ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 16 ต.ค. 66
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 16 ต.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับ Ms. Laura Rosenberger ประธานสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) และคณะ โดยปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นหุ้นส่วนที่แข็งแกร่งของกันและกัน เชื่อว่า ภายใต้การสนับสนุนของ Ms. Rosenberger ทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางหุ้นส่วนเชิงลึกในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งเศรษฐกิจ การค้า การป้องกันประเทศและการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ เป็นต้น เพื่อร่วมเผชิญกับความท้าทายรูปแบบต่างๆ ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ต่อไป
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า Ms. Rosenberger ได้แถลงต่อประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ในระหว่างการประชุม “สถาบันวิจัยไต้หวันระดับโลก” (GTI) ที่จัดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า รัฐบาลสหรัฐฯ คาดหวังที่จะวางแผนทิศทางในอนาคต ควบคู่ไปกับการชี้แจงทิศทางความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ การค้า การป้องกันประเทศและการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ ในระหว่างการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ปธน.ไช่ฯ เห็นด้วยต่อจุดยืนของ Ms. Rosenberger ที่ว่า การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เป็นภารกิจอันดับต้นๆ ซึ่งในขณะนี้ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยการเจรจาในรอบที่ 2 ได้เปิดฉากขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยปธน.ไช่ฯ หวังว่า ทุกอย่างจะบรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างราบรื่น ภายใต้การมุ่งมั่นผลักดันภารกิจของทั้งสองฝ่าย
ในด้านกลาโหม ปธน.ไช่ฯ รู้สึกขอบคุณรัฐบาล ปธน.โจ ไบเดนเป็นอย่างมาก ที่ให้ความสำคัญต่อความต้องการทางทหารของไต้หวัน ด้วยการอนุมัติแผนจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยเสริมสร้างแสนยานุภาพทางการทหารด้วยการพึ่งพาตนเองให้แก่ไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค ให้คงอยู่สืบต่อไป
อย่างไรก็ตาม ไต้หวันยังคงมุ่งมั่นยกระดับศักยภาพทางการทหารด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง อันจะเห็นได้จากผลสัมฤทธิ์ที่ทยอยเผยโฉมให้เห็น อย่างเรือรบและเครื่องบินรบที่ผลิตในประเทศ เมื่อเดือนที่แล้ว เรือดำน้ำ “Narwhal class Submarine” ที่ผลิตในไต้หวัน เพิ่งได้มีการจัดพิธีตั้งชื่อเรือและปล่อยเรือลงน้ำ ถือเป็นหลักชัยใหม่ในการเสริมสร้างศักยภาพทางการทหารด้วยการพึ่งพาตนเอง
ในด้านการเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า หลายปีมานี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ประสานความร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อรับมือกับความท้าทายระดับโลก ผ่านกรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF) ซึ่งครอบคลุมในด้านต่างๆ มากมาย ทั้งการป้องกันโรคระบาด การสกัดกั้นข่าวปลอมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น โดยพวกเราได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และเจรจาแนวทางการรับมือร่วมกันอย่างสม่ำเสมอ
ด้าน Ms. Rosenberger กล่าวขณะปราศรัยว่า หลายปีมานี้หรือแม้กระทั่งหลายเดือนมานี้ พวกเราต่างมุ่งมั่นปฏิบัติงานอย่างกระตือรือร้น จึงทำให้ความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ดำเนินไปอย่างลุ่มลึกกว่าที่ผ่านมา อันจะเห็นได้จากการเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองและความทรหดของไต้หวัน เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันอุทิศคุณประโยชน์ด้านเศรษฐกิจให้แก่ทั่วโลก โดยเฉพาะ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” นับว่าเป็นแพลตฟอร์มที่ดีที่สามารถเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนแบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างสองฝ่าย
Ms. Rosenberger แสดงทรรศนะว่า พวกเราสามารถสรรค์สร้างระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง ยืดหยุ่นและพัฒนาไปอย่างยั่งยืนได้ในไต้หวัน สหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งทั่วโลก ผ่านวิธีการเสริมสร้างการค้าแบบทวิภาคี ซึ่งขณะนี้ พวกเรายังมุ่งมั่นแสวงหาแนวทางการแก้ไขปัญหาว่าด้วยการหลีกเลี่ยงและป้องกันการเก็บภาษีซ้ำซ้อน (ADTA) อย่างต่อเนื่อง
Ms. Rosenberger ชี้ว่า สันติภาพและเสถียรภาพสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน มีความเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ร่วมกัน ระหว่างสหรัฐฯ - ไต้หวัน ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา ต่างดำเนินอยู่ภายใต้นโยบายจีนเดียว อย่างไรก็ตาม ภายใต้หลักการ “กฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน” แถลงการณ์ร่วม 3 ฉบับ (Three Joint Communiqués) และ “หลักประกัน 6 ประการ” (Six Assurances) Ms. Rosenberger ได้แสดงจุดยืนว่า คำมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันแข็งแกร่งดุจหินผา โดยสหรัฐฯ จะยืนเคียงข้างมิตรสหายชาวไต้หวัน และจะเป็นเช่นนี้ต่อไป Ms. Rosenberger ยังใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อปธน.ไช่ฯ ที่ให้คำมั่นในการธำรงรักษาสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันในปัจจุบันอย่างหนักแน่น
Ms. Rosenberger แถลงว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ นั่นก็คือ พวกเราคาดหวังที่จะยกระดับความตระหนักรู้ของประชาคมโลก ที่มีต่อถึงความสำคัญของการธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อช่วยขยายเวทีนานาชาติของไต้หวัน โดย Ms. Rosenberger ย้ำว่า ไต้หวันสวมบทบาทที่สำคัญในระบบเศรษฐกิจโลก อีกทั้งไต้หวันยังเป็นประภาคารด้านประชาธิปไตยในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ตลอดจนเป็นพลังแห่งความดีของโลก เพราะฉะนั้น การสนับสนุนไต้หวันถือเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย นอกจากนี้ ไต้หวันยังเป็นประเทศสมาชิกของเอเปคที่สร้างคุณประโยชน์ให้แก่ทั่วโลกมากมาย โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐของสหรัฐฯ คาดหวังที่จะเข้าร่วมการประชุมแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ไต้หวันใน “การประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย - แปซิฟิก” (APEC Economic Leaders' Meeting, AELM) ที่มีกำหนดการจัดขึ้นในเมืองซานฟรานซิสโกเดือนหน้านี้