“เลขที่ 5 ถนนหนานหลง” ที่อยู่เดิมของอาจารย์จง เป็นหอพักบ้านญี่ปุ่นโบราณของโรงเรียนประถมหลงถาน ปัจจุบันได้รับการอนุรักษ์และบูรณะเป็น “อุทยานวรรณกรรมจงจ้าวเจิ้ง”
ดอกลูพินมีถิ่นกำเนิดในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แต่กลับเป็นดอกไม้ที่ชาวไต้หวันหลายคนรู้สึกผูกพันและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ชาวไร่ชามักนำมาใช้เป็นปุ๋ยพืชสดในฤดูหนาว นิยายเรื่อง “ลู่ปิงฮัว” (魯冰花) หรือ The Dull Ice Flower ยังเป็นนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของจงจ้าวเจิ้ง (鍾肇政 ปี ค.ศ. 1925-2020) ที่บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มผู้มีพรสวรรค์ทางศิลปะ แต่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมและเสียชีวิตด้วยโรคร้ายอย่างน่าเศร้า นวนิยายเรื่องนี้ได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 1989 และกลายเป็นความทรงจำร่วมของคนในรุ่นเดียวกัน
จงจ้าวเจิ้ง (แวดวงนักเขียนรู้จักกันในนาม “鍾老” อ่านว่า จงเหล่า ขอเรียกว่า “อาจารย์จง”) ผู้ประพันธ์นวนิยายเรื่อง“ลู่ปิงฮัว” (魯冰花) กับเย่สือเทา (葉石濤) ผู้ประพันธ์หนังสือ “ประวัติศาสตร์วรรณกรรมไต้หวัน” (台灣文學史綱) เป็นสองนักเขียนชื่อดังที่ได้รับการกล่าวขานในโลกวรรณกรรมไต้หวันคู่กันว่า “เย่แห่งทักษิณ จงแห่งอุดร” บ้านเกิดของเย่สือเทาอยู่ที่นครไถหนาน ส่วนจงจ้าวเจิ้งมาจากหมู่บ้านชาวฮากกาที่ตั้งอยู่ในเขตหลงถาน นครเถาหยวน “อุทยานวรรณกรรมจงจ้าวเจิ้ง” (鍾肇政文學生活園區) เปิดตัวในปี ค.ศ. 2019 โดยใช้วรรณกรรมทางภูมิทัศน์ที่จงจ้าวเจิ้งประพันธ์เป็นแกนหลัก พัฒนาที่นี่ให้กลายเป็นจุดชมวิวที่ต้องแวะชมในย่านหลงถาน
จงจ้าวเจิ้ง บุคคลที่ไม่ได้คำนึงถึงแต่ตัวเอง
ก่อนที่จะก้าวเข้าสู่ “อุทยานวรรณกรรมจงจ้าวเจิ้ง” เรามาทำความรู้จักกับอาจารย์จงสักเล็กน้อย
จงจ้าวเจิ้งได้รับฉายาว่า “มารดาแห่งวรรณกรรมไต้หวัน” เป็นคำที่ตงฟางไป๋ (東方白) นักเขียนชาวไต้หวันกล่าวถึงเขา ในหนังสือชีวประวัติเรื่อง “จงจ้าวเจิ้ง ผู้อุทิศชีวิตบันทึกเรื่องราวแห่งประวัติศาสตร์” ที่ประพันธ์โดยจงเหยียนเวย (鍾延威) บุตรชายคนที่สองของจงจ้าวเจิ้ง ได้พรรณนาถึงบิดาของตนว่า “อาจารย์จงไม่ได้ต่อต้านอะไรมากนัก แต่ก็พึมพำเป็นบางครั้งว่า “ฉันเป็นผู้ชายแท้ ๆ แต่เหตุไฉนถึงกลายเป็นมารดาแห่งอะไรไปได้”
