ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อสเปน ย้ำว่า ไต้หวันจะรับมือกับภัยคุกคามจากจีนอย่างกระตือรือร้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลก สามัคคีกันสกัดกั้นความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน
2023-10-06
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อสเปน ย้ำว่า ไต้หวันจะรับมือกับภัยคุกคามจากจีนอย่างกระตือรือร้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลก สามัคคีกันสกัดกั้นความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อสเปน ย้ำว่า ไต้หวันจะรับมือกับภัยคุกคามจากจีนอย่างกระตือรือร้น พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประชาคมโลก สามัคคีกันสกัดกั้นความทะเยอทะยานในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 5 ต.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Fernando Prieto Arellano ผู้สื่อข่าวสำนักข่าว Agencia EFE ของสเปน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกเผยแพร่ในวันเดียวกับที่ให้สัมภาษณ์ผ่านบทความพิเศษในหัวข้อ “รมว.กต.ไต้หวันยืนยันถึงภัยคุกคามจากจีนที่มีต่อไต้หวันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกที” (Ministro taiwanés de Exteriores afirma que su país está cada vez más amenazado por China) ซึ่งได้รับความสนใจและกระแสตอบรับที่ดีในวงกว้างจากกลุ่มผู้ติดตามในกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาสเปน
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ยูเครนมิได้ทำการยั่วยุท้าทายแต่กลับต้องเผชิญหน้ากับการถูกรุกรานด้วยปฏิบัติการทางทหารจากรัสเซียอย่างไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ทั่วประชาคมโลกได้ตระหนักว่า เพียงแค่ประเทศลัทธิอำนาจนิยมเห็นว่า “สอดคล้องกับผลประโยชน์ของตนเอง” ก็สามารถทำการรุกรานประเทศอื่นๆ ได้ตามอำเภอใจ โดยภัยคุกคามที่จีนมีต่อไต้หวันทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากการส่งเครื่องบินรบเข้าก่อกวนพื้นที่ช่องแคบไต้หวันแล้ว ยังใช้สงครามลูกผสมในการเผยแพร่ข่าวปลอมเข้าสู่สังคมไต้หวัน ควบคู่ไปกับการโจมตีทางไซเบอร์และสงครามจิตวิทยา ซึ่งไต้หวันได้รับมืออย่างมีความรับผิดชอบ โดยหลีกเลี่ยงการยั่วยุท้าทาย นอกจากนี้ รัฐบาลไต้หวันยังได้เพิ่มงบประมาณทางกลาโหม เพื่อทำการฝึกอบรมทางทหารและยกระดับแสนยานุภาพในการป้องกันประเทศที่ขาดความสมดุล โดยหวังที่จะเสริมสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหมและสกัดกั้นการก่อสงคราม นอกจากนี้ ไต้หวันยังมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรีย ญี่ปุ่น รวมถึงกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อทำให้รัฐบาลจีนตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หากเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหาร ก็เปรียบเสมือนเป็นการสู้รบกับกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ความทะเยอทะยานของจีนมิได้จำกัดเพียงเฉพาะกับไต้หวันเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายอิทธิพลไปสู่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อครอบครองฐานยุทธศาสตร์ เช่นกรณีที่ออสเตรเลียทำการฝึกซ้อมทางทหารในพื้นที่น่านน้ำที่อยู่ในเขตแดนประเทศของตนเมื่อช่วงที่ผ่านมา แต่จีนได้จัดส่งเรือลาดตระเวนสอดแนมเพื่อเก็บรวบรวมสถานการณ์ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ นอกจากนี้ เมื่อเดือนเมษายน ปี 2022 จีน – หมู่เกาะโซโลมอนได้ร่วมลงนามข้อตกลงทางความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งเป็นที่แน่ชัดว่า จีนมีความทะเยอทะยานที่จะแผ่ขยายอำนาจไปสู่พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่ง “ภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีร่วมกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษและออสเตรเลีย” (AUKUS) “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ” (QUAD) พันธมิตรด้านข่าวกรอง Five Eyes และข้อตกลงต่างตอบแทนทางทหาร (Reciprocal Access Agreement, RAA) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสกัดกั้นพฤติกรรมการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ไต้หวันในฐานะประเทศแนวหน้าที่มุ่งสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน จึงรู้สึกยอมรับและขอบคุณพันธมิตรด้านประชาธิปไตยทั่วโลกด้วยใจจริง ที่ให้ความสนใจต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาค
 
เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศพันธมิตร รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันมีสถานภาพที่ค่อนข้างก้ำกึ่งในเวทีนานาชาติ เนื่องจากไต้หวันมิใช่ประเทศสมาชิกในระบบสหประชาชาติ (UN) แต่กลับผูกสัมพันธ์ทางการทูตอันแน่นแฟ้นกับเหล่าประเทศพันธมิตร และเป็นหุ้นส่วนสำคัญของหลายประเทศในด้านการเงินและการค้า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีประเทศพันธมิตรของไต้หวันบางส่วนในภูมิภาคลาตินอเมริกา หลงเชื่อคำมั่นสวยหรูที่จีนจงใจหลอกล่อ เพื่อให้ประเทศเป้าหมายเหล่านั้นวาดฝันจินตนาการว่า เพียงแค่หันเหความสัมพันธ์ทางการทูต ก็จะสามารถได้รับการช่วยเหลือจากจีนอย่างท่วมท้น แต่ผลปรากฎว่า จีนมิได้รักษาคำพูด แต่กลับส่งมอบผลประโยชน์ล่อลวงเจ้าหน้าที่ภาครัฐจนเกิดการคอร์รัปชัน จึงมิได้เป็นการสร้างคุณประโยชน์ใดๆ ให้แก่ประชาชนในพื้นที่เลย ในทางกลับกัน ไต้หวันมุ่งให้ความช่วยเหลือบรรดาประเทศพันธมิตรในการพัฒนาด้านการเกษตร การแพทย์และการฝึกอบรมทางวิชาชีพ ส่งผลให้ภาคประชาชนของประเทศพันธมิตรได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม จึงจะเห็นได้ว่า “รูปแบบการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมของไต้หวัน” และแนวทางของจีน แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
 
สำหรับประเด็นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ไต้หวันมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งในด้านการออกแบบ ผลิตและทดสอบชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์  หากจีนก่อสงครามต่อไต้หวัน จะส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ซึ่งในปัจจุบันนี้ นานาประเทศทั่วโลกต่างตระหนักถึงผลกระทบข้างต้น จึงได้ทยอยแสดงจุดยืนผ่านการประชุมนานาชาติที่สำคัญ เช่น การประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกทั้ง 7 ประเทศ (G7) การประชุมสุดยอดผู้นำสหภาพยุโรป รวมถึงการประชุมไตรภาคีระหว่างผู้นำสหรัฐฯ เกาหลีใต้และญี่ปุ่น โดยระบุว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน มีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของประชาคมโลก พร้อมทั้งแสดงจุดยืนต่อต้านพฤติกรรมที่จีนต้องการจะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ตลอดจนเรียกร้องให้ผู้นำจีนตระหนักถึงจุดยืนที่เห็นพ้องต้องกันของประชาคมโลก