาธารณรัฐเช็กได้แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์ช่องแคบไต้หวันอย่างเปิดเผย พร้อมทั้งประณามจีนที่สร้างความตึงเครียดในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
 
Mr. Antony Blinken รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ก็ได้เข้าพบปะพูดคุยกับนายหานเจิ้ง รองประธานาธิบดีจีนในระหว่างการประชุม UN โดย Mr. Blinken ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน นอกจากนี้ Ms. Yoko Kamikawa รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ก็ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 7 ประเทศ (G7) และตัวแทนเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพยุโรป (EU) ประกาศแถลงการณ์ โดยระบุว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลก ตลอดจนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศ Ms. Hanke Bruins Slot รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเนเธอร์แลนด์ ก็ได้ให้ความสนับสนุนไต้หวันในการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ ในระหว่างการตอบข้อซักถามของสมาชิกรัฐสภา
 
ในด้านหน่วยงานนิติบัญญัติ สมาชิกรัฐสภาของสหรัฐฯ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ สโลวัก ฮังการี ไอร์แลนด์ สเปน เกาหลีใต้ เม็กซิโกและบราซิล ต่างร่วมเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวันผ่านรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการลงมติผ่านญัตติร่างกฎหมาย การประกาศแถลงการณ์ การตอบข้อซักถามของหน่วยงานสภาบริหาร การยื่นส่งหนังสือให้เลขาธิการสหประชาชาติและการโพสต์ข้อความในสื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น ประกอบกับ “กลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป” (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ก็ได้มีมติผ่านรายงานแถลงการณ์กรุงปราก ที่มีเนื้อหาเน้นย้ำว่า สันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน สอดคล้องกับผลประโยชน์ของทุกฝ่าย พร้อมให้การสนับสนุนไต้หวันเข้ามีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในองค์การระหว่างประเทศและกลไกระหว่างประเทศ
 
นักศึกษาที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยมของนานาประเทศที่เคยได้รับทุนการศึกษาไต้หวัน ก็ร่วมเป็นกระบอกเสียงให้การสนับสนุนไต้หวันอย่างกระตือรือร้นเป็นครั้งแรก โดยในปีนี้ มีศิษย์เก่าจากสเปน เอสโตเนีย แคนาดา อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี กัวเตมาลา ปารากวัย เปรู อุรุกวัยและเวียดนาม ที่ทำงานอยู่ในไต้หวันหลังสำเร็จการศึกษา ได้ยื่นส่งหนังสือเรียกร้องต่อเลขาธิการ UN เพื่อให้การสนับสนุนแผนผลักดันของไต้หวัน
 
เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจต่อญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ทุกแวดวงในภูมิภาคยุโรป สำนักงานตัวแทนรัฐบาลไต้หวันในสโลวัก และ “การประชุมความมั่นคงโลก” (GLOBSEC) คลังสมองของสโลวัก จึงได้จัดการประชุมสัมมนาที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ นักวิชาการชาวอังกฤษ โปแลนด์ กรีซ เดนมาร์กและอิตาลี เป็นต้น ยังได้ประกาศบทความพิเศษ พร้อมทั้งแสดงจุดยืนต่อต้านพฤติกรรมของจีนที่จงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงในญัตติที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 2758 ตลอดจนให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมระบบ UN อย่างเต็มที่
 
ในส่วนของกิจกรรมนอกรอบนั้น ปธน.ไช่ฯ ได้ตอบรับคำเชิญขององค์การ Concordia ซึ่งเป็นองค์การนอกภาครัฐของนครนิวยอร์ก แสดงปาฐกถาด้วยการบันทึกวิดีทัศน์ล่วงหน้าในการประชุมสุดยอดประจำปี โดยปธน.ไช่ฯ ได้ชี้แจงถึงความมั่นคงของไต้หวันและความสำคัญของการเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศของไต้หวันที่มีต่อประชาคมโลก โดยนายเซวียรุ่ยหยวน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการ และออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาดิจิทัล ได้นำคณะตัวแทนเดินทางเข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปี Concordia ด้วยตนเอง เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ที่ประสบความสำเร็จในด้านระบบประกันสุขภาพแห่งชาติและประชาธิปไตยรูปแบบแบบดิจิทัล นอกจากนี้ นางสาวเซียวเหม่ยฉิน ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันในสหรัฐฯ ก็ได้เข้าร่วมพูดคุยกับ Mr. Daniel Russel รองประธานสถาบันวิจัยนโยบายแห่งสมาคมเอเชียของสหรัฐฯ (Asia Society Policy Institute) และรองผู้ช่วย รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพและความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันรวมไปถึงแผนผลักดันเข้าร่วมระบบ UN ของไต้หวัน
 
นอกจากนี้ ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่นและออสเตรียยังได้ร่วมจัดการประชุมนานาชาติภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) เพื่อแบ่งปันประสบการณ์การผลักดันภารกิจตาม “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน” (SDGs) ของไต้หวัน และผลสัมฤทธิ์ด้านการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่นานาประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังมุ่งประชาสัมพันธ์แผนผลักดันการเข้าร่วมการประชุม UN ของไต้หวัน ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างประเทศ เพื่อส่งผ่านข้อความนี้ไปสู่ทุกพื้นที่ทั่วโลกอย่างมีประสิทธิภาพ