ฉายานี้ได้มาจากความมุมานะอุตสาหะตลอดชีวิตของจงจ้าวเจิ้ง ที่สร้างสรรค์งานเขียนด้วยตัวอักษรจีนรวมมากกว่า 20 ล้านตัวด้วยมือของตน ทิ้งผลงานนวนิยายชุดทรงคุณค่าไว้เบื้องหลัง อาทิ “ไตรภาคเรื่องสายน้ำขุ่น” (濁流三部曲) และ “ไตรภาคเรื่องคนไต้หวัน” (台灣人三部曲) เขายังทุ่มเทแรงกายแรงใจชี้แนะและผลักดันนักเขียนรุ่นใหม่ ส่งเสริมนักเขียนอาวุโส ตลอดจนอุทิศตนให้กับการเคลื่อนไหวเพื่อฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมฮากกา จูโย่วซวิน (朱宥勳) นักเขียนรุ่นใหม่ชาวไต้หวัน ได้ตั้งชื่อบทความที่เขียนถึงจงจ้าวเจิ้งไว้อย่างน่าสนใจ ในหนังสือรวมบทวิจารณ์วรรณกรรมของเขาเรื่อง “ยามที่พวกเขาไม่ได้เขียนนิยาย” ว่า “เพราะจงจ้าวเจิ้งไม่ได้นึกถึงแต่ตัวเอง”
ตลอดชีวิตของอาจารย์จง เขาสามารถพูดสี่ภาษาสลับกันไปมาระหว่างภาษาฮากกา ภาษาญี่ปุ่น ภาษาฮกเกี้ยนและภาษาจีนแมนดารินได้อย่างลื่นไหล โดยภาษาจีนเป็นภาษาที่เพิ่งมาคุ้นเคยในช่วงหลัง อาจารย์จงเกิดในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ในปี ค.ศ. 1945 ที่มีการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครอง เขามีอายุ 21 ปี และเพิ่งจะเริ่มอ่านหนังสือภาษาจีน หลังจากที่ร่ำเรียนอย่างหนักเป็นเวลากว่าหกปี เขาก็ได้ก้าวข้ามกำแพงภาษา จนสามารถใช้ภาษาจีนเขียนบทความได้อย่างคล่องแคล่ว และในเวลานั้น เขาเริ่มส่งต้นฉบับงานเขียนไปยังสำนักพิมพ์หลายแห่ง แต่ก็ต้องพบกับความผิดหวังถูกปฏิเสธอยู่บ่อยครั้ง ในปี ค.ศ. 1957 จงจ้าวเจิ้งได้ส่งจดหมายฉบับแรกจากบ้านของเขาที่หลงถาน เชิญชวนนักเขียนชาวไต้หวันรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่ม “จดหมายข่าวเพื่อนนักประพันธ์” ที่ให้นักเขียนทั่วไต้หวันมาร่วมวงสนทนา ถกประเด็นและพัฒนาทักษะการเขียนวรรณกรรมของกันและกัน
ในปี ค.ศ. 1960 คุณหลินไฮ่อิน (林海音) ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ United Daily News ชื่นชอบและเห็นแววนวนิยายเรื่อง “ลู่ปิงฮัว” ของอาจารย์จง จึงเริ่มตีพิมพ์นิยายเรื่องนี้ใน United Daily News นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อาจารย์จงจึงยิ่งมีความกระตือรือร้นในการกระตุ้นให้เพื่อน ๆ นักเขียน ร่วมแรงร่วมใจคว้าโอกาสเพื่อครอบครองพื้นที่ทางวรรณกรรมนี้ นอกจากนี้ เขายังมีส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้นวนิยายอีกหลายเรื่องของนักเขียนคนอื่นเสร็จสมบูรณ์ เช่น นวนิยายเรื่อง “คลื่นซัดทราย” ของตงฟางไป๋ (東方白) และ “นวนิยายไตรภาคชุดคืนฤดูหนาว” ของหลี่เฉียว (李喬)
ไม่เพียงให้กำลังใจนักเขียนหน้าใหม่เท่านั้น อาจารย์จงยังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการในการจัดทำหนังสือรวมผลงานนักเขียนชาวไต้หวัน ส่งเสริมผลงานของนักเขียนรุ่นเก่าให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้ง จูโย่วซวินเคยอธิบายในหนังสือของตนว่า “นี่คือกลยุทธ์ในการคืบคลานไปข้างหน้าเพื่อครองพื้นที่เวที แต่อีกด้านหนึ่งก็แบ่งปันเวทีให้กับนักเขียนไต้หวันคนอื่น ๆ ในทันที” นั่นเป็นเพราะอาจารย์จงไม่ได้นึกถึงแต่ตัวเอง ซึ่งจูโย่วซวินได้เขียนบทสรุปในตอนท้ายไว้ว่า “เขาแทบจะพลิกประวัติศาสตร์วรรณกรรมไต้หวันด้วยตัวคนเดียว”
อาจารย์จงมีงานเขียนมากมาย และยังเป็นผู้บุกเบิกนวนิยายชุดในไต้หวัน หนังสือบนชั้นวางคือ “หนังสือรวมงานเขียนจงจ้าวเจิ้ง” ที่จัดพิมพ์โดยเทศบาลนครเถาหยวน
จุดกำเนิดวรรณกรรมไต้หวันยุคหลังสงคราม
เมื่อเดินเข้าไปใน “อุทยานวรรณกรรมจงจ้าวเจิ้ง” ที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ โรงเรียนประถมศึกษาหลงถาน นี่คือหอพักแบบบ้านญี่ปุ่นโบราณที่จงจ้าวเจิ้งเคยพักอาศัยในสมัยเป็นครูที่โรงเรียนแห่งนี้
หลังจากเรียนจบปริญญาโท คุณไช่จี้หมิน (蔡濟民) ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและบริหาร “อุทยานวรรณกรรมจงจ้าวเจิ้ง” เขาอธิบายให้เราฟังว่า “ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1956 ถึง ค.ศ. 1967 อาจารย์จงอาศัยอยู่ที่นี่ เป็นเวลา 11 ปี” หอพักแบบบ้านญี่ปุ่นโบราณที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้มีทั้งหมด 3 อาคาร หลังแรกจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับนวนิยายเรื่อง “ลู่ปิงฮัว” ที่คนทั่วไปคุ้นเคยเป็นหลัก ส่วนอาคารหลังที่สอง จัดแสดงนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับจงจ้าวเจิ้ง “ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตย้อนหลังของอาจารย์จง นำเสนอผ่านการออกแบบด้วยภาพลักษณ์ของสายน้ำ เพื่อเปรียบเปรยให้เห็นว่านวนิยายของเขาเป็นดั่งแม่น้ำสายใหญ่”
อาจารย์จงยังมีทักษะความสามารถในการเขียนอักษรจีนได้สวยงาม ภายในนิทรรศการมีการจัดแสดงงานเขียนพู่กันจีนฉบับสำเนาของท่านไว้ด้วย คุณไช่จี้หมินเล่าให้ฟังว่า มีผู้คนมากมายมาขอให้อาจารย์จงช่วยเขียนศิลปะอักษรจีนให้ ซึ่งท่านไม่เคยลังเลที่จะตอบรับเลยสักครั้ง
อาคารหลังที่สามเป็นที่อยู่เดิมที่อาจารย์จงเคยพักอาศัย บ้านเลขที่ในสมัยนั้นคือ “เลขที่ 5 ถนนหนานหลง” เป็นสถานที่ที่อาจารย์จงเขียนผลงานชิ้นสำคัญหลายชิ้น อย่างเช่น “ลู่ปิงฮัว” “ไตรภาคเรื่องสายน้ำขุ่น” กล่าวได้ว่าที่นี่คือ “จุดกำเนิดวรรณกรรมไต้หวันยุคหลังสงคราม” ภายในห้องมีการจำลองโต๊ะไม้ฮิโนกิที่อาจารย์จงใช้ผลิตงานเขียนตลอดทั้งชีวิตของท่าน ซื้อด้วยเงินที่อาจารย์จงและจางจิ่วเม่ย ผู้เป็นภรรยาร่วมกันเก็บหอมรอมริบจากน้ำพักน้ำแรงในการเลี้ยงสุกรและนก
ในอีกด้านหนึ่ง มีการจัดแสดงเครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไข (Mimeograph machine) ที่ภัณฑารักษ์ไปค้นพบ ซึ่งในช่วงที่จงจ้าวเจิ้งก่อตั้งกลุ่ม “จดหมายข่าวเพื่อนนักประพันธ์” เขาได้รวบรวมความคิดเห็นของผู้คนที่มีต่องานวรรณกรรมต่าง ๆ เพื่อทำเป็น “จดหมายข่าวเพื่อนนักประพันธ์” ด้วยเครื่องอัดสำเนาด้วยกระดาษไขผ่านการฉลุตัวอักษรลงบนแผ่นสเตนซิล จากนั้นได้ส่งให้กับสมาชิกในกลุ่ม และนี่ก็คือวิธีการอ่านหนังสือเป็นกลุ่มผ่านจดหมาย
กลิ่นอายของวิถีชีวิตในชุมชน
หลังจากเยี่ยมชมหอพักเสร็จแล้ว เมื่อเดินตรงไปตามถนนตงหลง จะเจอคริสตจักรเพรสไบทีเรียนหลงถาน ครอบครัวตระกูลจงนับถือศาสนาคริสต์มาหลายชั่วอายุคน และอาจารย์จงได้เข้าร่วมพิธีนมัสการที่โบสถ์แห่งนี้มาตั้งแต่วัยเยาว์ เขาเคยเขียนในนวนิยายเรื่องยาว “ใต้หอแปดเหลี่ยม” ไว้ว่า “มิชชันนารีชราผู้ไว้เคราแพะท่านนั้น มักจะเล่าแต่เรื่องเดิม ๆ ที่พวกเราเคยฟังมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว” นี่คือข้อความที่บรรยายถึงจงหย่าเม่ย (鍾亞妹) มิชชันนารีคนแรกที่มาประกาศพระกิตติคุณในชุมชนหลงถาน เมื่อเดินตรงไปเรื่อย ๆ จะเจอศาลเจ้าหลงหยวน (龍元宮) ที่เปรียบเสมือนศูนย์รวมจิตใจและกิจกรรมต่าง ๆ ของชาวบ้านในชุมชน ที่นี่สักการะบูชาเทพแห่งกสิกรรม (五穀神農大帝) ในงานเขียนหลายชิ้นของอาจารย์จง มักมีการเขียนบรรยายถึงพิธีเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน เทศกาลโคมไฟ (元宵節) ตลอดจนพิธีเซ่นไหว้ในเทศกาลสารทจีน คุณไช่จี้หมินเล่าว่า “ถึงแม้ครอบครัวของตระกูลจงจะเป็นคริสเตียน แต่ในตอนที่จงจ้าวเจิ้งอายุครบเดือน บิดาของท่านเคยจัดงานเลี้ยงโต๊ะจีนหน้าศาลเจ้าหลงหยวน และเชิญญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมงานอย่างสนุกสนาน”
ถนนในย่านหลงถานไม่ใหญ่นัก มีลักษณะยาวและแคบ โดยมีถนนหลงหยวนตัดผ่านชุมชน หรือที่ชาวบ้านเรียกติดปากว่า “ถนนโบราณ” ชาวบ้านแบ่งถนนหลงหยวนออกเป็นสองฝั่ง มีตลาดสดที่ 1 เป็นจุดกึ่งกลาง ฝั่งที่มุ่งหน้าไปยังศาลเจ้าหลงหยวนที่อยู่ทิศเหนือคือถนนตอนบน ส่วนถนนตอนล่างคือฝั่งที่มุ่งหน้าสู่ทะเลสาบหลงถาน ในนวนิยายไตรภาคเรื่อง “คนไต้หวัน” และ “สายน้ำขุ่น” ต่างเคยเขียนพรรณนาถึงทิวทัศน์ของถนนตอนบนและถนนตอนล่าง
ถนนตอนบนครึกครื้นไปด้วยกิจกรรมทางธุรกิจและการค้าต่าง ๆ บนถนนมีร้านขายของชำเก่าแก่ที่ดำเนินธุรกิจมานานกว่า 60 ปี ร้านไอศกรีมซงอูที่เปิดบริการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1935 เป็นร้านที่อาจารย์จงมักจะแวะไปนั่งกินไอศกรีมคลายร้อนเป็นประจำสมัยยังเป็นหนุ่ม ไอศกรีมสูตรโบราณกับน้ำมะนาวคั้นสด คือรสชาติในความทรงจำของคนในพื้นที่ ร้านเก่าแก่อีกร้านคือร้านขายยาจีนหยวนชุนที่ยังรักษาวัฒนธรรมเสี่ยงเซียมซีขอยารักษาโรคจากศาลเจ้าหลงหยวนเอาไว้ เป็นสถานที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของยาสมุนไพรจีน นอกจากนี้ ยังมีร้านบะหมี่เนื้อวัวเจ้าเก่าที่อยู่ตรงข้ามกับศาลเจ้า ถือเป็นอีกหนึ่งในร้านโปรดของอาจารย์จง ที่เขามักจะพาเพื่อน ๆ แวะไปอุดหนุนอยู่เป็นประจำ
คุณไช่จี้หมินได้แนะนำสถานที่แต่ละแห่งอย่างละเอียด เพื่อให้พวกเรารู้จักกับย่านที่เต็มไปด้วยพลังชีวิตของผู้คนในชุมชนแห่งนี้มากยิ่งขึ้น และที่นี่ยังเป็นเส้นทางที่อาจารย์จงมักจะมาเดินเล่นในสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อเดินเลี้ยวมาถึงตลาดสดที่ 1 ซึ่งเป็นรอยต่อระหว่างถนนตอนบนและตอนล่าง ที่แห่งนี้เคยเกิดเหตุเพลิงไหม้ทำให้ถูกปล่อยทิ้งร้าง ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 มีการดำเนินแผนพลิกฟื้นตลาดเก่า โดยการนำธุรกิจสตาร์ทอัพเข้าไป ทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์รวมความคิดสร้างสรรค์ตลาดหลิงถาน (Lingtan Street Creative Hub) และยังช่วยจุดประกายแรงบันดาลใจในการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่น ซึ่งผู้ที่ทำงานฟื้นฟูและพัฒนาตลาดหลิงถานแห่งนี้ล้วนเคยได้รับการสนับสนุนจากอาจารย์จงมาก่อน
ข้างบึงหลงถาน มีหินที่จารึกบทกวีที่เป็นลายมืออาจารย์จง ชื่อว่า “บ้านเกิด ณ หลงถาน” และหากมองออกเยื้องออกไปทางด้านขวา จะมองเห็นภูเขาหรู่กูซาน ภูเขาที่เปรียบเหมือนแม่ของชาวเมืองหลงถาน
ภูมิทัศน์แห่งบ้านเกิด
เมื่อเดินย้อนกลับมาที่โรงเรียนประถมหลงถาน คุณไช่จี้หมินได้ชี้ให้เห็นทางเดินเล็ก ๆ ที่อยู่ตรงข้ามประตูเก่าของโรงเรียน “นี่คือตรอกที่อาจารย์จงใช้เดินไปกลับระหว่างบ้านและที่ทำงานเป็นประจำ”
ในอดีต ถ้าไม่ได้เขียนผลงานหรืออ่านนวนิยาย อาจารย์จงจะไปนั่งชมภาพยนตร์ที่โรงละคร อาจารย์จงเคยทำข้อตกลงกับโรงละครแห่งหนึ่งที่อยู่ละแวกใกล้เคียงซึ่งปัจจุบันปิดกิจการไปแล้วว่า หากมีเพื่อนมาหาเขา ขอให้ทางโรงละครฉายข้อความบนจอว่า “มีแขกมาหาจงจ้าวเจิ้ง” หลังจากที่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ทางโรงละครจึงเก็บแผ่นกระจกนั้นเอาไว้ แทนการทำใหม่ทุกครั้ง ซึ่งเฉินอิ้งเจิน (陳映真) และหลี่เฉียว (李喬) สองนักเขียนไต้หวัน ล้วนเคยมาหาอาจารย์จงในโรงละครเจอด้วยวิธีนี้
เดินต่อไปอีกไม่กี่นาทีจะมาถึงบึงหลงถาน ทัศนียภาพที่ปรากฏตรงหน้ามีขนาดกว้างขึ้นอย่างทันตาเห็น หลงถาน (龍潭 แปลว่าบึงมังกร) ได้รับการตั้งชื่อตามบึงขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ สมัยก่อนบึงแห่งนี้หนาแน่นด้วยต้นกระจับ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บึงกระจับ” (菱潭陂 อ่านว่า หลิงถานผี) และยังถูกชาวบ้านในพื้นที่เรียกว่า “บึงแห่งจิตวิญญาณ” คำว่า 靈อ่านว่าหลิง แปลว่าจิตวิญญาณนั่นเอง บึงหลงถานแห่งนี้ยังถูกใช้เป็นฉากหลักสำคัญในเรื่องนวนิยายเรื่อง “รักระทม ณ บึงหลิงถาน” (靈潭恨) ของจงจ้าวเจิ้งอีกด้วย
เมื่อมองจากบึงไปทางตะวันตกจะเห็น “ภูเขาหรู่กู”(乳姑山) คือภูเขาที่อาจารย์จงมักจะกล่าวถึงในงานเขียนของเขาอยู่บ่อยครั้ง ถูกเปรียบเปรยว่าเป็นดั่งแม่ของชาวหลงถานที่ให้ความรู้สึกอุ่นใจทุกครั้งที่มองเห็น คุณไช่จี้หมินอธิบายให้ฟังว่า ความรู้สึกที่ชาวหลงถานมองเห็นภูเขาหรู่กู มันคือความรู้สึกเดียวกันกับที่ชาวอี๋หลานมองเห็นเกาะกุยซาน เมื่อลูกหลานที่ไปศึกษาหรือไปทำงานต่างแดน มองเห็นภูเขาที่ตั้งตระหง่านอย่างสง่างาม พวกเขารู้เลยว่า กลับถึงบ้านแล้ว
ในตอนท้าย คุณไช่จี้หมินพาพวกเรามาถึงสถานีหลงถานของบริษัทขนส่งซินจู๋บัสที่ตั้งอยู่บนถนนเป่ยหลง หลงถานไม่มีรถไฟแล่นผ่าน ผู้คนจึงต้องพึ่งพารถโดยสารสาธารณะเพื่อเดินทางไปมาระหว่างเมือง ในอดีต หากอาจารย์จงต้องเดินทางไปทำธุระนอกหลงถาน เขาจะนั่งรถประจำทางไปลงที่สถานีรถไฟจงลี่ แล้วเปลี่ยนไปขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางต่อไป เราสามารถจินตนาการได้ว่า เมื่อเพื่อนนักประพันธ์อย่างคุณอู๋จั๋วหลิว (吳濁流) มาหาอาจารย์จง พวกเขาจะนั่งรถมาลงที่สถานีนี้ หลังจากนั้น อาจารย์จงก็จะพาพวกเขาไปทานบะหมี่เนื้อวัว แล้วจึงเปิดวงสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานวรรณกรรมที่บ้านพักของตน
หลงถานเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับจงจ้าวเจิ้ง เฉกเช่นเดียวกับที่จงจ้าวเจิ้งมีบทบาทสำคัญในวรรณกรรมไต้หวัน “เพราะมีจงจ้าวเจิ้ง หลงถานจึงกลายเป็นวรรณกรรมทางภูมิทัศน์ที่ไม่อาจลบล้างได้” คำกล่าวของภัณฑารักษ์ที่จารึกไว้ในนิทรรศการถาวร เป็นคำอธิบายสรุปที่ดีที่สุดสำหรับการเยี่ยมชมครั้งนี้
เพิ่มเติม